สรรพากร รู้รายได้เราได้อย่างไร? ไขข้อสงสัยก่อนโดนภาษีย้อนหลัง
หลาย ๆ ครั้งที่เราเห็นข่าวการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังครั้งละหลักแสน หรือล้านบาท ก็คงสงสัยกันไม่น้อยว่า สรรพากร รู้รายได้เราได้อย่างไร? ไม่ว่าจะคนนั้นไม่รู้ว่าต้องเสียภาษีเมื่อใด หรือผู้ที่ตั้งใจหลบเลี่ยงจริง ๆ ทางสรรพากรก็มีข้อมูลทั้งหมด ในวันนี้เราจึงจะพาไปหาคำตอบว่า กรมสรรพากรตรวจสอบรายได้ของเราจากที่ไหนบ้าง
สรรพากร รู้รายได้เราได้อย่างไร?
-
ธนาคาร
กรมสรรพากรมี MOU กับธนาคารพาณิชย์ ในประเทศไทย ทำให้สามารถขอข้อมูลรายการเดินบัญชี (statement) ของผู้ที่เข้าเงื่อนไขได้ หากพบความผิดปกติ เช่น มีเงินเข้าออกบัญชีจำนวนมาก แต่ไม่เคยยื่นภาษีเลย หรือยอดเงินไม่สอดคล้องกับที่แจ้งไว้ในการยื่นภาษี ก็อาจถูกสุ่มตรวจสอบ
-
บริษัท / ผู้ว่าจ้าง (ฟรีแลนซ์)
ทุกบริษัทที่มีลูกจ้าง จะต้องส่งแบบ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.1ก หรือ ภ.ง.ด.1กพ. ให้กับกรมสรรพากร เพื่อรายงานเงินเดือน และค่าจ้างที่จ่ายให้กับพนักงาน ดังนั้นหากเป็นพนักงานประจำ รายได้ของคุณจะอยู่ในระบบของสรรพากรทั้งหมด
สำหรับฟรีแลนซ์ หรือผู้ที่รับงานจ้างเป็นครั้งคราว นายจ้างจะต้องทำหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% และออกเอกสารหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้ ซึ่งเอกสารเหล่านี้นายจ้างต้องส่งรายงานให้กรมสรรพากรด้วย ทำให้ข้อมูลรายได้ของคุณเข้าสู่ระบบเช่นกัน
-
แพลตฟอร์มออนไลน์
ผู้ขายของออนไลน์ที่รับเงินผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น
-
- โอนผ่านบัญชี
- เก็บเงินปลายทาง (COD)
- รับเงินผ่านแอปฯ e-Wallet
- ใช้ระบบรับเงินของแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Shopee, Lazada
หากมีรายรับเข้าบัญชีจำนวนมากผิดปกติ อาจถูกจับตา โดยเฉพาะถ้ามีการเคลื่อนไหวเกินเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด เช่น
-
- มีเงินฝากเข้าบัญชีมากกว่า 3,000 ครั้งต่อปี
- มียอดโอนรวมเกิน 400 ครั้ง และเกิน 2 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ธนาคารต้องส่งให้สรรพากรตาม พ.ร.บ. การรายงานข้อมูลบัญชี
-
การแจ้งเบาะแส
บางกรณีที่มีการร้องเรียน หรือมีผู้ให้ข้อมูลกับกรมสรรพากรผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th (ที่เมนู การแจ้งเบาะแส/ข้อมูลแหล่งภาษี) ว่าใครบางคนมีรายได้แต่ไม่เสียภาษี สรรพากรสามารถใช้ข้อมูลนี้ในการตรวจสอบเชิงลึก และหากพบว่ามีรายได้จริง อาจถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง พร้อมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม
ทำไมต้องยื่นภาษีทุกปี แม้รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสีย?
- เพื่อไม่ให้โดนภาษีย้อนหลัง ซึ่งอาจมีค่าปรับ และดอกเบี้ยสูงถึง 1.5% ต่อเดือน
- การยื่นภาษีอย่างถูกต้องช่วยให้มีเครดิตทางการเงินที่ดี และมีส่วนช่วยให้ยื่นขอกู้บ้าน กู้รถ หรือขอวีซ่าต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ได้ เช่น เบี้ยประกันชีวิต กองทุน ค่าเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ
คงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่าสรรพากร รู้รายได้เราได้อย่างไร? ดังนั้นหากคุณมีรายได้ ไม่ว่าจะจากงานประจำหรือ งานเสริม รับจ้าง ฟรีแลนซ์ต่าง ๆ ก็ควรเริ่มจัดการวางแผนภาษีให้ถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ แม้ว่ารายได้รวมทั้งปีจะยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ตาม การแจ้งรายได้ตั้งแต่แรกจะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาภาษีย้อนหลังในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันมีตัวช่วยวางแผนภาษีมากมาย ไม่ว่าจะเว็บธนาคาร หรือแอปพลิเคชัน iTAX เป็นต้น