กดเงินสด บัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมเท่าไร พร้อมวิธีคำนวณ
เป็นที่ทราบกันดีว่า บัตรเครดิต หนึ่งในตัวเลือกทางธุรกรรมการเงินยอดฮิต ที่นอกจากจะนำมารูดจ่ายสินค้าต่าง ๆ ยังสามารถกดเงินสดออกมาใช้ได้ด้วย แต่อาจแผงมาด้วยภัยเงียบที่ซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัวจากการกดเงินสดด้วยบัตรเครดิต เสี่ยงก่อหนี้พอกไม่รู้ตัว ซึ่งจะแตกต่างจากการใช้บัตรเครดิตธรรมดา รวมถึงบัตรกดเงินสดอย่างไร ในวันนี้เราจึงมาสรุปในประเด็นที่ว่า กดเงินสด บัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมเท่าไร ไปดูกัน
บัตรเครดิต VS บัตรกดเงินสด
เริ่มต้นกันที่การทำความเข้าใจรูปแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดซึ่งแต่ละใบใช้สำหรับอะไร โดยขอเริ่มที่
- บัตรเครดิต (Credit Card) จะเป็นบัตรที่ใช้ในการจ่ายค่าสินค้า หรือบริการล่วงหน้าให้แก่ผู้ถือบัตร แต่ต้องชำระในระยะเวลาที่สถาบันทางการเงินกำหนดเพราะหากเลยระยะเวลาจะมีค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้
- บัตรกดเงินสด (Cash Card) จะเป็นอีกหนึ่งสินเชื่อทางการเงินที่นิยมนำไปใช้งานสองรูปแบบ ได้แก่ การใช้เพื่อกดเป็นเงินสด หรือใช้ในการซื้อสินค้าเพื่อผ่อนชำระแบ่งเป็นรายงวดตามเงื่อนไข
บัตรเครดิต กดเงินสดได้ไหม
หากถามว่า บัตรเครดิต กดเงินสดได้ไหม? แน่นอนว่าต้องได้อยู่แล้ว เพราะเวลาธนาคารพิจารณาอนุมัติบัตรเครดิตให้กับเรา เราก็จะได้รับวงเงินมาสำหรับใช้จ่ายตามความต้องการ จะนำเอาไปรูดซื้อสินค้าก็ได้ หรือจะกดออกมาเป็นเงินสดก็ได้เช่นกัน แต่โดยปกติทั่วไปแล้ว ไม่ค่อยมีใครใช้บัตรเครดิตสำหรับการกดเงินสดสักเท่าไหร่ ยกเว้นจะเป็นเหตุด่วนเหตุร้าย เกิดเรื่องไม่คาดฝันกะทันหันขึ้นมาจริงๆ แล้วเราไม่มีเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในส่วนนี้ และไม่มีบัตรกดเงินสดด้วย
เพราะหากพูดถึงการกดเงินสดจากบัตร บัตรกดเงินสดย่อมตอบโจทย์มากกว่า เพราะบัตรเครดิตออกแบบมาสำหรับการชำระค่าสินค้า หรือบริการแทนเงินสด โดยธนาคารจะเป็นผู้ออกเงินให้กับเราก่อน เราสามารถผ่อน หรือจ่ายทีหลังได้ วงเงินมีจำกัด และมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ธนาคารผู้ให้บริการ ถึงมันจะสามารถกดเงินสดออกมาได้ก็จริง แต่เราไม่ค่อยแนะนำสักเท่าไหร่
กดเงินสด บัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมเท่าไร
จากหัวข้อข้างบนเพื่อนๆ คงพอทราบเหตุผลที่เราไม่แนะนำให้ใช้บัตรเครดิตในการกดเงินสดกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะการกดเงินสดออกมาจากเครดิตนั้นมีค่าใช้จ่ายตามมามากมาย เวลาใช้เงินจึงใช้ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่ควร ด่านแรกที่เราต้องเผชิญเลยก็คือค่าธรรมเนียมการเบิกเงินสดล่วงหน้า ธนาคารจะคำนวณค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อ 1 ครั้ง หลังจากนั้นก็จะมีการคำนวณดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่กดไปจนถึงวันที่เราจ่ายเงินคืน ถ้าเรายังเลือกจ่ายขั้นต่ำอีก บอกเลยว่าจากเงินหลักพันที่กดออกมา อาจพัฒนาสู่หลักแสนอย่างรวดเร็วทันใจเลยทีเดียว
กดเงินสดจากบัตรเครดิต VS บัตรกดเงินสด แบบไหนดีกว่ากัน
หากพิจารณาถึงความแตกต่างในการกดเงินจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดตามข้อมูลข้างต้นที่เราได้ระบุเอาไว้ จะพบว่าบัตรเครดิตนั้นหากต้องการกดเงินสดจะมีค่าธรรมเนียมในทันที แม้ว่าดอกเบี้ยอาจจะไม่แพงแต่ก็คิดเป็นรายวันกันเลยทีเดียว
ตัวอย่าง หากกดเงินสดเป็นจำนวน 10,000 บาท ดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ และดอกเบี้ยบัตรกดเงินสดอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ผ่อนชำระในระยะเวลา 1 เดือนหรือ 30 วัน
บัตรเครดิต
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต = (10,000*15%*30) / 365 = 123 บาท
อัตราค่าธรรมเนียมกดเงินสดขั้นต่ำอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ = 10,000 X 3% = 300 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์จากค่าธรรมเนียม = 300 X 7% = 21 บาท
รวมทั้งสิ้น 123 + 300 + 21 = 444 บาท
ยอดที่จะต้องชำระทั้งหมดจึงอยู่ที่ 10,444 บาท
บัตรกดเงินสด
วิธีการคำนวณค่อนข้างง่าย เนื่องจากไม่มีค่าธรรมเนียม และไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าธรรมเนียมอีก ดังนั้นเราจึงสามารถนำเอายอดเงินต้นคูณเข้ากับเปอร์เซ็นต์ดอกเบี้ยคุณจำนวนวันแล้วหารด้วย 365 ได้เลย ได้แก่
(10,000*25%*30) / 365 = 205 บาท
ดังนั้น ยอดที่ต้องชำระทั้งหมดหากจ่ายเงินแบบเต็มจำนวนจะอยู่ที่ 10,205 บาท
จะเห็นได้ว่าการกดเงินสดจากบัตรเครดิต ทำได้จริง แต่เราไม่ขอแนะนำให้ทำ เนื่องจากการมีค่าใช้จ่ายหลังจากกดเงินสูงกว่าบัตรกดเงินสด ซึ่งถ้าหากมีความจำเป็นในการใช้เงินก้อนฉุกเฉิน การทำบัตรกดเงินสดเพิ่มอีกใบดูจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า เพื่อหากวันนึง หรือมีเหตุการณ์ฉุกเฉินจะสามารถกดเงินมาใช้ได้ทันที แต่ทั้งนี้ผู้ใช้งานก็ต้องมีวินัยในการผ่อนจ่ายด้วยเช่นกัน ยิ่งปิดได้เร็วก็ยิ่งเสียดอกเบี้ยถูกลง และที่ไม่ควรทำก็คือการสมัครบัตรกดเงินสดหลายใบเพื่อนำมาหมุน หรือใช้หนี้บัตรอื่น ๆ ซึ่งการทำแบบนี้จะเป็นการเริ่มต้นของวงเวียนหนี้ท่วมแบบที่หาทางออกแทบไม่ได้นั่นเอง ดังนั้นก่อนตัดสินใจสมัครควรศึกษาเงื่อนไข และการคิดดอกเบี้ยคืนให้ดีก่อนทุกครั้ง