หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังจะเริ่มต้นทำธุรกิจสักอย่างของตนเองขึ้นมา นอกจากเรื่องเงินทุนและแผนธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องเตรียมความพร้อมกันเอาไว้แล้ว หลาย ๆ คนยังมีคำถามปวดใจเกี่ยวกับเรื่องของภาษีเพราะไม่แน่ใจว่าธุรกิจแบบที่เรากำลังจะลงทุนลงแรงนั้น เข้าข่ายการชำระภาษีแบบไหน และมีภาษีอยู่กี่ประเภทที่คุณผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลายจะต้องรับหน้าชำระภาษีกันบ้าง และอีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อยเลยก็คืออัตราภาษีนั้นคิดคำนวณอยู่ที่เท่าไรกันบ้าง ก่อนที่คุณ ๆ จะนั่งกุมขมับมึนงงจุกอกไปตาม ๆ กัน เรามาเริ่มทำความเข้าใจเรื่องภาษีไปพร้อม ๆ กันนะคะ
ก่อนที่เราจะมาดูว่าเราต้องชำระภาษีแบบไหน เรามาดูกันให้ดีก่อนว่า ธุรกิจที่เราทำอยู่นั้นเป็นธุรกิจประเภทไหนค่ะ เพราะเราสามารถแบ่งธุรกิจออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน อย่างแรกก็คือ ธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา และอีกอย่างก็คือ ธุรกิจแบบนิติบุคคลค่ะ
ซึ่งในส่วนของธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาก็สามารถแยกย่อยออกไปได้อีก 3 แบบด้วยกันค่ะ คือ เจ้าของคนเดียว, ประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญ และ ประเภทคณะบุคคล มาดูกันที่
- แบบที่ 1 เจ้าของคนเดียว ก่อนนะคะ ซึ่งก็ชัดเจนค่ะว่าถ้าธุรกิจนั้น ๆ เราทำและรับผิดชอบดูแลทุกอย่างเพียงคนเดียว และก็จะรวมไปถึงเรื่องของกำไรหรือขาดทุนก็มีผลต่อเราเพียงคนเดียวเช่นกัน ในมุมดี ๆ ของธุรกิจแบบนี้ก็คือการตัดสินใจต่าง ๆ สามารถทำได้ทันทีไม่ซับซ้อน ที่เห็นตัวอย่างชัด ๆ ก็พวกร้านค้าอาหาร หรือ พ่อค้าแม่ขายทั่วไป นั่นแหละค่ะ เนื่องจากเป็นการทำงานคนเดียวจึงทำให้ธุรกิจแบบี้เริ่มต้นได้ง่าย, ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน, ไม่ต้องทำเรื่องของงบการเงิน และเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า แต่ขีดจำกัดของธุรกิจลักษณะนี้ก็คือ มีความน่าเชื่อถือต่ำ, หาแหล่งเงินทุนยาก, โอกาสที่จะขยายกิจการก็ยาก
- แบบที่ 2 คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ โดยลักษณะของกิจการกลุ่มนี้จะมีผู้ก่อตั้งร่วมกันอย่างน้อย 2 คนขึ้นไปมาร่วมทำกิจการกัน และร่วมกันแบ่งทั้งเรื่องของกำไรและร่วมรับผิดชอบในหนี้สินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยกันค่ะ แต่ลักษะการทำงานแบบนี้ถ้าไปขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจเมื่อไรก็จะเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนสามัญที่เป็นแบบบุคคลธรรมดาไปเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดแบบนิติบุคคลทันทีค่ะ ถ้าคุณดำเนินธุรกิจลักษณะนี้ คุณก็จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรค่ะ, เสียภาษีในอัตราก้าวหน้า และ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีด้วย และในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถทางการลงทุน, ความน่าเชื่อถือหรือโอกาสที่จะขยายกิจการนั้นก็ค่อนข้างที่จะยากเช่นกันค่ะ
- แบบที่ 3 ก็คือ คณะบุคคล ซึ่งก็จะค่อนข้างใกล้เคียงกับแบบห้างหุ้นส่วนสามัญเพียงแต่ว่ารูปแบบนี้จะไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องของการแบ่งผลกำไร โดยมากคนมักจะเลือกรูปแบบนี้เพื่อใช้เลี่ยงจ่ายภาษีค่ะ แต่ปัจจุบันนี้ กรมสรรพากรได้ปิดช่องว่างนี้ โดยการให้นำรายได้มารวมกันแล้วก็ยื่นแบบภาษีค่ะ ดิ้นไม่ได้แล้วนะคะ
แต่ถ้าเป็นธุรกิจแบบนิติบุคคลนั้นก็จะแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน แบบที่ 1 คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งจะบริหารงานคล้ายกับแบบบุคคลธรรมดา จะต่างกันก็ตรงที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีและการชำระภาษีจะเป็นแบบอัตราคงที่ขึ้นอยู่กับกำไรของธุรกิจเป็นหลัก และแบบที่ 2 ก็คือ บริษัทจำกัด ซึ่งต้องมีผู้ก่อตั้งร่วมกันมากกว่า 3 คน และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนสูง, มีค่าใช้จ่ายในการทำบัญชี และสามารถใช้อัตราภาษีคงที่ตามเกณฑ์ของกำไรที่ได้จากธุรกิจนั้น ๆ ค่ะ
ในเรื่องของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ต้องยอมรับค่ะว่าเป็นลักษณะของขั้นบันไดก็คือยิ่งคุณมีรายได้มากก็ยิ่งต้องจ่ายภาษีมากขึ้น ซึ่งอัตราและหลักการนี้ไม่ได้ใช้กับผู้ประกอบการธุรกิจเพียงอย่างเดียวนะคะ แต่ยังมีผลใช้กับผู้มีเงินได้ทั่วไปที่เป็นพนักงานกินเงินเดือนด้วยค่ะ แต่ถ้าเป็นอัตราภาษีเงินได้ของนิติบุคคลนั้น จะนำแต่ส่วนที่เป็นกำไรของธุรกิจมาคิดคำนวณในอัตราคงที่ ไม่ได้ปรับสูงขึ้นหรือลดลงตามรายได้ของกิจการเหมือนแบบบุคคลธรรมดาค่ะ โดยจะแยกเป็น 2 กลุ่มตามทุนจดทะเบียนค่ะ อย่างสมมุติว่า ถ้าทุนจดทะเบียนของคุณน้อยกว่า 5 ล้านบาท หรือมีรายได้จากการขายน้อยกว่า 30 ล้านบาท ก็จะมาดูที่กำไรของธุรกิจถ้าไม่เกิน 150,000 บาทก็จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้ากำไรอยู่ระหว่าง 150,000 – 1,000,000 บาท ก็จะต้องจ่ายภาษีที่อัตรา 15% ค่ะ แต่ถ้าบริษัทของคุณมีทุนจดทะเบียนมากกว่า 5 ล้านบาท หรือมีรายได้จากการขายมากกว่า 30 ล้านบาท ก็จะคิดภาษีอีกอัตราหนึ่งคือ เสียภาษี 23 % ค่ะ
นอกจากนั้นก็ยังมีส่วนของภาษีทางอ้อมอย่างเช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ที่เราพูดกันติดปากว่า VAT เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ ค่ะ ไม่ว่าเราจะซื้อของอะไรในชีวิตประจำวันเราก็ต้องเสีย VAT กันทั้งนั้น ดังนั้นในเชิงธุรกิจ เมื่อเราซื้อสินค้า หรือวัตถุดิบอะไร เราก็ต้องชำระ VAT เช่นเดียวกันค่ะ อีกหนึ่งภาษีทางอ้อมก็คือ ภาษีสำหรับธุรกิจเฉพาะ อย่างเช่น กลุ่มธุรกิจด้านการธนาคาร, เงินทุน, หลักทรัพย์, ประกันภัย, โรงรับจำนำ และ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ค่ะ แล้วก็ยังมีภาษีทางอ้อมอย่างภาษีจากอากรแสตมป์ ซึ่งจะจัดเก็บตอนหลังจากที่คุณได้ทำเอกสารต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด อย่างเช่น ในกรณีที่มีการทำสัญญาเช่า, ซื้อขายใบหุ้นกู้, ทำกรมธรรม์ประกันภัยต่าง ๆ, เอกสารใบมอบอำนาจ หรือ เอกสารว่าจ้างผลิตของต่าง ๆ ก็มีอัตราอากรแสตมป์กำหนดอยู่เช่นกันค่ะ