ทำงานไม่ประจำ ยื่นภาษี ยังไง ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ให้ถูกต้องครบถ้วน
หากคุณทำอาชีพอิสระ/ฟรีแลนซ์อย่างเช่นเป็นนางแบบ นักแสดง นักเขียน หรือโปรแกรมเมอร์ที่รับงานอิสระโดยไม่สังกัดกับบริษัท หรือหน่วยงานใด การจะยื่นภาษีนั้นก็นับว่าเป็นสิ่งที่ยุ่งยากกว่าปกติ และทำความเข้าใจได้ยากไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระจะต้องจัดการงานเอกสารทั้งหมดตามลำพัง เหตุนี้เราจึงจะพาทุกคนมาดูกันว่าสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทำงานไม่ประจำ ยื่นภาษี ยังไง ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการ อัตราภาษี และ กระบวนการยื่น
เปิดขั้นตอน และวิธีการเสียภาษีเบื้องต้น
ประชาชนชาวไทยทุกคนที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปจะต้องยื่นภาษีตามกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าหากเงินที่เราได้รับเป็นจำนวนน้อยเราก็อาจจะยังไม่ต้องเสียภาษี หากมีการเสียภาษี ณ ที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วก็จะสามารถขอคืนภาษีได้ หากเราเงินเดือนถึงตามอัตราภาษีก็ต้องเสียภาษีตามอัตราที่กำหนดเอาไว้
สำหรับคนทำอาชีพรับจ้างอิสระหรือฟรีแลนซ์มันจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าปวดหัวเลยทีเดียวเพราะรายได้ของเรานั้นเข้ามาไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ยิ่งหากคุณไม่ได้มีความรู้เรื่องภาษีด้วยแล้วยิ่งจัดการเกี่ยวกับภาษีได้ยากขึ้นกว่าเดิมอีกต่างหาก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าภาษีนั้นจะมีการแบ่งเงินได้ออกเป็นหลากหลายประเภทและแต่ละประเภทก็จะมีอัตราภาษีที่ไม่เท่ากัน สำหรับคนที่ทำงานอาชีพอิสระจะจัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ในมาตรา 40 วงเล็บ 2 ตามประมวลรัษฎากรภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช้เอกสารภ.ง.ด. 90 ในการยื่นแสดงรายได้
โดยเงินได้ประเภท 2 จะเป็นเงินที่ได้รับจากการทำหน้าที่ ตำแหน่งงาน หรือจากการรับทำงานอย่างเช่นค่าส่วนลด ค่านายหน้า ค่าบำเหน็จ ค่าโบนัส ค่าเช่าบ้าน รวมไปถึงเงินที่ได้รับจากการทำงานทั้งแบบประจำและชั่วคราว สำหรับอัตราภาษีนั้นจะถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 ขั้นประกอบไปด้วย
- เงินได้สุทธิตั้งแต่ 0 บาทจนถึง 150,000 บาท ในส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเอาไปคำนวณภาษีหรือไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง
- เงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาทไปจนถึง 300,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 5%
- เงินได้สุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทไปจนถึง 500,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 10%
- เงินได้สุทธิตั้งแต่ 500,001 บาทไปจนถึง 750,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 15%
- เงินได้สุทธิตั้งแต่ 750,001 บาทไปจนถึง 1 ล้านบาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 20%
- เงินได้สุทธิตั้งแต่ 1 ล้าน 1 บาทไปจนถึง 2 ล้านบาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 25%
- เงินได้สุทธิตั้งแต่ 2 ล้าน 1 บาทไปจนถึง 5 ล้านบาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 30%และเงินได้สุทธิตั้งแต่ 5 ล้าน 1 บาทเป็นต้นไปจะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 35%
สำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ที่รับงานกับบริษัทหรือหน่วยงานที่มีการจดทะเบียนภาษีรอบแรกเราจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 3% เป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ เราจะต้องเก็บใบหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ให้ดีเนื่องจากมันเป็นใบที่นายจ้างยื่นให้กับเราเพื่อเป็นหลักฐานว่านายจ้างมีการหักเงินได้ของเราไปจ่ายภาษีไว้ 3% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเข้าสู่ช่วงยื่นภาษีประจำปีให้เรารวบรวมนำเอาเอกสารหัก ณ ที่จ่ายเหล่านี้มายื่นแสดงให้สรรพากร เพราะหักเงินได้สุทธิของเรารวมแล้วน้อยกว่าจำนวนภาษีที่เคยหักไว้ ณ ที่จ่ายเราสามารถขอภาษีคืนได้ หรือหากเงินได้สุทธิของเรารวมแล้วต้องเสียภาษีมากกว่าจำนวนที่เคยหักเอาไว้ก็เสียเฉพาะจำนวนที่เกินมาเท่านั้น
ทำงานไม่ประจำ ยื่นภาษี ยังไง?
สำหรับขั้นตอนแรกในการจัดการภาษีเราจะต้องรวบรวมเงินได้พึงประเมินหรือรายได้ที่เราได้รับทั้งหมดตลอดทั้งปี หลักฐานรายได้ของเราก็คือใบหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ที่เรากล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง หากไม่มีเอกสารส่วนดังกล่าวก็สามารถยื่นเป็นหลักฐานการโอนเงินรวบรวมเอาไว้ก็ได้เช่นเดียวกัน หลังจากที่เราได้จำนวนของเงินได้พึงประเมินตลอดทั้งปีเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ให้นำเอามาหักลบกับค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมาย
ตามกฎหมายภาษีเงินได้พึงประเมินประเภท 2 นั้นจะสามารถหักแบบเหมาได้ทั้งหมด 50% แต่จำนวนรวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ในส่วนของค่าลดหย่อนภาษีก็สามารถลดหย่อนได้ตามที่กฎหมายกำหนดไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนส่วนตัวรวมแล้วไม่เกิน 60,000 บาท ลดหย่อนจากภาษีในการซื้อสินค้าหรือบริการโดยนำเอาใบกำกับภาษีที่ได้รับจากร้านค้ามารวบรวมไว้เพื่อลดหย่อนภาษีตามโครงการหรือมาตรการที่ออกมาจากทางภาครัฐ สามารถใช้เงินทำประกันทั้งประกันชีวิต ประกันสังคม และประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้
ส่วนการลงทุนทั้งหุ้นและกองทุน RMF LTF ก็สามารถนำเอามาลดหย่อนได้เช่นเดียวกัน สำหรับใครที่เคยบริจาคเพื่อการศึกษา บริจาคให้กับโรงพยาบาลรัฐ หรือสนับสนุนพรรคการเมืองเราสามารถขอหลักฐานการบริจาคเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้หากคุณมีบิดามารดาที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปและไม่มีเงินได้ก็สามารถนำเอามาขอลดหย่อนได้เช่นเดียวกัน ตรงส่วนนี้รายละเอียดค่อนข้างเยอะแต่เราสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ว่าตัวเรานั้นสามารถลดหย่อนอะไรได้บ้างผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
หลังจากที่เรานั้นนำเอาเงินได้พึงประเมินมาหักลบกับค่าใช้จ่ายและลดหย่อนเป็นที่เรียบร้อยแล้วเราก็จะได้สิ่งที่เรียกว่าเงินได้สุทธิ ให้เราดูว่าเงินได้สุทธิของเราอยู่ในลำดับไหน อย่างเช่นหากทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อยแล้วเรามีเงินได้สุทธิอยู่ที่ 300,000 บาทพอดิบพอดี เราก็จะต้องจ่ายภาษีอัตรา 5%
สำหรับวิธีการเสียภาษีบุคคลธรรมดาสามารถทำได้ทั้งหมด 3 วิธีประกอบไปด้วยการยื่นแบบฟอร์มภ.ง.ด. 90 ให้กับสำนักงานกรมสรรพากรในจังหวัดพื้นที่ของเรา หากอยู่ในกรุงเทพฯ ก็สามารถส่งแบบฟอร์มผ่านทางไปรษณีย์ได้ หรือหากไม่สะดวกเดินทางก็สามารถยื่นออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้เช่นเดียวกัน หากต้องเสียภาษีแล้วยังสามารถชำระผ่านบัตรเครดิตได้อีกต่างหาก