ทำไมยิ่งเงินเดือนเยอะ ยิ่งไม่พอใช้ ต้องแก้ยังไงดี?
เราทุกคนล้วนทำงานหนักเพื่อให้มีชีวิตที่สุขสบาย ใช้จ่ายได้แบบไร้กังวล โดยปกติแล้วเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น เงินเดือนเพิ่ม ได้เลื่อนตำแหน่ง ก็จะเข้าใจกันว่าจะมีชีวิตที่สบายขึ้นอย่างแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้วหลาย ๆ คนยังคงประสบปัญหาเงินไม่พอใช้เหมือนเดิม แม้รายได้เพิ่มขึ้นเยอะเมื่อเทียบกับตอนเริ่มงานใหม่ ๆ ในวันนี้เราจะพาไปดูบทวิเคราะห์ว่า ทำไมยิ่งเงินเดือนเยอะ ยิ่งไม่พอใช้ ต้องแก้ยังไงดี? และหาความมั่นคงทางการเงินได้อย่างแท้จริง
เงินเดือนขึ้น = ไลฟ์สไตล์ก็ขึ้น
หนึ่งในเหตุผลที่พบบ่อยมากคือ Lifestyle Inflation หรือการใช้จ่ายที่ขยับสูงขึ้นตามรายได้ ซึ่งมีรายได้เพิ่มก็จริง แต่รายจ่ายก็พุ่งตามจนไม่มีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือน เช่น
- ได้เงินเดือนเพิ่ม เปลี่ยนรถใหม่
- ได้โบนัส ซื้อของหรูรางวัลชีวิต
- ย้ายจากคอนโดกลางเมืองไปบ้านเดี่ยวหรู
- ไปเที่ยวต่างประเทศทุกไตรมาส
ใช้ก่อน วางแผนทีหลัง
การมีรายได้สูงอาจทำให้รู้สึกมั่นใจเกินไปจนนำไปสู่การใช้จ่ายล่วงหน้าไม่ว่าจะด้วยบัตรเครดิต สินเชื่อ หรือการช้อปแบบ PayLater โดยไม่วางแผนการเงินล่วงหน้า และบวกกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่สูงขึ้น ก็อาจนำไปสู่การรูดบัตรเครดิตเต็มวงเงินทุกเดือน โดยไม่ได้สนใจว่าจะผ่อนไหวหรือไม่ ทำให้แทบไม่เหลือเงินออมนั่นเอง
ปัจจัยด้านจิตวิทยา
ภาวะที่รู้สึกว่าตัวเองยังไม่รวยพอ แม้จะมีเงินมากกว่าคนทั่วไป หรือมีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประชาชนทั้วประเทศ สาเหตุหลักมักมาจากการนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนที่ดูรวยกว่าในโซเชียล
หรืออาจเครียดเรื่องเงิน ปัญหาชีวิตต่าง ๆ เลยใช้เงินเยอะขึ้นเพื่อปลอบใจตัวเอง เช่น ไปช้อปปิ้ง ซื้อของแพงให้รางวัลตัวเอง เที่ยวแบบจัดเต็ม แม้จะไม่มีเงินเก็บออมเลยก็ตาม
เงินเดือนเยอะขึ้น แต่ยังไม่พอใช้ ต้องแก้ยังไงดี?
1.ตั้งเป้าหมายการเงินให้ชัด
- เงินสำรองฉุกเฉิน 6 เดือน
- เก็บเงินดาวน์บ้าน
- ลงทุนเพื่อเกษียณ
- เป้าหมายชัด = ใช้เงินมีวินัย
2.ใช้สูตร 50/30/20 หรือวิธีออมแบบอื่น
- 50% รายจ่ายจำเป็น
- 30% ไลฟ์สไตล์
- 20% ออม และลงทุน
หรือถ้าอยากเก็บเงินให้มากขึ้น ลองใช้ออมก่อนใช้ (Pay Yourself First) เช่น โอน 30% ของเงินเดือนเข้าบัญชีเก็บทันทีทุกเดือน แล้วใช้เงินที่เหลือ
3.ฝึกกฎ 1% หรือ Treat Yourself Tax
- กฎ 1%: ถ้าจะซื้อของชิ้นใหญ่เกิน 1% ของรายได้ต่อปี ให้รอ 24 ชม.ก่อนซื้อ
- Treat Yourself Tax: ถ้าซื้อของฟุ่มเฟือย เช่น เสื้อแบรนด์เนมหรือกาแฟหรู ให้โอนเงินเท่ากันเข้าบัญชีออมเงินด้วย เพื่อเตือนใจให้คิดก่อนใช้
4.ติดตามค่าใช้จ่าย และปรับงบทุก 3–6 เดือน
ดูว่าแต่ละเดือนใช้จ่ายกับอะไรบ้าง สิ่งไหนฟุ่มเฟือยโดยไม่รู้ตัวแล้วค่อย ๆ ปรับ เช่น
- ลดอาหารเดลิเวอรี
- ยกเลิก subscription บริการที่ไม่ค่อยได้ใช้
- เลี่ยงการซื้อของตามกระแส
5.ปรึกษานักวางแผนการเงิน
หากมีรายได้ระดับกลางถึงสูง (เช่น 80,000+ ต่อเดือน) เริ่มมีภาษี หรือการลงทุนที่ซับซ้อน การขอคำปรึกษานักวางแผนการเงิน จะช่วยให้คุณจัดการเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับบางคนเงินเดือนเยอะก็ยังไม่ใช่คำตอบของความมั่นคงทางการเงินเสมอไป ไม่ว่าจะรายได้น้อยหรือมาก หากไม่มีวินัยทางการเงิน และรู้เท่าทันตัวเอง ก็อาจไร้เงินเก็บ ไปจนถึงมีหนี้ติดตัวมากได้ ความรวยที่แท้จริงนั้นคือการมีเงินเก็บ พร้อมรับมือทุกสถานการณ์เศรษฐกิจ และมีอิสระทางการเงินมากกว่า