หนี้มรดก คืออะไร ถ้าพ่อแม่ไม่อยู่ ลูกต้องใช้หนี้แทนหรือไม่?
มรดก ถือเป็นทรัพย์สินของพ่อแม่ที่ต้องถ่ายทอดให้ลูก/ทายาท หลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตลงแล้ว ไม่ว่าจะเงินก้อน ที่ดิน ทรัพย์สินต่าง ๆ โดยเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะถูกกำหนดตามรายชื่อในพินัยกรรมที่มีการระบุไว้ สำหรับหนี้เอง ก็ถือเป็นมรดกด้วยเช่นกัน ในวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจว่า หนี้มรดก คืออะไร ถ้าพ่อแม่ไม่อยู่ ลูกต้องใช้หนี้แทนหรือไม่? รวมไปถึงความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับหนี้สิน หากพร้อมแล้ว ไปดูกันได้เลย
หนี้มรดก คืออะไร?
หนี้มรดก (inheritance debt) คือ หนี้สินที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนเสียชีวิต ซึ่งทายาทของบุคคลที่เสียชีวิตมีหน้าที่ต้องชำระหนี้สินของพ่อแม่ที่เสียชีวิตไป โดยในทางกฎหมายนั้น มรดกไม่ได้จำกัดความหมายเพียงแค่ทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหนี้สิน ตลอดจนสิทธิหน้าที่ต่างๆ ของเจ้ามรดกผู้ตายที่ทายาทผู้รับมรดกจะต้องรับเอาไปด้วยตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 กำหนดไว้ ทั้งนี้ ทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดชบอหนี้สินเกินกว่ามูลค่าของทรัพย์สินมรดกที่ตนได้รับ ตามมาตรา 1601 ช่วยให้ทายาทได้รับความยุติธรรมมากขึ้น
ผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย
เมื่อพ่อแม่หรือเจ้าของมรดกได้เสียชีวิตลงแล้ว ตามกฎหมาย ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท อันได้แก่ ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม และทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 มีการระบุไว้ว่า ทายาทโดยธรรมจะมีทั้งหมด 6 ลำดับ เรียงสิทธิการรับมรดกทั้งก่อนและหลัง ซึ่งผู้ที่ได้รับมรดกลำดับแรก จะมีสิทธิในการเป็นบุตรเป็นผู้สืบสันดาน มีอำนาจในมรดกมากที่สุด
ทั้งนี้ ทายาทสามารถปฏิเสธการรับมรดกได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือควรได้ทราบถึงการตายของเจ้ามรดก หากทายาทปฏิเสธการรับมรดก ทายาทจะไม่ต้องรับทรัพย์สินและหนี้สินของพ่อแม่ที่เสียชีวิตไป
เมื่อพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว ลูก/ทายาทต้องใช้หนี้แทนหรือไม่?
หากใครสงสัยว่าถ้าพ่อแม่ที่เป็นลูกหนี้เสียชีวิตลงแล้ว ทายาทต้องใช้หนี้แทนหรือไม่? คำตอบคือใช่ เจ้าหนี้สามารถทวงหนี้กับทายาทได้ เนื่องจากหนี้ก้ถือเป็นมรดก ทายาทจึงจะต้องชดใช้หนี้สินแทน เป็นจำนวนเท่ากับทรัพย์สินที่ทายาทได้รับมรดกมาเท่านั้น แต่ถ้าหากลูกหนี้ไม่มีมรดก มีแต่หนี้สิน ทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ สำหรับครอบครัวไหนที่ลูกหนี้มีมรดกด้วย ทายาทจะต้องร่วมกันชดใช้หนี้สิน ก่อนนำมรดกมาแบ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 และมาตรา 1734 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม
ตัวอย่างกรณีของหนี้มรดก :
อ้างอิง: https://www.moj.go.th/view/62188
กล่าวก็คือ หากนาย A ผู้เป็นบิดา หรือเจ้ามรดกเสียชีวิต โดยมีหนี้อยู่ 1 ล้านบาท พร้อมกับมรดกทรัพย์สินต่าง ๆ มูลค่ารวม 3 ล้านบาท ลูก/ทายาทจะต้องรับมรดกทั้งหมดทุกอย่างไป และต้องใช้หนี้แทนทั้งหมดด้วย แต่จะไม่เกินจากมรดกรวมที่ได้รับ ซึ่งหมายถึง ลูก/ทายาท นาย A ต้องชำระหนี้ 1 ล้านบาท และจะเหลือมรดกที่ได้รับทั้งหมด 2 ล้านบาท
ในทำนองเดียวกัน หากว่าเจ้ามรดกมีหนี้ 3 ล้านบาท แต่มีมรดกทรัพย์สินรวมที่ 1 ล้านบาท ลูก/ทายาท จะต้องชำระหนี้ทั้งหมด 1 ล้านบาทจากมรดกที่ได้รับ โดยไม่ต้องชำระหนี้ที่เหลืออีก 2 ล้านบาท นั่นเอง
วิธีชำระหนี้มรดก
- ชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินมรดก ทายาทสามารถชำระหนี้มรดกด้วยทรัพย์สินมรดกที่ได้รับมา ตัวอย่างเช่น ลูกได้รับมรดกเป็นที่ดิน มูลค่าที่ดินเท่ากับจำนวนหนี้สินของพ่อแม่ ลูกจึงสามารถชำระหนี้สินของพ่อแม่ด้วยที่ดินที่ตนได้รับมรดก
- ชำระหนี้ด้วยเงินสด ในกรณีที่ทรัพย์สินมรดกไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้สินทั้งหมด ทายาทสามารถชำระหนี้สินที่เหลือด้วยเงินสด
หนี้มรดก ถือเป็นภาระหน้าที่ที่ทายาทต้องรับผิดชอบ เราในฐานะทายาทจึงควรศึกษา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหนี้มรดก เพื่อให้สามารถวางแผน และจัดการหนี้มรดกได้อย่างเหมาะสม รวมถึงพิจารณาถึงสถานการณ์ทางการเงิน และความจำเป็นของตนเอง เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง