ใครก็รู้ว่าเมื่อถึงวัยที่เรา เกษียณ ไปแล้วนั้นโอกาสที่เราจะสร้างรายได้ให้ครอบครัวหรืออย่างน้อยๆก็เลี้ยงตนเองนั้นทำได้ยากแค่ไหน ดังนั้น ก่อนที่เราจะเข้าสู่ วัยเกษียณ เราจะต้องมีการเตรียมตัวที่ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว และไม่ใช่ว่าการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ วัยเกษียณ นั้นจะทำได้ภายในปีสองปีเท่านั้น การเตรียมตัวนั้นจะต้องใช้เวลาหลายปีมากทีเดียว และอาจจะกินเวลาเป็นหลายสิบปีเลยทีเดียว
จึงไม่น่าแปลกใจเลยสักนิดที่เราจะสามารถพบเห็นโฆษณาของสถาบันการเงินต่างๆออกมาหยิบยื่นแนวทางหรือบริการต่างๆเพื่อช่วยให้เราเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมั่นคงนั่นเอง ซึ่งสรุปๆแล้วเราสามารถเตรียมตัวสร้างความมั่นคงเพื่อ วัยเกษียณ ได้ดังนี้
1.ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน
แน่นอนว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงเมื่อพูดถึงความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นการวางแผนทางการเงินตั้งแต่เนิ่นๆจะช่วยให้เรามีชีวิตที่สุขสบายขึ้นได้ในวัยเกษียณ และใครจะเชี่ยวชาญทางด้านการเงินไปมากกว่าสถาบันการเงินกันล่ะ ซึ่งทางสถาบันการเงินก็จะแนะนำทั้งการปันส่วนเงินในการใช้เงินและการอดออมให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของเรานั่นเอง เรียกว่าการวางรากฐานเพื่ออนาคตล้วนๆเลย เพราะฉะนั้นหากคุณกำลังต้องการสร้างความมั่นคงให้กับวัยเกษียณแต่ไม่รู้จะปรึกษาใครดี มาที่สถาบันการเงินสิคะ ซึ่งทางสถาบันการเงินหรือทางธนาคารพร้อมที่จะให้คำปรึกษาเสมอค่ะ
2.ออมเงินให้เป็นนิสัย
ไม่ต้องเก็บไปก้อนใหญ่ แต่เก็บไปเลยตั้งแต่เศษเงิน นึกขึ้นได้เมื่อไหร่ก็ออมเข้าไปแล้วอย่าไปเผลอเอาออกมาใช้เชียว ตั้งกฎบังคับตัวเองไว้ให้ดีและอย่าไปฝ่าฝืน เพียงเท่านี้เราก็จะมีเงินมากขึ้นโดยไม่รู้ตัวแล้ว บางคนก็ใช้ทริคเช่น ถ้าได้แบงค์ 50 บาทมาจะใช้และออมทั้งหมด เป็นต้น แต่ไม่ว่าคุณจะมีเทคนิคในการเก็บออมเงินอย่างไร ก็ควรทำด้วยความจริงจังและห้ามนำเงินที่ออมไว้ออกมาใช้เป็นอันขาด คิดไว้ค่ะว่าเพื่ออนาคตวัยเกษียณของตัวคุณเอง หากไม่ออมตั้งแต่วันนี้วันหน้าก็อาจจะออมไม่ทันแล้วนะคะ
3.ลองคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดคร่าวๆในวัยเกษียณ
พอคำนวณแล้วก็ลองบวกเพิ่มไปสัก 25% แล้วมาคิดอีกทีว่าจะต้องเก็บเดือนล่ะเท่าไหร่เพื่อให้ได้เงินพอใช้ในวัยเกษียณ ภายในระยะเวลาที่ยังไม่เกษียณและอย่าลืมเผื่อเงินไว้สำหรับการสร้างครอบครัวด้วย ซึ่งก็คงเป็นโชคดีของคนที่ไม่มีครอบครัวไป
4.เข้าร่วมนโยบายออมเงินหลังเกษียณ
แน่นอนว่าการมีเงินเก็บใช้ในบั้นปลายชีวิตยิ่งดีกว่าการไม่มีแน่ๆ ดังนั้นถ้ามีโอกาสก็เข้าร่วมโครงการออมเงินบ้าง การออมยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น หรืออาจจะนำเงินไปเข้ากองทุนต่างๆ เพื่อวัยเกษียณก็ได้ค่ะ
5.ศึกษาระบบเงินบำนาญ
ระบบบำนาญถือเป็นหนึ่งที่จะช่วยให้ชีวิตหลังเกษียณของข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจง่ายขึ้น ทำความเข้าใจและทำความรู้จักให้สนิทกันจะดีมาก เพราะจะได้รู้ว่าจะใช้เงินบำนาญเหล่านั้นอย่างไร แต่ถึงแม้ว่าชีวิตหลังวัยเกษียณของคุณจะมีเงินบำนาญให้ได้ใช้จ่ายใรแต่ละเดือน แต่ก็ควรเก็บเงินออมไว้ด้วยนะคะ เพราะเงินบำนาญก็มีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ ซึ่งก็อาจจะไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายตลอดเดือน หรือหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
6.รีวิวชีวิตคนที่เกษียณไปแล้ว
คือไปสังเกตการณ์ว่าคนที่เกษียณไปแล้ว และมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายนั้นเขามีแนวคิดอย่างไรและเขาทำอะไรมาบ้างก่อนที่จะเกษียณอายุ เพื่อให้เรามีแนวทางที่น่าจะเป็นทางที่ดีให้เราได้ยึดเหนี่ยวไว้ในการดำเนินชีวิตก่อนถึงเวลาที่ต้องเกษียณนั่นเอง เพราะคนที่ผ่านชีวิตวัยเกษียณไปแล้วเขาจะรู้และเข้าใจชีวิตดีกว่า การถามและเรียนรู้ชีวิตวัยเกษียณไว้ก่อน จะทำให้เราได้เตรียมตัวเพื่อวัยเกษียณอย่างถูกทางมากขึ้น
7.ออมเงินกับเพื่อน
แน่นอนว่าการออมเงินเพียงคนเดียวนั้นอาจจะทำให้เรามีความแน่วแน่ไม่เท่ากับการที่มีคนจับตามองอยู่อย่างแน่นอน ทางที่ดีก็ตั้งกฎไปเลยว่าถ้าใครไม่ออมเงินเมื่อถึงกำหนดจะมีบทลงโทษอย่างไร ที่นี้ก็สร้างแรงบันดาลใจกันได้แล้ว อีกอย่างการออมเงินกับเพื่อนก็จะทำให้เรารู้สึกสนุกและมีกำลังใจที่จะออมเงินมากขึ้นอีกด้วยนะ
8.สร้างวินัยซะ
วินัยในการออมเป็นจุดเริ่มต้นในการออมที่สำคัญกว่าการมีเงินเสียอีก เพราะถ้ายังไม่มีวินัยในการออมต่อให้เรามีเงินเป็นพันเป็นล้านก็คงไม่นำมาออมอย่างแน่นอน ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่ดีควรจะเริ่มจากความตั้งใจจริงและการควบคุมตนเองเพื่อให้สามารถทำการออมได้อย่างที่ตั้งใจนั่นเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการออมเงินก็คือความมีวินัย อยากออมเงินให้ได้รวดเร็วทันใจก็อย่าลืมสร้างวินัยให้กับตัวเองกันด้วยนะคะ
ถ้าหากทำได้ทั้ง 8 ข้อนี้แล้วล่ะก็ เชื่อได้ว่ารากฐานที่เราต้องการก็จะมั่นคงพอที่เราจะใช้ชีวิตเกษียณได้สะดวกสบายอย่างแน่นอน อยากมีชีวิตหลังวัยเกษียณอย่างสะดวกสบายก้ต้องวางแผนการออมเงินตั้งแต่วันนี้นะคะ เพื่ออนาคตที่ดีของเราเองนั่นเอง