กองทุนออมแห่งชาติ เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบแล้ว คาดว่ามีอยู่กว่า 30 ล้านคนได้ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ
กองทุนออมแห่งชาติ ที่จะมีการเริ่มรับสมัครในวันที่ 18 สิงหาคมนั้นดีและมีประโยชน์และกฎเกณฑ์อย่างไร
กองทุนออมแห่งชาติ นั้นมีการประกาศเรื่องมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ และหลายคนไม่สนใจเพราะคิดว่ามันไม่ต่างจากกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ หรือบางคนอยู่ในระบบนี้อยู่แล้ว ซึ่งจากข่าวที่มีการนำเสนอนั้นคือ
กองทุนออมแห่งชาติ เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบแล้วซึ่งคาดว่ามีอยู่กว่า 30 ล้านคนได้ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ โดยรัฐจะช่วยจ่ายสมทบให้ส่วนหนึ่ง และเมื่อผู้ออมมีอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือนตลอดชีพ ถือเป็นการสร้างหลักประกันให้กับชีวิตในยามที่ไม่มีรายได้ประจำ และเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยคิดคร่าวๆคือ
สมัครเข้าร่วม กองทุนออมแห่งชาติ และเริ่มออมเงินเดือนละ 1,000 บาท เท่าๆกันทุกเดือนไปเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น เริ่มออมเงินกับกองทุนออมแห่งชาติตั้งแต่ อายุ 20 ปี เมื่อเกษียณจะได้รับเงินบำนาญพร้อมเบี้ยเลี้ยงชีพ รวม 7,000 บาทเศษต่อเดือน หากเริ่มออมอายุ 30 ปี จะได้เงินบำนาญ 4,441 บาท เริ่มอายุ 40 ปีจะได้ 2,646 บาท เป็นต้น
โดยผู้สนใจจะสมัครเข้าร่วมกองทุนสามารถศึกษาตารางอัตราผลตอบแทนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับผู้ที่มีระยะเวลาหรือมีจำนวนเงินออมน้อย เช่น อายุ 50 ปี ออมเดือนละ 500 เมื่อคำนวณแล้วจะได้เพียง 455 บาท ซึ่งถือว่าต่ำเกินไป กองทุนออมแห่งชาติ จะใช้เงินกองทุนจ่ายสมทบให้เป็นเงินดำรงชีพเดือนละ 600 รวมกับ เบี้ยยังชีพเดือนละ 600 รวมรับเดือนละ 1,200 บาท จนกว่าเงินในบัญชีจะหมด จากนั้นก็ได้รับเพียงเบี้ยยังชีพ
เรื่องของกองทุนออมแห่งชาตินั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่น สมัครเข้ากองทุนออมแห่งชาติได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี รัฐบาลออกเงินสมทบเพิ่มให้ตามเกณฑ์ที่กำหนด และหากเป็นผู้มีรายได้ประจำจะต้องมีการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เงินสมทบอื่นๆรวมทั้งของกองทุนออมแห่งชาติที่ต่อปีต้องไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี ซึ่งรายละเอียดต่างๆนั้นต้องขอข้อมูลจากธนาคารที่กำหนดและรอการประกาศอย่างเป็นทางการ โดยน่าจะทราบแน่ชัดในเดือนสิงหาคมก่อนที่โครงการจะเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ที่จะถึงนี้
ซึ่งในขณะนี้ยังเป็นที่สงสัยว่าในการจ่ายเงินเมื่อครบกำหนดเกษียณอายุแล้วนั้น รัฐบาลจะให้เป็นรายเดือน หรือสามารถเลือกรับเงินก้อนได้ และหากทำตั้งแต่อายุ 15 เก็บออมไปเรื่อยๆจนทำงานได้ หากรับราชการจะหมดสิทธิอะไรไปหรือไม่ ซึ่งข้อสงสัยนี้คงต้องรอคำตอบกันต่อไป
แต่หากมองในมุมของคนที่ไม่มีอาชีพที่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือ คนที่ออกจากระบบนี้มาแล้วนั้นถือว่ามีประโยชน์พอสมควรโดยหากเริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อยสะสมไปเรื่อยๆจนครบอายุเกษียณ จะมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณเพียงพอกับการดำเนินชีวิตเลยทีเดียว
เพราะเชื่อว่าหากออมตั้งแต่ตอนนี้จะเป็นผลดี และหากทำตั้งแต่อายุยังน้อยเมื่อถึงวัยที่ไม่ได้ทำงานแล้วก็จะมีเงินออมไว้ใช้โดยไม่เดือดร้อนลูกหลาน นอกจากนี้บางคนอาจไม่ได้มีแค่กองทุนออมแห่งชาติ อาจะมีประกันสังคม หรือ การออมเงินรูปแบบอื่นๆอีกซึ่งจะยิ่งเป็นผลดี
และสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมเช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ การเข้าระบบกองทุนออมแห่งชาติจะส่งผลดีในวัยชรา และที่สำคัญคือสามารถออมได้ตั้งแต่ 50 บาท ซึ่งเหมาะกับเด็กนักเรียนที่อยากออมเงินกับ กองทุนออมแห่งชาติ เพราะสามารถเก็บเล็กผสมน้อยมาฝากได้ในทุกๆเดือน หรือหากผู้ปกครองจะสมทบเงินออมให้อีกก็จะดีมากยิ่งขึ้น และคนที่มีรายได้น้อยก็ออมน้อยได้แช่นกันและยังได้เงินสมทบจากรัฐบาลด้วย จึงนับได้ว่ากองทุนออมแห่งชาตินั้นให้ประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง