รูดบัตรเครดิต บวกเพิ่ม 1% เริ่ม 1 พ.ค.นี้ ทั้ง Visa และ Mastercard
อัปเดตล่าสุด (วันที่ 31 มี.ค. 67)
ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้ธนาคาร และผู้ให้บริการบัตรเครดิต เลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม 1% เมื่อรูดซื้อสินค้า หรือบริการจากบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศไปอีก 3 เดือน จากเดิมจะเริ่มบังคับใช้ พ.ค.นี้ ไปเป็น ก.ค. แทน
เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวใหญ่ในวงการใช้งานบัตรเครดิต โดยหลายธนาคารได้ทยอยกันออกมาประกาศเพิ่มค่าธรรมเนียมในการ รูดบัตรเครดิต บวกเพิ่ม 1% ทั้ง Visa และ Mastercard สำหรับการทำธุรกรรมการเงิน ซื้อสินค้า หรือบริการจากบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศ แล้วจะส่งผลต่อผู้ใช้บัตรเครดิตอย่างไร ต้องเสียค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตเพิ่มอีกเท่าไหร่ ประกาศใช้วันไหนบ้าง? ลองอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ในบทความนี้
รูดบัตรเครดิต บวกเพิ่ม 1% ทั้ง Visa และ Mastercard
เตรียมตัวให้พร้อม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ผู้ใช้งานบัตร Visa และ Mastercard ของหลายธนาคารในประเทศไทย จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม 1% สำหรับทุกธุรกรรมการใช้จ่ายสกุลเงินต่างประเทศ ทั้งการช้อปออนไลน์ และรูดบัตรที่ร้านค้าต่างประเทศ รวมไปการกดเงินสดด้วยสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ที่เปิดให้บริการภายในต่างประเทศ ซึ่งจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท คิดเป็นอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของยอดใช้จ่าย หรือค่าธรมมเนียม 1% ทุกครั้งที่มีการรูดบัตรเครดิต หรือกดเงินสดจากตู้ ATM
DCC Fee คืออะไร?
DCC Fee ย่อมาจาก Dynamic Currency Conversion Fee หมายถึง ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงิน ที่เรียกเก็บเพิ่มเติมจากยอดใช้จ่าย เมื่อใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตชำระค่าสินค้าหรือบริการในสกุลเงินต่างประเทศ โดยปกติจะคิดเป็นอัตราร้อยละ 1 ของยอดใช้จ่าย โดยค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศ จะเกิดจากการใช้บัตรเครดิต Visa / Mastercard สำหรับชำระสินค้ากับร้านค้าออนไลน์หรือที่ต่างประเทศ รวมถึงบริการที่มีหลากหลายสกุลเงินด้วย
ตัวอย่างร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนต่างประเทศ
ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนต่างประเทศ เช่น AIRASIA BERHAD, NETFLIX, APPLE, TikTok, AGODA, Booking, Klook, IHERB, ALIPAY, TAOBAO, PAYPAL, FACEBOOK, GOOGLE, AIRBNB, EXPEDIA, EBAY, SPOTIFY, ALIBABA, TRIP.COM, STEAMGAMES, VIU, AMAZON เป็นต้น
ทำไมถึงต้องเก็บค่าธรรมเนียม DCC
เนื่องจากธนาคารผู้ให้บริการบัตรเครดิตในประเทศไทย ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินให้กับ Visa, Mastercard หรือ Discover ซึ่งจะเป็นการเรียกบัตรเครดิต จากการไปรูดบัตรที่ต่างประเทศและเลือกสกุลเงินบาท รวมถึงร้านค้า Online ที่จดทะเบียนต่างประเทศและการกด เงินสดด้วยสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จึงจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศจากผู้ใช้บัตรเพิ่มเติม โดยจะมีกำหนดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 1% ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป และจะถูกเรียกเก็บ ณ วันที่มีการบันทึกรายการ
ค่าธรรมเนียม 1% คิดอย่างไร
เราสามารถคิดค่าใช้จ่าย 1% จากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรด้วยสกุลเงินบาท (ไม่คิด VAT) โดยคิดจากยอด ณ วันที่บันทึกรายการใช้ จ่ายโดยในใบแจ้งรายการจะแสดงจำนวนเงินค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท เพิ่มเติมอีกหนึ่งรายการ
ตัวอย่าง: หากจองตั๋วเครื่องบินที่ต่างประเทศผ่านเว็บไซต์ Agoda.com โดยเราเลือกการชำระเงินเป็นสกุลเงินไทยเป็นจำนวน 10,000 บาท เราจะต้องเสียค่าบริการ DCC fee 1% ของยอด 10,000 บาท คิดเป็นเงิน 100 บาท รวมค่าบริการที่ต้องจ่ายทั้งหมด คือ 10,100 บาทนั่นเอง
ยกเลิกรายการค่าธรรมเนียม 1% ได้คืนไหม หลีกเลี่ยงยังไง
สำหรับใครที่ยกเลิกรายการค่าธรรมเนียม 1% จะมีการคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตภายใต้บัญชีบัตรหลัก (รวมทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม) นอกจากนี้ เรายังสามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงิน โดยการเลือกใช้บัตรเครดิตที่มีโปรโมชั่นยกเว้น DCC Fee สำหรับการชำระค่าสินค้าผ่านบริการโอนเงินต่างประเทศ หรือเลือกชำระเป็นสกุลเงินบาท (THB) กับบริการในประเทศไทย
สรุปแล้ว DCC Fee คือค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมที่เรียกเก็บจากการใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตชำระค่าสินค้าหรือบริการในสกุลเงินต่างประเทศ โดยเราจะต้องเสียค่าธรรมเพิ่ม 1% ภายในวันที่ 1 พ.ค. 2567 ดังนั้น ก่อนที่เราจะชำระค่าบริการหรือสินค้าออนไลน์ อย่าลืมคำนวนค่าธรรมบัตรในส่วนนี้ด้วย