คำว่า เงิน หย่าร้าง และล้มละลาย นั้นดูเป็นคำ 3 คำที่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ก็ดูไม่น่าจะมาอยู่ด้วยกันเลยสักนิด เพราะนอกจากจะทำให้ความหมายโดยรวมดูแย่แล้ว ยังทำให้เราเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีอีกด้วย
แต่เราก็ยังพบคำ 3 คำนี้ได้ในบางสถานการณ์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ ลองมาดูตัวอย่างสถานการณ์ที่จะมีคำ 3 คำมาอยู่ด้วยกัน เช่น เหตุการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งกำลังจะล้มละลาย และมีคู่สมรสที่ต้องการฟ้องหย่า พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการแบ่งทรัพย์สินสมรส ซึ่งก็เป็นไปตามสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง ที่นี้เรามาดูกันดีกว่าว่าเราจะมีการป้องกันแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
1. ทำความรู้จักกับสัญญาก่อนแต่งงาน (Prenuptual Agreement)
สัญญาก่อนแต่งงานนั้นเป็นสิ่งที่เราพบเจอได้บ่อยๆในกลุ่มคนที่มีทรัพย์สินมาก หรือในปีหนึ่งสามารถสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล และต้องการทำข้อตกลงด้านทรัพย์สินเงินทองตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ในสัญญาจะมีการระบุถึงการแบ่งแยก และการสงวนรายได้และทรัพย์สินของตนจากอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นการวางแผนล่วงหน้าในกรณีที่อาจมีการหย่าร้างเกิดขึ้นนั่นเอง
ปกติสัญญาก่อนแต่งนี้จะต้องระบุด้วยว่ารายได้และทรัพย์สินของแต่ละคนจะคงสภาพเป็นสินส่วนตัว (separate property) ส่วนรายได้และทรัพย์สินที่เกิดขึ้นภายหลังจากแต่งงานตามกฎหมายที่จะถูกจัดเข้าเป็นสินร่วม (Community property) โดยอาจตกลงและระบุลงไปในสัญญาเลยว่า รายได้ส่วนใดบ้างที่ไม่มีการแบ่งสรร รายได้ส่วนใดมีการแบ่งสรร และมีเงื่อนไขในการแบ่งอย่างไรนั่นเอง จุดประสงค์ของการทำสัญญาก่อนแต่งงานก็เพื่อป้องกันปัญหาการแบ่งทรัพย์สินส่วนบุคคล และสินร่วมที่อาจจะเกิดขึ้นหลังสมรสอย่างไม่ลงตัวนั่นเอง
ปัจจุบันเริ่มมีการใช้สัญญาก่อนแต่งงานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่เพียงแต่คนที่มีทรัพย์สินเงินทองมหาศาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนทั่วไปอีกด้วยเนื่องจากอัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้นทุกปี การทำสัญญาก่อนแต่งงานจึงเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง การทำสัญญาแบบนี้อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของคู่สมรส เพราะเป็นการแสดงถึงความไม่เชื่อถือ ซ้ำยังคิดถึงกรณีที่มีการหย่าร้างกันล่วงหน้า
2. สร้างเครดิตของเราในชื่อของเรา
ไม่เพียงแต่เครดิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดทั้งในอดีตและปัจจุบัน ควรใช้ชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น เพราะหากมีปัญหาทางการเงิน ก็ยังมีอีกฝ่ายหนึ่งที่มีเครดิต และสถานะทางการเงินที่ดีกว่าอยู่ แต่ที่สำคัญคือหากเกิดการหย่าร้าง ทรัพย์สินทั้งหมดจะถูกแบ่งครึ่งไม่ว่าจะเป็นหนี้หรือเงิน ดังนั้นธุรกรรมทางการเงิน ไม่ควรนำไปรวมกับของคู่สมรส เพราะถึงแม้ว่าจะหย่าร้างกันแล้วก็ตาม แต่หนี้ที่เกิดขึ้นนั้นเรายังต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย แม้ว่าเราจะไม่เคยได้ดอกผลจากเงินนั้นเลยก็ตาม อีกทั้งยังอาจเกิดปัญหาในการแบ่งแยกทรัพย์สินอีกด้วย อย่าคิดว่าใช้ชีวิตร่วมกันแล้วจะต้องร่วมลงชื่อด้วยกันทั้งคู่ นั่นอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดในอนาคตได้
3. หากการเงินเริ่มไม่ดีเอามาก การล้มละลายก็เป็นทางออกที่ดี
นั่นเพราะการล้มละลายจะช่วยล้างหนี้สิน โดยเจ้าหนี้จะยึดเอาทรัพย์สินไปขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ ส่วนหนี้ที่ไม่หลักประกันใดจะถูกลบล้างจากระบบ สินทรัพย์บางชนิดถ้ามูลค่าไม่เกินที่กฎหมายกำหนดก็สามารถเก็บไว้ได้ บางครั้งในการฟ้องหย่าก็มีการยื่นขอล้มละลายพร้อมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่จะตามมาจากการหย่านั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกว่าสำหรับคนที่ต้องการตั้งต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง หลายคนอาจจะมองว่าการล้มละลายเป็นสิ่งที่แย่มาก แสดงถึงความล้มเหลวในชีวิตและทางการเงิน แต่ก็ใช่ว่าการล้มละลายจะเลวร้ายเสมอไป เพราะในบางกรณีการล้มละลายก็เป็นเหมือนการรีเซตใหม่ โดยเฉพาะในกรณีหย่าร้างนั่นเอง
ไม่มีใครหรอกที่อยากจะให้ความรักต้องจบลงด้วยการหย่า แต่เมื่อชีวิตคู่ไม่สามารถเดินต่อไปได้และจบลงในที่สุดก็ต้องยอมรับ แต่เรื่องที่จะต้องสะสางให้จบในตอนสุดท้ายก็คือค่าใช้จ่ายต่างๆนั่นเอง
ซึ่งในการหย่าร้างจะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่งหากทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ โดยเฉพาะการฟ้องหย่าในชั้นศาล หากคุณไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ การยื่นขอเป็นบุคคลล้มละลายก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเช่นกัน ทั้งนี้ต้องทบทวนให้ดีก่อนตัดสินใจ