คุณอาจจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการ ยึดทรัพย์ หรือ อายัดเงิน กันมาบ้างนะคะ และแม้ว่าโดยมากก็จะเป็นข่าวด้านการเมือง แต่เรื่องบางอย่างเราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นกับใครบ้าง หรือกับคนใกล้ตัวบ้าง เราจึงไม่ควรที่จะแค่ฟังพอผ่าน ๆ ไป ยิ่งถ้าคุณมีคนรู้จักที่มีหนี้สินค้างชำระอย่างพวกหนี้บัตรเครดิต หรือพวกหนี้จากสินเชื่อของธนาคารต่าง ๆ ด้วยแล้วหล่ะก็ อาจจะต้องศึกษาไว้บ้าง ผิดพลาดอย่างไรขึ้นมาต้องไปเจรจาหรือไกล่เกลี่ยที่ศาลก็จะได้เตรียมความเข้าใจติดหัวติดตัวไปด้วยสักนิดสักหน่อยค่ะ มีความรู้เป็นอาวุธเป็นเกราะป้องกันตนดีกว่านะคะ
กรณีที่ทรัพย์สินจะถูกยึด หรือ โดนอายัดนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เจ้าหนี้ หรือ โจทก์ ชนะคดีแพ่งเรื่องฟ้องหนี้จากลูกหนี้ หรือ จำเลย แล้วหลังจากนั้นจำเลยไม่ไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ หรือ กำหนดไว้ตามคำพิพากษา และศาลได้ออกหมายบังคับคดี ให้มีการยึดทรัพย์ หรือ อายัดทรัพย์ของลูกหนี้ได้ เมื่อถึงเวลานั้น เจ้าพนักงานของกรมบังคับคดีก็จะมีหน้าที่เข้ามายึด หรือ อายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไป โดยจะนำทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ยึดได้นั้นไปทำการยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งขายทอดตลาด เพื่อจะได้นำเงินที่ขายของได้มาชำระหนี้ให้โจทก์หรือเจ้าหนี้ต่อไปค่ะ แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากจำเลยหรือลูกหนี้มีทรัพย์สินอื่น ๆ อีกอยู่ที่ต่างประเทศ หรือฝากเงินไว้ในบัญชีของธนาคารที่ต่างประเทศ หมายบังคับคดีเรื่องยึดทรัพย์ หรือ อายัดเงินในประเทศไทยนั้น จะไม่ผูกพันไปยังเงินของลูกหนี้ที่ต่างประเทศนะคะ เพราะประเทศไทยของเราไม่ได้เป็นคู่สัญญา หรือภาคในอนุสัญญาต่างตอบแทนเพื่อการบังคับคดีระหว่างประเทศใด ๆ แต่ถ้าเจ้าหนี้ต้องการยึดทรัพย์ในต่างประเทศด้วยก็ต้องทำเรื่องฟ้องเป็นอีกหนึ่งคดีในประเทศที่ลูกหนี้มีทรัพย์สินนั้น ๆ อยู่ค่ะ
แล้วคุณ ๆ สงสัยหรือเปล่าค่ะว่า คำว่า “ยึด” กับ “อายัด” นั้นต่างกันอย่างไร
เริ่มจากคำว่า “ยึด” ก่อนนะคะ ซึ่งจะมีความหมายว่า การกระทำใด ๆ ต่อทรัพย์สินของคนที่ถูกยึดเพื่อให้ทรัพย์สินนั้น ๆ เข้ามาอยู่ในการดูแล, ควบคุม และ ครอบครองของผู้ดำเนินการยึดทรัพย์สินนั้น ๆ ส่วนคำว่า “อายัด” ก็จะหมายความว่า สั่งให้คนที่ถูกอายัดทรัพย์สิน หรือ คนภายนอกไม่ให้จำหน่าย, จ่าย, โอน หรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้สั่งอายัดไว้ ทีนี้ เรามาดูกันว่าทรัพย์สินที่จะสามารถถูกยึด หรือ อายัดไว้ได้ตามกฎหมายมีอะไรบ้าง
- อันดับแรกก็คือ ของมีค่าอย่างพวกเครื่องประดับ ประเภทสร้อยคอ, ต่างหู, กำไร, สร้อยคอมือ, แหวนเพชร หรือ นาฬิกาข้อมือหรู ๆ ค่ะ หรือ ทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ส่วนมากก็จะเป็นของสะสมต่าง ๆ ไม่ว่าจะพระเครื่อง, เครื่องลายคราม หรือ แสตมป์โบราณ ค่ะ
- อันดับที่ 2 ก็คือ บ้านและที่ดิน ค่ะ และแม้ว่าบ้านนั้นจะติดจำนองอยู่กับธนาคาร ก็สามารถทำการยึดได้นะคะ
- อันดับที่ 3 คือ รถยนต์ที่อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของลูกหนี้แล้วค่ะ และรถยนต์นั้นต้องไม่ใช่รถที่ใช้ประกอบอาชีพ หรือ เป็นเครื่องมือทำกินด้วยนะคะ
- อันดับที่ 4 คือ ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุนของลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น, ทองคำ, ตราสารหนี้ หรือ กองทุน ก็สามารถถูกอายัดไว้ได้ค่ะ
- อันดับที่ 5 คือ เงินทดแทน หรือ เงินค่าชดเชยกรณีออกจากงาน ซึ่งเงินก้อนนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิอายัดได้เต็มจำนวนด้วยนะคะ
- อันดับที่ 6 คือ บัญชีเงินฝาก และเงินปันผล ซึ่งเจ้าหนี้สามารถอายัดได้เต็มจำนวนอีกเช่นกันค่ะ
- อันดับที่ 7 เงินเดือน สำหรับลูกหนี้ที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน หรือ พนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย และมีรายได้มากกว่า 10,000 บาทขึ้นไป จะถูกอายัดในอัตราไม่มากไปกว่า 30% โดยจะคิดคำนวณจากยอดเงินก่อนที่จะถูกหักประกันสังคม, ภาษี และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่าง ๆ ค่ะ และเมื่ออายัดเงินส่วนนี้แล้วลูกหนี้จะต้องยังมีเงินเหลือใช้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาทด้วยค่ะ แต่ถ้าหากว่าลูกหนี้มีภาระค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร หรือ ค่ารักษาพยาบาล ก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานขอลดหย่อนหรือลดจำนวนเงินที่เจ้าหนี้จะอายัดได้นะคะ
- อันดับที่ 8 คือเงินโบนัส เงินก้อนนี้เจ้าหนี้สามารถอายัดเอาไว้ได้ไม่เกิน 50% ของจำนวนที่จำเลย หรือ ลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับค่ะ
- อันดับที่ 9 เงินค่าล่วงเวลา, เบี้ยขยัน หรือ รายได้เสริมอื่น ๆ เช่น ค่าคอมมิชชั่น นั้น เจ้าหนี้ก็มีสิทธิอายัดได้เช่นกันค่ะ แต่ในสัดส่วน 30% ของจำนวนที่ลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับค่ะ
ส่วนทรัพย์สินบางอย่างนั้น ก็ได้รับการคุ้มครองว่าห้ามยึดหรืออายัดตามกฎหมายค่ะ เช่น กลุ่มที่ 1 เครื่องนุ่งห่ม, ที่นอน, เครื่องครัว หรือ ของใช้ส่วนตัว โดยมูลค่ารวมกันไม่มากไปกว่า 50,000 บาทค่ะ แต่ถ้าสมมุติ เสื้อผ้าขนสัตว์ชั้นดี, โต๊ะอาหารไม้สัก และ เครื่องครัวนำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อนำมารวมกันแล้วมีราคามากกว่า 50,000 บาท ทรัพย์สินนี้ก็สามารถยึดไว้ได้ค่ะ หรือ กลุ่มที่ 2 เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับทำอาชีพ โดยมูลค่ารวมกันไม่มากไปกว่า 100,000 บาทค่ะ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ราคาน้อยกว่า 100,000 บาทก็จะไม่ถูกยึดค่ะ กลุ่มที่ 3 ก็คือ รถยนต์หรือยานพาหนะใด ๆ ที่ยังติดผ่อนไฟแนนซ์อยู่ก็คือยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย รถคันนั้นก็จะไม่สามารถยึดได้ค่ะ
มาถึงจุดนี้ คงเข้าใจเรื่องการยึดทรัพย์ อายัดเงินมากขึ้นแล้วนะคะ รู้แล้วก็แนะนำตักเตือนคนรู้จักให้ระวังหนี้บัตรเครดิตกันไว้ด้วย จะได้ไม่เสี่ยงถูกยึดทรัพย์สินกันนะคะ