เงินปันผล ยื่นภาษี ยังไง มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ก่อนลงทุนต้องรู้
หากกล่าวถึงการลงทุน หลายๆคนอาจนึกถึงผลกำไรที่ได้จากส่วนต่างของราคาของสินทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่การลงทุนสามารถมอบผลตอบแทนได้มากกว่านั้น เพราะยังมีรายได้อีกส่วนหนึ่งที่นักลงทุนจะได้รับอยู่เป็นประจำตามผลการประกอบกิจการ เงินก้อนส่วนนี้มาจากสิ่งที่เรียกว่าเงินปันผล หนึ่งในความท้าทายสำคัญของนักลงทุน คือการจัดการเรื่องภาษีอากรจากเงินปันผลได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะหากมองข้ามในการนำเงินปันผลไปคำนวณเสียภาษีจะส่งผลให้เสียภาษีเกินหรือไม่ครบถ้วน โดยจะต้องพิจารณาประเภทของเงินปันผลนั้น ๆ ก่อน ในวันนี้เราจะมาสรุปให้ทุกท่านทราบกันว่า เงินปันผล ยื่นภาษี ยังไง มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ก่อนลงทุนต้องรู้
เงินปันผล คืออะไร
ตามความหมายของเงินปันผลที่ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิ่งที่อธิบาย ความเป็น “เงินปันผล” ที่ดีที่สุด คือ การเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ถูกจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นของกิจการ โดยอาจเป็นกำไรที่กิจการนั้นๆได้รับจากการดำเนินธุรกิจในชั่วระยะเวลาหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ ไม่มีการจำกัดรูปแบบของเงินปันผลอย่างตายตัว แต่ส่วนใหญ่แล้ว กิจการต่างๆจะนิยมแจกเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของตนตามสัดส่วนที่แต่ละคนในรูปแบบเงินสดหรือหุ้น
เงิ่อนไขการเสียภาษีจากเงินปันผล
- เงินปันผลหุ้น บริษัทจดทะเบียนในประเทศ ต้องถูกหักภาษีไว้ 10% แล้วตั้งแต่ต้นทาง กรณีหุ้นบริษัทต่างประเทศ ผู้ถือหุ้นมีหน้าที่ยื่นเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% เอง
- เงินปันผลกองทุนรวม หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หากบริษัทจัดการไม่หักให้ ผู้ถือหน่วยต้องเสียเอง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง REIT) หักภาษี ณ ที่จ่าย 10%
- เงินปันผลจากการลงทุนคริปโต ถือเป็นรายได้พึงประเมิน ผู้ได้รับต้องนำไปคำนวณรวมยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินปันผล ยื่นภาษี ยังไง
นักลงทุนมีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินประจำปี แล้วยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมชำระภาษีในอัตราก้าวหน้าปกติ หลังจากนั้นจึงนำภาษีที่ถูกหักไว้มาหักลดหย่อนได้สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ขั้นตอนที่ 1 คำนวณรายได้สุทธิ เพื่อพิจารณาว่าควรยื่นแบบฯ หรือไม่ โดยใช้สูตรง่ายๆ คือ นำรายได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง รายได้จากการลงทุน เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย ผลกำไรจากการขายหลักทรัพย์ รวมถึงรายได้อื่นๆ หักออกด้วยค่าลดหย่อนต่างๆ ที่ได้รับสิทธิ ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้สุทธิ หากรายได้สุทธิอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี โดยมีอัตราภาษีต่ำกว่า 28% ก็สมควรยื่นแบบฯ เพื่อขอรับเครดิตภาษีคืน
- ขั้นตอนที่ 2 จัดส่งข้อมูลรายได้ปันผล และส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน ผ่านระบบ Investor Portal ของบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้กรมสรรพากรสามารถเรียกดูข้อมูลได้ โดยสมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ https://ivp.tsd.co.th/ แล้วส่งข้อมูลไปยังกรมสรรพากรได้ทันที
- ขั้นตอนที่ 3 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร ซึ่งสามารถเลือกยื่นได้ทั้งทางเว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/ หรือผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax บนสมาร์ทโฟน โดยกรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว รายได้ ค่าลดหย่อน ระบบจะคำนวณภาษีให้อัตโนมัติ พร้อมนำเข้าข้อมูลเงินปันผลและกองทุนรวมจากฐานข้อมูลของ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ เพื่อรวมคำนวณเครดิตภาษี หากชำระภาษีเกิน ก็สามารถเลือกรับคืนได้ทันที
ทุกท่านคงจะพอเข้าใจแล้วว่าหากเราได้รับเงินปันผลมาจากการลงทุนแบบต่าง ๆ จะต้องยื่นภาษียังไง สำหรับเงินปันผลจากการลงทุนถือเป็นรายได้พึงประเมิน แม้จะถูกหักภาษีไว้ที่ต้นทางแล้วก็ตาม ผู้ได้รับจำเป็นต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี และการลงทุนในกองทุนรวม นอกจากจะช่วยสร้างผลตอบแทนแล้ว ยังถือเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ผู้มีเงินได้จึงไม่ควรมองข้ามสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ การวางแผนภาษีจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักลงทุนทุกคน