ต้องยอมรับและทำความเข้าใจไปด้วยกันก่อนนะคะว่า บริษัท หรือ กิจการร้านค้าต่าง ๆ ที่ประกอบธุรกิจนั้นต่างก็มีแหล่งเงินทุนหลัก ๆ มาจาก 2 ทางด้วยกัน นั่นก็คือ เงินทุนจากหุ้นส่วน หรือ เงินของเจ้าของกิจการ ที่รวม ๆ แล้วเราเรียกกันว่า Shareholder’s equity ค่ะ ส่วนอีกทางก็คือ หนี้สิน หรือ Liabilities ค่ะ ในเรื่องของหนี้นั้น ถ้าได้ลองเดินไปถามใครว่าอยากมีหนี้มั๊ย หรือว่า มีหนี้นั้นดีอย่างไร ใครได้ยินคำถามนี้ก็คงพากันเบือนหน้าหนี หรือ ร้องยี้ขึ้นมาเป็นเสียงเดียวกันโดยพร้อมเพรียงแน่ ๆ ค่ะ แต่ถ้าเราพูดถึงหนี้สินในการทำธุรกิจนั้น เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มด้วยกันค่ะ คือ หนี้สินหมุนเวียน หรือ Current Liabilities และ อีกส่วนคือ หนี้สินไม่หมุนเวียน หรือ Non-Current Liabilities ค่ะ
คำว่า หนี้สินหมุนเวียน จะหมายถึง หนี้ที่มีกำหนดชำระภายในระยะเวลา 1 ปี หรือ หนี้สินที่บริษัทคาดว่าจะได้รับภายในรอบระยะเวลาเดินบัญชีปกติค่ะ อย่างเช่น หนี้ที่เกิดจากการเบิกเงินเกินบัญชีธนาคาร, ตั๋วจ่ายเงิน หรือ เงินที่กู้ยืมจากธนาคารหรือสถาบันการเงินซึ่งมีกำหนดต้องชำระเงินคืนภายใน 1 ปี นั่นเองค่ะ ส่วนคำว่า หนี้สินไม่หมุนเวียน นั้นก็สื่อถึง หนี้ที่มีกำหนดชำระเกินกว่า 1 ปีขึ้นไปค่ะ
ซึ่งลักษณะของหนี้สินแบบนี้จะสำคัญมากสำหรับการลงทุนระยะยาว ๆ เพราะเป็นการกู้ยืมมาใช้ในโครงการที่มีช่วงเวลาการลงทุนนาน ๆ เช่น การขยายและต่อเติมโรงงาน หรือ เพิ่มสาขาย่อย นั่นแหละค่ะ จึงเป็นปกติที่หนี้สินกลุ่มนี้จะอยู่ในรูปของเงินกู้จากสถาบันการเงินที่มีกำหนดชำระนานมากกว่า 1 ปีค่ะ และในมุมมองทางบัญชีนั้น ทำธุรกิจแต่ไม่มีหนี้สินเกิดเลยนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ค่ะ เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณ ๆ ซื้อวัตถุดิบ หรือ ซื้อสินค้าเข้ามาไว้ในบริษัท
แต่คุณยังไม่ได้ชำระเงินออกไปก็เท่ากับว่าคุณได้มีหนี้สินเกิดขึ้นทางบัญชีธุรกิจของคุณแล้วค่ะ และถ้าหากคุณลองยืนมองมาจากฝั่งของนักวิเคราะห์การเงินด้วยแล้วหล่ะก็คุณจะพบว่าถ้ากิจการของคุณ ๆที่ดำเนินงานอยู่นั้นไม่มีหนี้สินเลย นั่นก็อาจจะแปลได้ว่าคุณ ๆ ไม่ได้มีการขยับขยายกิจการอะไรเลยในการลงทุนระยะยาวค่ะ เห็นหรือยังว่าหนี้สินไม่ได้มีแต่ด้านลบเพียงอย่างเดียวค่ะ
หรือถ้าจะมองจากอีกด้านของการเป็นนักลงทุน หรือก็คือ ผู้ที่ลงให้เงินให้ดำเนินกิจการนั้น ๆ โดยคาดหวังว่ากิจการจะเจริญเติบโตขึ้น การเข้ามาของนักลงทุน หรือ นักเก็งกำไรก็อาจจะมาจากการเข้าซื้อหุ้นเพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของบริษัทนั้น ๆ และได้รับเงินปันผลเป็นการตอบแทนค่ะ หรือในอีกทางหนึ่ง นักลงทุนคือผู้ที่จะสามารถให้เงินกู้กับธุรกิจที่เขาสนใจ ซึ่งสิ่งตอบแทนที่เขาจะได้รับก็อาจจะมาในรูปของดอกเบี้ย (Interest) อันนี้ก็เป็นไปตามโครงสร้างการเงินทั่ว ๆ ไป เพราะเมื่อมีฝั่งของต้นทุน ก็จะต้องมีเรื่องของดอกเบี้ย หรือ ต้นทุนของหนี้สิน หรือ ต้นทุนเงินกู้ (Cost of Debt) เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจค่ะ ซึ่งการที่นักลงทุนคนหนึ่งจะสนใจในธุรกิจของเรา ตัวที่จะดึงความสนใจของเขาได้ก็คือ เงินปันผล หรือ Dividend หรือบางครั้งเราก็สามารถเรียกว่าเป็น ต้นทุนส่วนของเจ้าของ หรือ Cost of Equity และเมื่อเรานำทั้ง 2 ส่วนหลักที่สำคัญนี้มารวมกัน นั่นก็คือ ต้นทุนการเงิน หรือ Cost of Capital ค่ะ และนั่นก็หมายความว่า บริษัทมีทั้ง “ต้นทุนของหนี้สิน” และส่วนที่เป็น “ต้นทุนของเจ้าของ” ดังนั้นบริษัทก็จำเป็นต้องจ่ายทั้ง “ดอกเบี้ย” และ “เงินปันผล” เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทุนสำหรับดำเนินธุรกิจต่อไประยะยาวค่ะ
แล้วเจ้าสองสิ่งที่บริษัทต้องจ่ายออกไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย หรือ เงินปันผลต่างกันอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ ในเรื่องของระยะเวลาในการชำระค่ะ เพราะเมื่อมีการกู้ยืมเงินออกมาก็ต้องมีการกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระและมีวันครบกำหนดชำระกำกับอยู่แน่นอน ซึ่งถ้าคุณ ๆ ได้ชำระในส่วนของเงินต้นไปแล้ว บริษัทของคุณก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายในส่วนของดอกเบี้ยต่อไปอีก ในทางตรงกันข้ามกับส่วนที่เป็น “เงินปันผล” บริษัทอาจจะเลือกไม่จ่ายเงินปันผลบ้างในบางปีการทำงาน แต่บริษัทเองก็ต้องจ่ายเงินปันผลออกไปบ้างเหมือนกันในบางปี ไม่อย่างนั้น นักลงทุนคงพากันถอนหุ้นออกไปจนหมด แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น บริษัทก็จะประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินค่ะ ยิ่งถ้าเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยแล้ว ขืนไม่จ่ายเงินปันผล คงได้เห็นหุ้นของบริษัทตัวเองดิ่งลงร่วงหล่นแน่ ๆ ค่ะ
นี่คือสาเหตุที่บริษัทจำเป็นต้องจ่ายเงินปันผลและเป็นการจ่ายเงินที่ไม่มีวันสิ้นสุดซะด้วยค่ะ หรือจะพูดว่าการจ่ายเงินปันผลคือการจ่ายเงินออกไปเรื่อย ๆ แล้วถ้าคุณได้นำอัตราดอกเบี้ย หรือ อัตราเงินเฟ้อมาจับคิดลดดูแล้วก็ตาม ต้นทุนส่วนของเจ้าของนั้นก็ยังคงสูงกว่าต้นทุนส่วนของหนี้สินอยู่ดีค่ะ สมมุตินะคะว่า บริษัทกู้เงินออกมา 1 ล้านบาทเสียดอกเบี้ย 10% ในกำหนดระยะเวลา 2 ปี ก็คือ บริษัทต้องเสียดอกเบี้ย 200,000 บาท ใช่มั๊ยค่ะ ทีนี้ ในทางกลับกันถ้าบริษัทขายหุ้นออกไปมูลค่า 1 ล้านบาทเท่ากัน และต้องจ่ายเงินปันผลปีละ 5% ในเวลาแค่เพียง 4 ปีเท่านั้น บริษัทก็ต้องจ่ายเงินปันผลเป็นยอดเท่ากับที่จ่ายดอกเบี้ยก็คือ 200,000 บาท และยังคงต้องจ่ายต่อไปในปีถัดไปอีกด้วยค่ะ ซึ่งเป็นการจ่ายที่ไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด เพื่อคงเงินของนักลงทุนเอาไว้ค่ะ เข้าใจตรงกันแล้วนะคะว่า บริษัทที่มีหนี้สิน นั้น มันดีอย่างไร