ปัจจุบัน สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศเราเริ่มส่งสัญญาณที่ไม่ดีนัก สังเกตได้จากธุรกิจขนาดเล็กหลายประเภทที่เริ่มปิดตัวลง ดังนั้น นับประสาอะไรกับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ที่มีเพียงเงินเดือนหล่อเลี้ยงชีวิตไปในวันหนึ่งๆ ดังนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่เราจะปรับตัวให้เข้ากับสภาวการณ์ในปัจจุบัน บริหารค่าใช้จ่าย ตามวิธีต่างๆดังต่อไปนี้
1.ควบคุมค่าใช้จ่ายให้น้อยกว่ารายได้
วิธีคิดง่ายๆ คุณได้รับรายได้ต่อเดือนเท่าไหร่ ให้เอาจำนวนรายได้นั้นมาหักลบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน แล้วสรุปออกมาว่าได้ผลลัพท์เท่าไรบ้าง ซึ่งคำตอบจะมีอยู่ 3 รูปแบบคือ รายจ่ายน้อยกว่ารายได้ รายจ่ายเสมอกับรายได้ และรายจ่ายสูงกว่ารายได้
หากได้คำตอบตามแบบแรก ถือว่าคุณเป็นคนที่วางแผนควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี แต่ถ้าหากได้คำตอบแบบข้อสองและข้อสาม คุณต้องปรับลดพฤติกรรมในการใช้จ่ายลง จนกระทั่งมีเงินเหลือเก็บประมาณ 10% ของรายได้ที่ได้มา เมื่อทำเป็นประจำจะทำให้คุณมีเงินเก็บอย่างเหลือเฟือมากขึ้นแน่นอน
2.เลือกซื้อเฉพาะของที่จำเป็น
อะไรตัดได้ ควรตัด เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่คุณมีจนล้นตู้ แต่ก็ยังไม่วายซื้อเพิ่ม ลิปสติกที่มีครบ 12 สี ทั้งๆที่คุณมีแค่ปากเดียว และใช้อยู่สีเดียวแถมยังไม่เคยหมดแท่ง สุดท้ายก็หมดอายุและต้องกวาดทิ้งลงถังขยะ เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่าไม่จำเป็น แถมยังฟุ่มเฟือยอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เงินหมดไปโดยไม่รู้ตัว แถมไม่มีเงินเหลือเก็บอีกด้วย
ค่าใช้จ่ายจำเป็นส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากกว่า เช่นค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เหล่านี้เรียกว่าค่าใช้จ่ายจำเป็น อะไรที่ไม่ใช่ให้ตัดออก แล้วเก็บเงินไว้ในธนาคารก่อนเป็นการดีที่สุด หากอยากให้ของขวัญกับตัวเอง แนะนำว่าให้มีเงินเหลือใช้ก่อนดีกว่านะคะ
3.วัดคุณค่ากับมูลค่าก่อนซื้อสินค้าทุกครั้ง
คิดให้ดี คิดให้นาน ไม่ใช่ตัดสินใจซื้อแบบปุบปับเพียงเพราะว่าสินค้านั้นมีชื่อเสียง เพราะมันอาจไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปก็ได้ สินค้าบางตัว คุณภาพอาจอยู่ในระดับกลางๆ แต่บวกค่าโฆษณาเข้าไปด้วยทำให้สินค้านั้นมีราคาสูง การโฆษณาทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ข้อการันตี ว่าสินค้านั้นๆจะต้องมีคุณภาพที่ดีเยี่ยมเสมอไป บางครั้งสินค้าราคาแพงอาจไม่ได้มีคุณภาพสมราคาเสมอไป อย่างนี้ก็ต้องลองพิจารณากันดูนะคะ
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าทุกครั้ง คุณควรมีเวลาให้มาก ไม่ควรตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าตอนห้างใกล้ปิด เพราะ นั่นจะทำให้ช่วงเวลาในการตัดสินใจของคุณมีน้อยลง อาจนำไปสู่ความคิดที่ว่าซื้อๆไปเถอะ สุดท้ายแล้วสิ่งที่อุตส่าห์วางแผนมาก็เปล่าประโยชน์
4.ใช้เวลาในการเลือกซื้อสินค้า
สืบเนื่องมาจากข้อที่สาม เพราะเวลาคือตัวแปรสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่าย ควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจ ว่าคุ้มค่ากับราคาหรือไม่ จำเป็นที่จะต้องซื้อหรือยัง ไม่ใช่เห็นของลดราคาก็หยิบใส่รถเข็นไปเสียหมด ไม่ต้องกังวลว่าช่วงเวลาที่คุณต้องการซื้อมันจะไม่ลดอีก
5.ถามใจตัวเองให้แน่ชัด
สินค้าบางชิ้น มีความจำเป็นและไม่ได้ลดราคากันบ่อยๆ คุณอยากได้มันมาก แต่เราแนะนำให้ข่มใจไว้ แอบมองป้ายที่แจ้งระยะเวลาโปรโมชั่นในครั้งนี้ ถ้ายังมีเวลาเหลือ จงกลับมาคิดก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ ว่าควรซื้อเพื่ออะไร ซื้อมาทำไม ซื้อแล้วจะได้ใช้บ่อยแค่ไหน
ยกตัวอย่างกรณีของเตาอบยี่ห้อดัง ลดราคาจากป้าย 10,000 บาท เหลือเพียง 3,000 บาท เนื่องจากต้องการโละสต๊อกสินค้ารุ่นเก่า คุณควรถามตัวเองว่า ปัจจุบันคุณมีเวลาทำอาหารบ่อยแค่ไหน ซื้อมาแล้วจะทำเมนูอะไรได้บ้าง ถ้ามีแผนที่จะทำเบเกอรี่โฮมเมดขายเป็นอาชีพเสริม แบบนี้ควรซื้อ แต่หากคุณไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เลย เพียงแค่เห็นลดราคาเลยอยากได้มาเก็บไว้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะใช้อะไร แบบนี้ไม่ซื้อจะดีกว่านะ เอาเงินเก็บไว้ซื้อสิ่งของที่จำเป็นจะดีกว่า ถ้าคุณฝึกตัวเองแบบนี้ไปเรื่อยๆ คุณก็จะไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายที่เกินตัวอีกต่อไป