บัตรกดเงินสดที่หลายคนมักคิดว่าคือบัตรเครดิต ในความเป็นจริงนั้นแตกต่างกัน บัตรเครดิต คือบัตรที่ใช้สำหรับชำระสินค้าแทนเงินสด (Credit) ที่สถาบันการเงินจ่ายให้ก่อน จากนั้นเจ้าของบัตรเครดิตจึงนำเงินสดไปชำระค่าใช้จ่าย
แต่บัตรกดเงินสด หรือ สินเชื่อเงินสด คือ บัตรที่ธนาคารหรือผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) พิจารณาออกให้แก่ผู้ถือบัตร โดยจะมีวงเงินให้หรือเงินจำนวนสูงสุดที่ผู้ถือบัตรจะสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านทางตู้ ATM ได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องมีเงินฝากในบัญชี โดยทุกธนาคารหรือผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารจะมีบริการสินเชื่อประเภทนี้ไว้คอยบริการลูกค้าที่ต้องการเงินสดไปหมุนเวียนส่วนตัวหรือในธุรกิจ
เงื่อนไขการพิจารณา
- อนุมัติวงเงินจะเป็นการกำหนดรายได้ประจำ ขั้นต่ำไว้ที่ 8,000 – 15,000 บาท ขึ้นไป
- อายุงานที่ทำไม่น้อยกว่า 3 – 6 เดือน
- มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อได้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน
- เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายน้อย หรือธุรกิจส่วนตัวที่ไม่เข้าเงื่อนไขต่อการทำบัตรเครดิต
ข้อดีของการมีบัตรกดเงินสด คือ
- ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี
- ฟรีค่าธรรมเนียมในการเบิกเงินสดล่วงหน้า (Cash Advance)
- สามารถทำการกดเงินสดผ่านตู้ ATM ทุกธนาคาร ตลอด 24 ชม.
- คิดดอกเบี้ยตามยอดที่ใช้จริง หากไม่เบิกใช้ไม่เสียดอกเบี้ย
- สามารถเลือกการชำระเงินตามที่ต้องการได้ เช่น การชำระคืนแบบเต็มจำนวน หรือชำระคืนขั้นต่ำ 3% – 5% ของยอดใช้จ่าย หรือ 500 บาทขึ้นไป
- สมัครง่าย อนุมัติเร็ว ไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน
ในขณะที่ความสะดวกในการกดเงินสดก็มีข้อเสียเช่นกัน คือ
- การไม่สามารถชำระคืนเต็มจำนวนเงิน จะต้องเจอกับดอกเบี้ยที่สูงมาก ตั้งแต่ 20% – 28% ต่อปี
- การกำหนดให้ชำระเงินคืนขั้นต่ำงวดเดือนละ 3% – 5% ของยอดหนี้คงค้างนั้น มีข้อเสียมากกว่าข้อดี เนื่องจากการชำระคืนด้วยจำนวนเงินน้อย หนี้คงค้างก็จะเหลือมาก และต้องเสียดอกเบี้ยคิดเป็นตัวเงินที่มากกว่าการรีบชำระหนี้ให้หมดในเวลาที่ปลอดดอกเบี้ย
ดังนั้น บัตรกดเงินสดจึงเหมาะกับผู้ที่จำเป็นต้องใช้เงินด่วน หรือไม่มีเงินสำรอง แต่มีเหตุอันฉุกเฉินต้องใช้เงินเท่านั้น ไม่ควร กดเงินสดจากบัตรกดเงินสดออกมาใช้จ่ายตามปกติ หรือซื้อสินค้า