ลดหย่อนภาษี 67 กับโครงการ Easy E-Receipt มีอะไรร่วมบ้าง
เริ่มเข้าศักราชใหม่ การคำนวณภาษีก็ต้องเริ่มใหม่ ซึ่งคนที่มีรายได้ประจำก็จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในทุกปี ล่าสุดนี้ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชื่อ Easy E-Receipt (จากเดิม e-Refund) ที่สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า และบริการที่ร่วมรายการเพื่อนำมา ลดหย่อนภาษี 67 ซึ่งจะมีเงื่อนไขอย่างไร มีสินค้า และบริการไหนร่วมรายการบ้าง และช่วงเวลาของโครงการ เราสรุปทุกประเด็นมาให้แล้ว
Easy E-Receipt เริ่มเมื่อไหร่ ลดหย่อนภาษีปีไหน
สำหรับโครงการ Easy E-Receipt เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ในปี 2568
ลดหย่อนภาษี จาก Easy E-Receipt ได้กี่บาท
โครงการที่สามารถนำเงินจากการซื้อสินค้า และบริการที่ร่วมรายการตามที่จ่ายจริงมาใช้ลดหย่อนภาษี โดยสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับฐานการจ่ายภาษีของแต่ละคน โดยผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ยกเว้นภาษีจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยสามารถดูรายละเอียดได้จากตารางด้านล่าง
Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 67 |
|||
รายได้สุทธิ (บาท/ปี) | ฐานภาษีเงินได้ | ลดหย่อยภาษีสูงสุด (ใช้จ่าย 10,000 บาท) |
ลดหย่อยภาษีสูงสุด (ใช้จ่าย 50,000 บาท) |
ไม่เกิน 150,000 | ยกเว้นภาษี | 0 บาท | 0 บาท |
150,001 – 300,000 | 5% | 500 บาท | 2,500 บาท |
300,001 – 500,000 | 10% | 1,000 บาท | 5,000 บาท |
500,001 – 750,000 | 15% | 1,500 บาท | 7,500 บาท |
750,001 – 1,000,000 | 20% | 2,000 บาท | 10,000 บาท |
1,000,001 – 2,000,000 | 25% | 2,500 บาท | 12,500 บาท |
2,000,001 – 5,000,000 | 30% | 3,000 บาท | 15,000 บาท |
5,000,001 ขึ้นไป | 35% | 3,500 บาท | 17,500 บาท |
Easy E-Receipt ซื้อของจากที่ไหนได้บ้าง มีเงื่อนไขยังไง
- ต้องซื้อสินค้า-บริการจากร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น
- สินค้า และบริการที่ได้รับการยกเว้นภาษี VAT จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ต้องซื้อสินค้า หรือรับบริการดังกล่าวภายในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 เท่านั้น
ร้านไหนร่วมโครงการ Easy E-Receipt บ้าง
- ห้างสรรพสินค้า : ร้านในเครือเซ็นทรัล, เดอะมอลล์, โลตัส, แมคโคร, บิ๊กซี
- ร้านสะดวกซื้อ : 7-Eleven, วัตสัน
- เครื่องเขียนและของใช้ต่าง ๆ : B2S
- ตกแต่งบ้านและคอนโด : IKEA, Index Living Mall, โฮมโปร, Powerbuy, ไทวัสดุ, บุญถาวร
- ค่ายโทรศัพท์ : AIS, DTAC, True
- สินค้า IT : Advice, IT City,
- รถยนต์ : B-Quik, Cockpit
- อุปกรณ์กีฬา : Grandsports, Supersports, Warrix เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีสินค้า 3 รายการที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับโครงการนี้ได้ ดังนี้
- หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
- บริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่แบบ E-book
- สินค้า OTOP ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
สำหรับร้านค้าอื่น ๆ ให้มองหาสัญลักษณ์ Easy E-Receipt โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านที่เข้าร่วมได้ที่
เว็บไซต์กรมสรรพากร efiling.rd.go.th หรือเว็บไซต์ etax.rd.go.th ที่เมนู “ผู้มีสิทธิจัดทำ”
สินค้าที่ไม่ร่วมโครงการลดหย่อนภาษี
- สุรา เบียร์ ไวน์
- ยาสูบ
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ
- ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซเติมพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
- ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว เช่น การซื้อบัตร-คูปองเพื่อแลกรับบริการต่าง ๆ การสมัครสมาชิกรายปี เป็นต้น
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
สำหรับใครที่กำลังมองหาสินค้า และบริการที่สามารถลดหย่อนภาษี 67 ได้ ก็แนะนำให้ตรวจสอบก่อนว่าร้านค้าเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt หรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีแบบเต็มรูปแบบนั่นเอง