วางแผนเกษียณ มนุษย์เงินเดือน ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงพอใช้
เมื่อการทำงานผ่านมายาวนานพร้อมกับอายุที่มากขึ้น หลายท่านคงกำลังคิดถึงชีวิตวัยเกษียณว่าจะวางแผนการเงินอย่างไร ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราเลย เพราะปัญหาเงินเก็บไม่เพียงพอในประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยมีมากกว่า 50% เลยทีเดียว สำหรับคนรุ่นใหม่เองก็ควรเริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันนี้เพราะเวลานั้นผ่านไปรวดเร็วกว่าที่คิด และเมื่อถึงวัยเกษียณแต่ไม่มีเงินก้อนเลยคงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก ในบทความนี้เราจะพามาดูกันว่า วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงพอใช้
วางแผนเกษียณ มนุษย์เงินเดือน ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงพอใช้
วัยเกษียณเป็นวัยที่ไม่ควรมีหนี้หรือปลอดภาระผ่อนกับสถาบันการเงินแล้ว ใช้บัตรเครดิตที่สามารถจ่ายเต็มจำนวนไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ที่สำคัญคือเงินเก็บควรมีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าท่องเที่ยว ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น โดยเรามีสูตรสำหรับการคำนวณอย่างง่ายมาให้ข้างล่างนี้
เงินเก็บหลังเกษียณ = ภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 เดือน x อายุขัยหลังเกษียณ x 2 เท่า
สาเหตุที่เราแนะนำให้เตรียมเงิน 2 เท่าของภาระค่าใช้จ่ายประจำเดือน เพราะค่าท่องเที่ยวและค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายไม่ประจำ หากเงินเฟ้อก็ทำให้ค่าใช้จ่ายแพงขึ้น ซึ่งสูตรนี้มีความปลอดภัยมากพอ
ตัวอย่าง นาย A วางแฟนเกษียณในวัย 60 ปี คาดว่าจะใช้ชีวิตไปอีก 20 ปี คำนวณค่าใช้จ่ายเบื้องต้นต่อเดือน ดังนี้
- ค่ากิน 15,000 บาท
- ค่าเดินทาง 5,000 บาท
- ค่าน้ำ 300 บาท
- ค่าไฟ 1,500 บาท
- ค่าโทรศัพท์ 500 บาท
- ค่าเบี้ยประดันต่าง ๆ 1,500 บาท
- ค่ารักษาพยาบาล 3,000 บาท
รวมค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 27,000 บาท
ดังนั้น เงินเก็บหลังเกษียณที่นาย A ต้องเตรียม = 27,000 x 12 x 20 x 2 = 12,960,000 บาท
5 วิธีการบริหารเงินหลังเกษียณให้มีเกษียณสุข
- จัดการกับรายได้
ในวัยเกษียณเราควรเริ่มจัดการรายได้ให้เป็นระบบแล้วจึงทำการจัดสรรเงินที่มีอยู่ให้กับตนเองสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่เดือดร้อนและสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ขัดสน โดยต้องคำนวณดูว่าเรามีทรัพย์สินทั้งหมดเท่าไร ทรัพย์สินอยู่ที่ไหนบ้าง และมีรายรับจากทางไหนบ้าง โดยแบ่งเป็น
- เงินก้อน เช่น เงินบำเหน็จ เงินกองทุนประกันสังคม เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
- เงินฝากออมทรัพย์ และเงินได้ประจำหลังเกษียณ เช่น เงินบำนาญ ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่าต่างๆ เป็นต้น
- คำนวณรายจ่าย
ลองแบ่งประเภทค่าใช้จ่ายว่าออกมาเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างครับ ซึ่งอาจมีบางส่วนที่ลดลง เช่น ค่าเดินทาง ค่ากิน และบางส่วนที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล และคำนวณการใช้จ่ายว่าในแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเท่าไหร่ โดยรายจ่ายหลักๆ หลังเกษียณจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน
- ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากิน ค่าเดินทาง
- ค่าซ่อมบำรุงทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย ซึ่งมีความเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน เราจึงควรเผื่อเงินให้กับส่วนนี้ไว้ก้อนนึง
- ค่ารักษาพยาบาล เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็ย่อมมีความเสื่อมโทรมหากเราไม่ได้มีการดูแลตัวเองที่ดีพอ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในวัยเกษียณจะสูงมาก แนะนำให้ลองมองหาโครงการประกันสุขภาพทั่วหน้าของภาครัฐ หรือโครงการอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
- ค่ากิจกรรมเพิ่มเติม เช่น ท่องเที่ยว ทำบุญ เนื่องจากอายุที่มากขึ้นก็หากิจกรรมทำก็เป็นทางออกที่ดี แต่ต้องระวังเพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้ค่อนข้างจะฟุ่มเฟือย อย่าลืมบริหารให้เหมาะสมด้วย
- ให้ความสำคัญกับการลงทุน
วัยเกษียณเป็นวัยที่ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนมากๆครับ เนื่องด้วยราคาสินค้าต่างๆ มีแต่แนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรามีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นด้วย
แต่การลงทุนของคนวัยเกษียณจำเป็นต้องพิจารณาให้ดี โดยเราอาจใช้บริการที่ปรึกษาทางการเงินช่วยในการวางแผนการลงทุนเป็นตัวช่วย เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดจากการลงทุน เพราะโอกาสในการสร้างรายรับของเราไม่ได้มีมากหากเราขาดทุนจะเป็นปัญหาอย่างมาก แนะนำว่าควรลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง โดยกระจายไปให้หลากหลายทรัพย์สิน ดังนี้
- เงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น 20%-40% ให้มีเงินสดพร้อมใช้ยามฉุกเฉิน
- พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน กองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง – ยาว 30%-60% เพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน
- กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หุ้น ทองคำ 10%-20% เพื่อเพิ่มผลตอบแทน
- ใส่ใจดูแลสุขภาพ
สุขภาพกับการบริหารเงินไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เนื่องจากสุขภาพนั้นเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เงินและทรัพย์สินที่มีได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งค่าตรวจ ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากที่ต้องจ่าย จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวที่ดีพอและหาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ อย่างเหมาะสม วัยเกษียณจึงควรออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพประจำปี รักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอนั่นเอง
- วางแผนมรดก
เรื่องการวางแผนมรดกเป็นเรื่องที่เลี่ยงที่พูดถึงไม่ได้ในวัยเกษียณ หลายคนมีทรัพย์สินที่สั่งสมมากมากพอสมควร ซึ่งมีทั้งทรัพย์สินที่เพิ่มคุณค่าตามกาลเวลา และทรัพย์สินที่อาจมีค่าเสื่อม ซึ่งบางอย่างอาจเปลี่ยนเป็นทุนทรัพย์ในการลงทุนหรือส่งต่อให้กับรุ่นลูกหลานได้
เหล่านี้คือวิธีวางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงพอใช้ ลองนำสูตรที่เราให้ไปคำนวณคร่าว ๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมก่อนว่าควรทีเงินเบื้องต้นเท่าไร ที่สำคัญเราอยากแนะนำให้ทุกท่านมองเรื่องเกษียณให้เป็นเรื่องใกล้ตัวและอย่าท้อถอยในการวางแผนหลังเกษียณ เพียงลองทำความเข้าใจความเป็นจริง มองหลาการลงทุนหลายๆรูปแบบที่เหมาะสมกับเราเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เราในอนาคต พร้อมว่าแผนว่าเราจะนำเงินส่วนไหนมาใช้ทำอะไรในช่วงบั้นปลายชีวิต เท่านี้เมื่อถึงเวลานั้นมาถึง คุณก็จะมีความสุขในวัยเกษียณได้อย่างเต็มที่แล้ว