ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เดินทางมาถึงจุดที่อินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือสามารถเชื่อมต่อเข้ากับเทคโนโลยีทางอื่นๆได้อย่างลงตัว กิจกรรมทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ กำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากนวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของคนในยุคไอที ถึงขนาดที่ ‘บิลเกตส์’ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ ฟันธงว่า ภายในอีก 15 ปีข้างหน้า ผู้คนประมาณ 2,000 ล้านคน ที่ทั้งที่มีและไม่มีบัญชีธนาคาร จะเปลี่ยนไปทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแทน
ขณะที่ Jamie Dimon (CEO ของ JP Morgan ยักษ์ใหญ่ในวงการการเงินและธนาคารของสหรัฐอเมริกา) ออกโรงเตือนพันธมิตรทางการค้า ให้คอยจับตาดูทิศทาง และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่บริษัทคู่แข่งนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างใกล้ชิด สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่านับแต่นี้เป็นต้นไป การแข่งขันทางด้านแนวคิดในการให้บริการได้เปิดฉากขึ้นแล้ว อยู่ที่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ หรือช่วงชิงความได้เปรียบก่อน
สำหรับในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เราได้เห็นการนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่ทางฝ่ายผู้ให้บริการโทรศัพมือถือ งัดกลยุทธ์ของแต่ละค่าย ออกมาแข่งขันกันเพื่อชิงความเป็นผู้นำ ในตลาด Mobile Banking อันมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง กับส่วนแบ่งทางการตลาดของการให้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดอยู่แล้ว
เริ่มต้นจากขาใหญ่ AIS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในยุคแรกเริ่ม ในชื่อของ mPAY ให้บริการแก่ลูกค้าที่ใช่ SIM ของ AIS ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือในยุคแรก มาปีนี้(2558) AIS จับมือกับ CIMB ไทย เปิดตัว “Beat Banking” ซึ่งนอกจากจะเพิ่มช่องทางการให้บริการทางการเงินที่หลากหลายยิ่งขึ้นแล้ว จุดเด่นที่ AIS นำเสนอคือ บัญชีเงินฝากอิเล็กทรอนิกส์ (Beat Savings) ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง คำนวณดอกเบี้ยเป็นรายวัน และจ่ายดอกเบี้ยให้ทุกเดือน เมื่อนำมารวมเข้ากับระบบการทำธุรกรรมของ mPAY ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรม จ่าย-โอน-ถอน และบริการอื่นๆ ผ่าน mPAY Application ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นที่น่าจับตามองกันต่อไปว่า Beat Banking จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ในการให้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือภายในประเทศไทยได้หรือไม่
มาถึงคู่แข่งอย่าง DTAC ที่ก่อนหน้านี้เปิดให้บริการ ATM SIM แก่ลูกค้า DTAC ที่มีบัญชีของ ธนาคารกสิกรไทย แต่กลับไม่ค่อยติดหูผู้ใช้บริการสักเท่าไหร่ เพราะนอกจากจะต้องเปลี่ยนมาใช้ ATM SIM แล้ว ยังให้บริการแค่ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น จึงมีผู้ใช้บริการอยู่ในวงแคบ
มาถึงปีนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ AIS เปิดตัว Beat Banking ทาง DTAC ได้เปิดตัว “แจ๋ว” ให้บริการ การทำธุรกรรมทางการเงิน เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจง คือกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตามต่างจังหวัด โดยมีจุดให้บริการ “แจ๋ว” ครอบคลุมทุกตำบลในประเทศไทย เน้นให้บริการกลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร รวมไปถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย สามารถรับเงินโอนเงินได้ โดยใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชน และโทรศัพท์มือถือ แค่มีบัตรประชาชน นำไปยื่นที่ตัวแทนแจ๋ว สาขาไหนก็ได้ใกล้บ้าน พร้อมแจ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือ ก็สามารถใช้บริการได้ทันที
หลังจากเปิดให้บริการ “แจ๋ว” ได้ไม่นาน DTAC ได้เสริมความคล่องตัวให้กับบริการแจ๋ว โดยการจับมือกับ ธนาคารกรุงไทย เพื่อขยายช่องทางการให้บริการแก่ลูกค้า ทำให้บริการแจ๋วครอบคลุม และทั่วถึงยิ่งขึ้น ทั้งผ่านจุดให้บริการของตัวแทนแจ๋ว และผ่านตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศ ถ้าหาก DTAC สามารถจับกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดที่มีค่อนข้างมากได้อย่างเหนียวแน่นแล้ว จะถือเป็นจุดแข็ง ที่คู่แข่งรายอื่นๆ ต้องเหนื่อยไปตามๆกัน
ผู้ให้บริการรายสุดท้ายอย่าง TRUEMOVE เจ้าของบริการทางการเงินที่ค่อนข้างติดหูอย่าง ‘True Money’ ให้บริการทางการเงิน ทั้ง เติม-จ่าย-โอน-ถอน แก่ลูกค้าในระบบ ที่ถือว่าสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและง่ายดาย ถึงแม้ว่าปีนี้ทรูมูฟยังไม่มีบริการใหม่ออกมาปะทะกับคู่แข่ง อย่าง ‘Beat Banking’ หรือ ‘แจ๋ว’ แต่ก็ต้องถือว่าทรูมูฟ เป็นผู้ให้บริการที่มีเครือข่ายพันธมิตรค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริษัทร่วมในเครือซีพีด้วยกัน อย่าง 7-Eleven ถือเป็นจุดให้บริการที่ครอบคลุมที่สุด และมีมากที่สุดในประเทศไทย 7-Eleven จะถือเป็นจุดแข็งอีกจุดหนึ่งของทรูมูฟ ในการให้บริการ Mobile Banking ในอนาคต
ศึกครั้งนี้ถือว่าเป็นศึกใหญ่ที่เพิ่งจะเริ่มต้น และต้องจับตาดูกันอีกยาว ผู้ให้บริการทั้งสามรายต่างก็มีจุดแข็ง และกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน แต่สุดท้าย เป้าหมายเดียวกัน คือช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด แต่ครั้งนี้ กลยุทธ์ที่นำมาใช้ดูจะน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยเพราะว่าผู้ชนะในศึกครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะได้ส่วนแบ่งผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่อาจจะหมายถึงการก้าวขึ้นมาเป็น ผู้นำด้านการเงิน การธนาคาร ในโลกยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย