ปัจจุบันมีมิจฉาชีพมากมาย ที่เข้ามาหากินในประเทศไทยโดยการขโมยข้อมูลใน บัตรกดเงินสด ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บัตรเครดิต ,บัตรเอทีเอ็ม,และธุรกรรมทางการเงินอื่นๆอีกมากมาย ทำให้เราต้องปรับตัวให้รู้เท่าทันกลุ่มคนประเภทนี้อยู่เสมอ ซึ่งวิธีป้องกันที่จะกล่าวถึงในวันนี้ ล้วนเป็นวิธีง่ายๆที่สามารถปฏิบัติตามได้ไม่ยาก
1. เลือกระบบรักษาความปลอดภัยของบัตร
ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีบัตรอยู่สองชนิด คือประเภทเก็บข้อมูลด้วยแถบแม่เหล็กสีดำ และ ประเภทระบบชิพ ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ มีความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลแตกต่างกัน แบบที่ใช้แถบแม่เหล็กจะเป็นระบบเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลเจ้าของบัตรในยุคแรกๆ ซึ่งการเก็บข้อมูลในรูปแบบนี้มีความปลอดภัยสูงในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ถือว่ารัดกุมมากเท่ากับ ระบบชิพ ซึ่งหากคนที่มีความรู้ในการถอดรหัสก็สามารถที่จะขโมยบัตรไปใช้สร้างความเดือดร้อนให้กับเราได้อยู่ดี
ระบบชิพเก็บข้อมูล จะมีโปรแกรมการป้องกันสูงกว่า สามารถขโมยข้อมูลได้ยากกว่า เพราะถือว่าเป็นเสมือนตู้เซฟที่มีการป้องกันมากมายหลายชั้น กว่าจะแฮ็กข้อมูลเข้าไปดูดเงินจากบัตรคุณได้ ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรค่ะ เมื่อถึงเวลานั้นคุณอาจจะยกเลิกบัตรไปแล้วก็ได้ ซึ่งก็จะทำให้เงินของคุณมีความปลอดภัยสูงมากทีเดียว
2. ตรวจสอบความปลอดภัยบนตู้กดเงินสด
มิจฉาชีพเหล่านี้มักจะทำการติดตั้งอุปกรณ์อ่านข้อมูลตามตู้กดเงินสดทั่วไป หลักการทำงานของเครื่องเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการคล้ายๆกันก็คือ ลอกข้อมูลทั้งหมดจากบัตรเข้าในไปเก็บข้อมูลภายในเครื่อง แล้วหลังจากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้ ไปบรรจุลงบัตรอีกใบ ตั้งรหัสเดียวกันกับคุณ แล้วนำมาตระเวนกดเงินของคุณไปใช้จ่ายอย่างสบายใจ ซึ่งบางคนรู้จักในนาม บัตรคู่ขนาน นั่นเอง
คุณอาจมีคำถามว่าพวกเขาลอกข้อมูลออกไปได้อย่างไร ในเมื่อมีระบบป้องกันภายในบัตร อธิบายง่ายๆว่า บัตรของคุณคือตู้เซฟเก็บข้อมูล รหัสบัตรคือกุญแจเซฟ ทันทีที่คุณสอดบัตรเข้าตู้เอทีเอ็มที่มีเครื่องเหล่านี้ติดตั้งอยู่ แล้วกดรหัส ก็เท่ากับคุณได้ยื่นกุญแจให้โจรเปิดตู้เซฟของคุณเองไปแล้วโดยไม่รู้ตัว ดูน่ากลัวมากเลยใช่ไหมล่ะแถมเรายังระวังได้ยากอีกด้วย เอาเป็นว่าก่อนใช้บัตรทุกครั้งก็ต้องระมัดระวังให้มากหน่อยล่ะนะ
เครื่องอ่านข้อมูลที่ว่านี้ มักจะมีลักษณะยื่นออกมาผิดปกติ เหมือนฝาครอบที่มาครอบทับช่องเสียบบัตรไว้อีกทีหนึ่ง สังเกตจากรอยต่อที่จะดูไม่แนบเนียนสักเท่าไหร่นัก เพราะถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ติดมากับตู้กดเอทีเอ็มตั้งแต่แรก จะไม่มีรอยต่อใดๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วที่ตู้เอทีเอ็มจะมีกล้องวงจรปิดซึ่งจะทำให้มิจฉาชีพทำงานได้ลำบาก แต่อย่างไรก็ควรระวังไว้ก่อนจะดีที่สุดๆ เพราะอะไรๆ ก็มักจะมีช่องโหว่เสมอ
3. ตั้งบริการ SMS เตือนทุกครั้งที่มีเงินเข้า-ออก
อย่าเสียดายกับค่าบริการรายเดือนรายปีของบริการประเภทนี้ เพราะถือว่าเป็นบริการที่ดีเลิศ และมีระบบความปลอดภัยที่ดีมาก ทำให้คุณได้รับรู้ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวบัญชี โดยไม่ต้องเสียเวลาไปต่อคิวอัพข้อมูลในสมุดบัญชี หรือทดลองกดดูอยู่เรื่อยๆ ค่าบริการแค่เดือนละไม่กี่บาทกับความปลอดภัยของบัญชีเงินฝากของคุณ นับว่าคุ้มมากทีเดียวเลยนะคะ เดี๋ยวนี้ธนาคารส่วนใหญ่เขาก็มีบริการ sms กันแล้วทั้งนั้น ลงใช้บริการกันดูนะ
เมื่อมีมิจฉาชีพหรือใครสักคนมาแอบถอนเงินของคุณออกไป SMS จะรีบส่งข้อมูลให้คุณได้รับรู้ภายในเวลาไม่กี่วินาที คุณสามารถแก้ปัญหาได้ง่ายๆ โดยการโทรแจ้งทางธนาคาร และให้ทางธนาคารช่วยบริการสืบหาข้อมูลของคนร้าย เช่น พิกัดสถานที่ที่ทำการกดเงิน และภาพคนร้ายจากกล้องวงจรปิดตามตู้เอทีเอ็ม เป็นต้น
นอกจากนี้ บริการในรูปแบบนี้ยังนิยมในหมู่พ่อค้าและแม่ค้าออนไลน์ เพราะสะดวกในการเช็คยอดเงินโอนจากลูกค้าอีกด้วย ใครที่คิดจะทำการตลาดออนไลน์ลองใช้ระบบนี้กันดูนะ
4. อย่าหลงเชื่อ Call Center จอมปลอม
มิจฉาชีพบางกลุ่มใช้วิธีหากินง่ายๆ โดยใช้วิธีกว้านซื้อข้อมูลลูกค้าธนาคาร แล้วโทรไปตามเบอร์ที่ระบุไว้หน้าบัญชี แจ้งว่าคุณมียอดเงินค้างชำระ ที่ต้องรีบชำระให้หมดก่อนหมายศาลจะมา
มิจฉาชีพพวกนี้จะแอบอ้างธนาคารชื่อดัง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้น ทันทีที่คุณได้รับโทรศัพท์ที่แอบอ้างอะไรประเภทนี้ ควรตอบบ่ายเบี่ยง และแอบเก็บข้อมูลคนร้ายไว้ เพื่อนำไปแจ้งกับธนาคารตัวจริงให้ดำเนินการตามกฏหมายต่อไป
ซึ่งวิธีการชำระเงินคืนที่ว่านั้นก็คือ ให้ลูกค้าไปที่ตู้กดเงินสด แล้วทำรายกรโอนเงินตามคำบอก โดยให้กดเลือกเป็นภาษาอื่นๆที่ไม่ใช่ไทยและอังกฤษ ซึ่งถ้าใครรู้ไม่เท่าทันก็จะทำตามจนจบขั้นตอน ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า คุณได้ทำการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพไปเรียบร้อยแล้ว
หวังว่าข้อมูลเหล่านี้คงเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่าน และช่วยเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ บัตรกดเงินสด ประเภทต่างๆได้ไม่มากก็น้อย ขอแค่มีสติทุกครั้งที่ใช้บัตรทุกประเภท และศึกษาข้อมูลไว้มากๆ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองในอนาคต นอกจากนี้เวลากดเงินจากตู้ เอทีเอ็มทุกครั้ง ควรระวังเวลากดรหัสให้ดี