SMS หลอกลวง เตรียมโดนล้างบาง ดีอี จ่อให้ลงทะเบียนใหม่ทั้งระบบ
หลายต่อหลายปีมาแล้วที่คนไทยต้องเผชิญปัญหาการได้รับ SMS ที่เป็นกลโกงของมิจฉาชีพ ที่ปลอมเป็นเว็บทางการต่าง ๆ หรือร้านค้าแบรนด์ดังชั้นนำ เพื่อหลอกเอาข้อมูล หรือโอนเงิน บางรายก็สูญเงินถึงหลักแสน หลักล้านกันเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นอีกปัญหาที่ยังยากต่อการแก้ไขให้หมดไป และดูเหมือนว่าจะมีวิธีการต่อกรแล้ว SMS หลอกลวง เตรียมโดนล้างบาง ด้าน ดีอี จ่อให้ลงทะเบียนใหม่ทั้งระบบ ซึ่งจะมีรายละเอียดยังไงบ้าง ไปดูกัน
ดีอี เร่งจัดระบบใหม่ เตรียมล้างบาง SMS แนบลิงก์หลอกลวง
ล่าสุดนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ทางดีอี ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช. และตำรวจ เร่งดำเนินมาตรการป้องกัน และลดปัญหาการส่ง SMS แนบลิงก์หลอกลวง
โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนชื่อผู้ส่ง (Sender Name) ใหม่ทั้งระบบภายในปี 2567 นี้ และจะต้องลงทะเบียนใหม่ทุก ๆ ปี เพื่อให้สามารถระบุตัวตนของผู้ส่งได้ และป้องกันการส่ง SMS แนบลิงก์ที่แฝงไวรัส หรือการปลอมแปลงต่าง ๆ ที่เป็นต้นตอของ แอปดูดเงิน หรือการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล
SMS หลอกลวง จะหายไปเลยมั้ย?
การลงทะเบียนชื่อผู้ส่งเป็นเพียงหนึ่งในวิธีช่วยป้องกัน และลดการเกิดปัญหาโดดดูดเงินจาก SMS แนบลิงก์หลอกลวงเท่านั้น แต่เราก็ยังมีโอกาสได้รับ SMS ดังกล่าวอยู่ แต่หากว่าพบการส่ง SMS แนบลิงก์ที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ส่งไว้ ตำรวจจะดำเนินการยกเลิกสัญญาณ และดำเนินคดีกับผู้ส่งนั้น ๆ
วิธีเช็ก SMS แนบลิงก์หลอกลวง
- ตรวจสอบแหล่งที่มา
เมื่อได้รับ SMS ควรเช็กให้ถี่ถ้วนว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เช่น เบอร์โทรศัพท์ หากเป็นเบอร์ส่วนตัว ไม่ใช่เบอร์ทางการขององค์กรนั้น ๆ ควรสงสัยเอาไว้ก่อน
- อย่ากดลิงก์ทันที
หากได้รับ SMS แจ้งโปรโมชั่น หรือให้กดลิงก์ที่แนบมาเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ควรพิจารณาให้ดีก่อนว่าใครเป็นผู้ส่ง โดยเฉพาะเมื่อได้รับ SMS ว่าค้างจ่ายค่าบริการต่าง ๆ อย่างเช่น ค่าไฟฟ้า ควรโทรเช็กก่อนเพื่อความถูกต้อง
- ลักษณะการพิมพ์
SMS แนบลิงก์หลอกลวงส่วนมาก อาจจะสร้างด้วยโปรแกรมบอท ซึ่งอาจจะมีการใช้ภาษา การสะกดคำ หรือสัญลักษณ์ที่ไม่ปกติ ดูรับร้อนเกินไป และหากมีการขอข้อมูลส่วนตัวแล้วยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ
- ตรวจสอบความถูกต้องของลิงก์
เมื่อมีการแนบลิงก์ใด ๆ มาใน SMS เราควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็น url ที่ถูกต้องของหน่วยงาน องค์กร หรือร้านค้านั้นจริง ๆ เพราะมิจฉาชีพมักจะตั้งชื่อให้คล้ายกันโดยเปลี่ยนตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์แทน หรืออาจใช้ .co แทน .com หรืออื่น ๆ เป็นต้น
- ใช้แอปพลิเคชันช่วยป้องกัน
ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ช่วยคัดกรองข้อความที่เป็น spam หรือหลอกลวงให้ใช้งานอย่างแพร่หลาย อย่างเช่น Whoscall หรืออย่างมือถือของ Samsung จะมีฟีเจอร์ที่ช่วยคัดกรองอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยหลักที่ไม่ควรมองข้าม
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่น่าจะช่วยลดปัญหาการโดนแอปดูดเงินได้ แต่ทางที่ดีที่สุดประชาชนทุกคนต้องระมัดระวังในการกดลิงก์ที่แนบมาใน SMS ให้ดี โดยยึดหลัก 4 ไม่ ได้แก่ ไม่กดลิงก์, ไม่เชื่อ, ไม่รีบ และ ไม่โอน
อ้างอิง: https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/334204