การเป็นมนุษย์เงินเดือนเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้เลือกที่จะเป็น และใช้เป็นช่องทางหลักในการหารายได้ เรามักจะได้ยินค่านิยมหนึ่งมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า ให้เรียนเก่งๆ เพื่อที่จบมาจะได้หางานดีๆทำ ระบบการศึกษาสอนให้เราเป็นลูกจ้างที่ดี แต่ไม่เคยสอนให้เป็นนายตัวเอง คนส่วนใหญ่มักถูกสอนให้ทำอะไรตามๆ กัน มีชีวิตเหมือนๆ กัน ให้อยู่แต่ในกรอบ ถ้ามีใครที่คิดจะแหกคอกสักคนหนึ่ง ก็มักจะได้รับคำเตือนว่าอย่าทำ มันไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย
ความมั่นคง และความปลอดภัย สิ่งเหล่านี้แหละที่กักขังเราไว้ เรามักเชื่อเสมอว่าการที่ทำอะไรตามๆ กัน ทำเหมือนๆ กัน จะปลอดภัย เพราะมีเพื่อนเยอะดี ดังนั้นพอเรียนจบออกมา จึงแทบจะไม่มีใครที่เริ่มคิดจะเป็นนายตัวเองในทันทีหรอก ในทางตรงกันข้าม คนส่วนใหญ่จะรีบวิ่งหางานกับบริษัทใหญ่ๆ ที่ดูแล้วมีความมั่นคง หรือถ้าไม่ได้ ก็ขอให้มีงานประจำทำ แค่ให้ได้เงินเดือนทุกๆ เดือน ก็พอแล้ว
เห็นมั้ยว่ากรอบความมั่นคงและความปลอดภัย ได้ตามหลอกหลอนคุณมาตั้งแต่คุณเป็นเด็ก จนกระทั่งคุณทำงาน และมันอาจตามหลอกหลอนคุณไปจนลมหายใจสุดท้ายก็ได้
สิ่งที่เรากำลังจะสื่อคือ กรอบความคิดเหล่านี้ที่คุณมีติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคง ความปลอดภัย มันได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนด้วย
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า มนุษย์เงินเดือน มักมีพฤติกรรมทำอะไรตามๆ กัน และเมื่อเขาเหล่านั้นเริ่ม ลงทุน แน่นอนว่าสิ่งที่คิดในตอนแรกคือ นักลงทุนส่วนใหญ่เค้าลงทุนในอะไรกัน? การลงทุนอะไรที่เค้าว่าดี? ว่าแล้วก็เข้าร่วมด้วย นี่คือพิมพ์นิยมของการขาดทุน นั่นแหละ คือเหตุผลว่า ทำไมมนุษย์เงินเดือนจึงลงทุนอะไรไม่ค่อยสำเร็จ ว่าแต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ในโลกแห่งการลงทุน การทำอะไรตามๆ กัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เป็นไปไม่ได้เลยที่นักลงทุนทุกคนจะประสบความสำเร็จ ที่สำคัญนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะผิดเสมอ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นผู้ชนะในเกมการลงทุนอยู่ ลองดูในตลาดหุ้นก็ได้ ว่ากันว่าคนที่ขาดทุนมีถึง 80% จากจำนวนนักลงทุนทั้งหมด อีก 10% เสมอตัว และ 10% เป็นคนที่ได้กำไร คนส่วนน้อยเป็นคนที่ได้กำไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่มากที่ได้ในสิ่งที่มีค่ากว่า
‘ในวันที่มีคนบอกว่าหุ้นตัวนี้ดี คนส่วนใหญ่จะเข้าซื้อเสมอ’
‘ในวันที่มีคนบอกว่าหุ้นตัวนี้ดี คนก็แห่กันไปซื้อ แต่เมื่อเข้าซื้อแล้วราคาตกล่ะ?’
‘ในวันที่มีคนเปิดร้านกาแฟแล้วขายดี คนส่วนใหญ่ก็อยากที่จะเปิดร้านกาแฟบ้าง’
‘ในวันที่มีคนเปิดร้านกาแฟแล้วขายดี คนแห่กันเปิด ร้านมีเยอะกว่าคนซื้อ แล้วจะขายใคร?’
‘ในวันที่ราคายางพาราขึ้น คนส่วนใหญ่ก็แห่กันไปปลูกยางพารา‘
‘ในวันที่มีคนบอกว่าทำสวนยางแล้วดี คนก็แห่กันไปปลูกยาง พอผลผลิตยางพาราล้นตลาด มีคนขายมากกว่าคนซื้อ แล้วจะขายใคร?’
เมื่อมีนักลงทุนเข้าตลาดมากเกินไป เมื่อผู้ผลิตมีมากเกินไป เมื่อมีสินค้าล้นตลาด จะเกิดสภาวะ Over Supply คือความต้องการในการขายมากกว่าความต้องการซื้อ ผลที่ตามมา คือ สินคาขายราคาตก หรือขายไม่ออก และผู้ลงทุนขาดทุน!
การลงทุนโดยยึดติดกับความคิดที่ว่า ต้องเป็นการลงทุนที่มีความมั่นคง และต้องมีปลอดภัย ทำให้จิตวิทยาการลงทุนเสียไป แน่นอนว่าคนที่เข้ามาลงทุนต่างต้องการได้เงินทั้งนั้น แต่เราต้องเข้าใจพื้นฐานการลงทุนก่อนว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ไม่อย่างนั้นเราจะมักได้ยินประโยคเตือนอยู่เป็นประจำหรือว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ’
ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน เป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ที่สำคัญ การศึกษาข้อมูลช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้แน่นอน เพราะยิ่งเรามีความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ที่เราลงทุนมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งหาทางทำกำไร และป้องกันการขาดทุนได้ดีขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่สอนกันยากที่สุดคือ จิตวิทยาการลงทุน เพราะมันเป็นเรื่องของประสบการณ์ และวินัยในการลงทุน ซึ่งขึ้นอยู่กับนิสัยและทัศนคติส่วนตัวของนักลงทุนแต่ละคนด้วย
ตอนนี้คุณคงจะรู้แล้วว่า เหตุผลใดที่ทำให้ มนุษย์เงินเดือนที่ผันตัวไปเป็นนักลงทุนมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ การยึดติดในความมั่นคง และความปลอดภัยนั่นเอง ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ทำอะไรตามๆ กัน และพฤติกรรมดังกล่าวนั่นเองที่เป็นเหตุผลที่ทำให้ล้มเหลว ดังนั้นถ้าคุณเริ่มรู้ตัวแล้วว่าคุณมีทัศนคติ และกรอบความคิดในลักษณะดังกล่าวอยู่ล่ะก็ ขอให้ตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่ารูปแบบการลงทุนของคุณอยู่นั้น เป็นการลงทุนด้วยความรู้ ด้วยประสบการณ์ และการศึกษาหาข้อมูลของตัวคุณเอง ไม่ใช่เป็นการลงทุนที่ทำตามๆ กัน เหมือนกับคนอื่น