เงินทองเป็นของนอกกาย ที่เมื่อ เข้าใคร แล้วจะไม่ยอมออกง่ายๆ คำพูดนี้ที่มักยกขึ้นมาพูดกันเล่นๆ ในวงสนทนา แต่ใครจะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว มันแฝงความจริงบางอย่างไว้ในนั้น ความไว้ใจ เชื่อใจ และใจอ่อน นำมาซึ่งหายนะของหลายต่อหลายคน โดยไม่รู้ตัว
ตัวอย่างที่จะหยิบยกมาคุยกันวันนี้ คือ การยินยอมทำสัญญาเป็นผู้ ค้ำประกัน ให้กับคนที่ไว้ใจ โดยที่ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “ค้ำประกัน” วันนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลการ ค้ำประกัน เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการเลือกรับหรือปฏิเสธอย่างมีเหตุผล
ค้ำประกัน อะไรได้บ้าง
ค้ำประกัน คือ การที่ใครคนหนึ่งทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่า ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดได้ หลายคนสงสัยว่า ทำไมต้องค้ำประกัน การมีผู้ค้ำประกัน จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้ เช่น ลูกหนี้มีหลักทรัพย์หรือกำลังในการผ่อนซื้อรถไม่มากพอ จึงต้องมีบุคคลอีกคน เข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมั่น (ช่วยใช้หนีในกรณีลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้)ให้กับเจ้าหนี้ในการอนุมัติสินเชื่อรถให้ผ่านได้ง่ายขึ้น ในการทำสัญญาค้ำประกันสามารถทำได้หลายประเภท เช่น
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ คุณสมบัติของผู้ค้ำประกัน คือ อายุ 20-60 ปี / มีที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง /ไม่ติดแบลกลิสต์ หรือเครดิตบูโร บางแห่งอาจจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมมากกว่านี้แล้วแต่กรณี จะเห็นว่าด้วยคุณสมบัติง่ายๆ เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถเป็นผู้ค้ำประกันรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ให้ใครๆ ได้แล้ว
- เงินกู้ เพื่อซื้อบ้าน ในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกันเสมอไป การใช้คนค้ำประกันจะมีอยู่ไม่กี่กรณี ดังนี้
- ผู้กู้จดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ สามารถให้คนไทยเป็นผู้กู้ และคู่สมรสเป็นผู้ค้ำประกัน
- กู้ในนามนิติบุคคล ให้ผู้จัดการผู้มีอำนาจลงนามเป็นคนค้ำประกัน แต่หลังโฉนดจะเป็นชื่อบริษัท
- กู้ในแบบธุรกิจครอบครัว ส่วนมากจะเป็นบริษัท ห้างร้านที่ไม่มีหนังสือรับรองเงินเดือน แต่มีการโอนเงินเดือนเข้าออกจากหลักฐานสมุดบัญชีธนาคารยืนยัน ทางธนาคารจะให้เจ้าของกิจการเป็นผู้ค้ำประกัน
- เงินกู้ เพื่อการลงทุน ปัจจุบันมีหลายสถาบันการเงินที่ให้บริการสินเชื่อ SME หรือสินเชื่อเพื่อการลงทุน แต่ละสถาบันก็จะมีคุณสมบัติและเงื่อนไขการขอกู้ที่แตกต่างกัน สินเชื่อบางธุรกิจก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ค้ำประกัน แต่จะใช้หลักทรัพย์ในการ ค้ำประกัน แทน แต่บางกิจการจำเป็นต้องใช้ผู้ค้ำประกันเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจให้กับธนาคาร ว่าหนี้จะไม่ศูนย์ บางธนาคารมีเงื่อนไขให้ผู้กู้ทำประกันสินเชื่อร่วมด้วย เป็นต้น
- การเข้าทำงาน ในการรับบุคคลเข้าทำงาน บางบริษัทอาจจำเป็นต้องให้มีผู้ค้ำประกัน สำหรับลูกจ้างใหม่ เพื่อร่วมชดใช้ความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นกับบริษัท เช่น อุปกรณ์สำนักงาน ลูกจ้างยักยอกเงิน หรือขโมยทรัพย์สิน เป็นต้น โดยมีข้อกำหนดในสัญญาค้ำประกันว่า ถ้าหากลูกจ้างได้ทำความเสียหายให้กับนายจ้างไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ผู้ค้ำประกันจะต้องยินยอมรับผิดชอบ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในวงเงินที่ตกลงกันในสัญญา และสัญญาค้ำประกัน จะมีผลตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานอยู่กับนายจ้าง
5 ข้อพึงระวัง ในการตัดสินใจค้ำประกัน
- ผู้ค้ำประกัน จะไม่จำกัดความรับผิดหรือจะจำกัดความรับผิดชอบของตนไว้ในสัญญาค้ำประกันด้วยก็ได้ ถ้าไม่ต้องการรับผิดอะไรบ้าง หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ก็ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วก็รับผิดเท่าที่จำกัดไว้
- บางกรณีเจ้าหนี้เอาเปรียบลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ในสัญญาสำเร็จรูป จะมีความว่า “ให้ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้” คือเป็นลูกหนี้ร่วมเท่ากับให้ผู้ค้ำประกันรับผิดหนักขึ้น ดังนั้นก่อนเซ็นสัญญาค้ำประกัน จึงต้องพิจารณาว่าจะยอมรับผิดเช่นนั้นหรือไม่ ถ้ายอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ก็ไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยง
- การเป็นผู้ค้ำประกันนั้นมีแต่เสีย ตามคำพังเพยที่ว่า เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง มีแต่เอากระดูกมาแขวนคอ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเซ็นชื่อในสัญญาค้ำประกัน
- พิจารณาตัวลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทนให้ดีว่ามีความสามารถชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้แค่ไหน และมีความซื่อสัตย์สุจริตเพียงใด
- พิจารณาข้อความในสัญญาให้รอบคอบ เมื่อเข้าใจข้อความในสัญญาดีแล้วจึงค่อยลงชื่อในสัญญาค้ำประกัน
ถ้าเพื่อนหนีหนี้ ผู้ ค้ำประกัน จะเป็นยังไง
- เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องทั้งลูกหนี้และผู้ค้ำประกันพร้อมกันได้เลย หรือจะเลือกฟ้องลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวก็ได้ เมื่อชนะคดีก็สามารถบังคับใครให้จ่ายหนี้ให้ได้
- ถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สิน ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นผู้ชดใช้แทน แต่ผู้ค้ำประกันสามารถฟ้องยึดทรัพย์ภายหลังได้เมื่อเห็นว่าลูกหนี้มีทรัพย์ซ่อนเร้นอยู่
ประโยชน์ที่ได้จากการค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกันไม่ได้ประโยชน์อะไรตอบแทนเลย ในทางตรงข้าม เจ้าหนี้ กลับได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว คือถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว อย่างน้อยก็มีผู้ ค้ำประกัน อีกคนที่จะต้องชดใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันมักจะได้แค่คำสรรเสริญเยินยอจากลูกหนี้อย่างเดียวเท่านั้น
ดังนั้น คิดให้ดี ดูให้แน่ ศึกษาก่อนเซนต์ จะได้ไม่ต้องลำบากใจภายหลัง เพียงเพื่อคำว่า “เซนต์ ค้ำประกัน ด้วยความเกรงใจ”
อ้างอิง : www.ThaiLaws.com