ยื่นภาษีออนไลน์ 2568 ถึงวันไหน ทำยังไง?
การยื่นภาษีเงินได้ ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่มีรายได้ตามกฎหมาย แม้จะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ตาม และในปัจจุบันยังมีระบบออนไลน์ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายด้วยเช่นกัน ในวันนี้เราจะพาไปดูกันว่า ยื่นภาษีออนไลน์ 2568 ถึงวันไหน ทำยังไง? ใครที่ยังไม่ชัวร์ ไปดูพร้อมกันเลย
ยื่นภาษีออนไลน์ 2568 ถึงวันไหน
โดยปกติแล้วกรมสรรพากร จะให้ประชาชนที่มีรายได้ยื่นภาษีแสดงรายได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคมของทุกปีที่ แต่หากเป็นการ ยื่นภาษีออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์สรรพากร จะทำได้ถึงวันที่ 8 เมษายนของทุกปี ดังนั้นการยื่นภาษี ปี 2567 จะสามารถยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2568 นี้
ทำไมต้องเสียภาษี?
เพราะเป็นหน้าที่ของบุคคลที่ต้องจ่าย หรือชำระให้แก่รัฐตามรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะเป็นรายได้ให้รัฐนำไปใช้พัฒนาสังคม และประเทศในด้านต่าง ๆ โดยสามารถสรุปประโยชน์ของการจ่ายภาษีดังนี้
สนับสนุนการพัฒนาประเทศ
- การสร้าง และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน, สะพาน, ระบบขนส่งมวลชน
- การพัฒนาการศึกษา โดยการสนับสนุนงบประมาณแก่โรงเรียนและมหาวิทยาลัย
- การพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง
เพื่อจัดบริการสาธารณะ
- บริการไฟฟ้าและน้ำประปา
- การรักษาความปลอดภัยโดยตำรวจและทหาร
- การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม
เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม
ภาษีเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยรัฐบาลจะนำเงินภาษีไปใช้ในโครงการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น
เงินอุดหนุนสำหรับคนจน
- กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า
- โครงการคนละครึ่ง หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เพื่อสนับสนุนความมั่นคงของประเทศ
- การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์
- การดูแลชายแดนและความปลอดภัยของประเทศ
- การป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ
เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการลงทุน
- การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs
- การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เทคโนโลยีหรือพลังงานสะอาด
- การสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม
เพื่อความยั่งยืนของสังคม
การเสียภาษีทำให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอในการบริหารประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาหนี้สินจากต่างประเทศมากเกินไป นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถจัดการปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาวได้
ใครต้องเสียภาษีบ้าง?
ทุกคนที่มีรายได้ในปีนั้นถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี และแม้ว่ารายได้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสีย แต่ก็จำเป็นต้องแสดงรายได้ทั้งหมดให้กับสรรพากรรับรู้อยู่ดี เพื่อเลี่ยงการโดนตรวจสอบย้อนหลัง และค่าปรับต่าง ๆ ที่อาจเกิดตามมา
ขั้นตอนยื่นภาษีออนไลน์ 2568
- ไปที่เว็บไซต์สรรพากร
- เลือกเมนู E-Filing ยื่นแบบแบบทุกประเภท
- สำหรับใครที่เพิ่งยื่นครั้งแรก ให้เลือก สมัครสมาชิก และกรอกข้อมูลส่วนตัวเข้าสู่ระบบก่อน
ข้อมูลผู้มีเงินได้
- สำหรับพนักงานเงินเดือน เลือกเมนู ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91
- สำหรับเจ้าของธุรกิจ เลือกเมนู ยื่นแบบ ภ.ง.ด 94
ข้อมูลเงินได้
กรอกข้อมูลรายได้ตามความจริง แบ่งตามประเภทเงินได้ให้ครบถ้วน หากมีรายได้มากกว่า 1 ทาง ให้กรอกตามแหล่งที่มาของรายได้ตามที่ได้รับเป็นรายได้ต่อปีเป็นจำนวนเต็ม รวมถึงยอดหักภาษี ณ ที่จ่าย
ค่าลดหย่อน
ระบุค่าลดหย่อนที่สามารถใช้สิทธิได้ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ค่าลดหย่อนประกันสังคม (แนะนำให้ตรวจสอบก่อนว่าลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเท่าไร ปกติสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท) และค่าลดหย่อน RMF/SSF
ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
หลังจากกรอกข้อมูลแล้ว ระบบจะสรุปข้อมูลเงินได้ทั้งหมดที่ได้ พร้อมหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ ทั้งหมด ออกมาเป็นเงินได้สุทธิ เพื่อนำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป
และจะสรุปยอดภาษีที่ต้องชำระไว้ท้ายสุด หากมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้บ้างแล้ว ระบบจะนำมาหักลบออก จึงจะเป็นยอดสุทธิว่าต้องจ่ายเพิ่ม (สามารถเลือกวิธีชำระเงิน เช่น Internet Banking, QR Code หรือชำระที่ธนาคาร) หรือจ่ายไว้เกิน และสามารถขอเงินคืนภาษีส่วนนี้ได้
เกณฑ์กำหนดการเสียภาษีแบบขั้นบันได
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี | ภาษีเงินได้สูงสุดในแต่ละขั้น (บาท) | ภาษีเงินได้สะสมสูงสุดในแต่ละขั้น |
ไม่เกิน 150,000 บาท | ได้รับการยกเว้นภาษี | 0 | 0 |
150,001 – 300,000 บาท | 5% | 7,500 | 7,500 |
300,001 – 500,000 บาท | 10% | 20,000 | 27,500 |
500,001 – 750,000 บาท | 15% | 37,500 | 65,000 |
750,001 – 1,000,000 บาท | 20% | 50,000 | 115,000 |
1,000,001 – 2,000,000 บาท | 25% | 250,000 | 365,000 |
2,000,001 – 5,000,000 บาท | 30% | 900,000 | 1,265,000 |
5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% | – | – |
*เงินได้สุทธิ = รายได้ต่อปี – (ค่าใช้จ่าย+ค่าลดหย่อน)
ยืนยันข้อมูล
หลังจากตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้กด บันทึกร่าง พิมพ์แบบ หรือ ยืนยัน ได้เลย สำหรับกรณีที่ต้องการขอคืนภาษี ให้เลือก ต้องการขอคืน และเมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนแล้วให้ดาวน์โหลดเอกสารภาษีเก็บเอาไว้เป็นหลักฐาน
สะดวกกว่าเดิมด้วย D-MyTax
เป็นระบบที่รวมบริการด้านภาษีไว้ที่เดียว (One Portal) ในการจัดเตรียมข้อมูลการยื่นแบบฯ ระบบ e-filing ผ่านการยืนยันตัวตนเพียงครั้งเดียว ก็เข้าถึงบริการภาษีทั้งหมด ไม่ว่าจะข้อมูล รายได้ ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ก็จะมีสรุปไว้ให้ แต่ทั้งนี้ก็อาจไม่ครบ 100% จึงต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนนำไปยื่นแบบ
คงพอจะเห็นภาพแล้วว่า การยื่นภาษีออนไลน์ ช่วยลดความยุ่งยาก และประหยัดเวลาได้มาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องตรวจสอบข้อมูล และเอกสารต่าง ๆ ให้ถูกต้องก่อนยื่น รวมถึงขอบเขตเวลาในการยื่น เพื่อป้องกันปัญหาการยื่นล่าช้า และที่สำคัญควรมีการวางแผนภาษีแต่เนิ่น ๆ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ก็สามารถติดต่อกรมสรรพากรที่เบอร์ 1161 หรือเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์กรมสรรพากร