ในภาวะที่ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นช่วงเวลาที่เราไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้มากนัก ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน เราก็ไม่รู้ว่าจะมากระทบกับสภาพธุรกิจของประเทศเรามากน้อยแค่ไหน บริษัทฯเงินทุนต่างชาติต่าง ๆ ที่มาลงทุนในไทยก็มีสำนักงานในประเทศโซนยุโรปก็มากอยู่เหมือนกัน ทั้งค่าน้ำมัน, ค่าแก๊ส และ ข้าวปลาอาหารก็ดูจะขยับราคากันไปมาขึ้น ๆ ลง ๆ ทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำกินเงินเดือน, พ่อค้าแม่ขาย หรือ เจ้าของกิจการก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินกันทั้งนั้นค่ะ ถ้าคุณ ๆ รู้อย่างนี้แล้ว เราก็ควรวางแผนการเงินให้พร้อมเพื่อตั้งรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามที่อาจจะมากระทบกับเราก็ได้ค่ะ
และเพื่อเตรียมความพร้อมให้ตนเอง การวางแผนด้านการเงิน จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ค่ะ เพราะไม่เพียงจะช่วยให้เรารู้สถานะการเงินของตัวเองดีขึ้นแล้ว เรายังรู้ขีดความสามารถทางการเงินของครอบครัวของเราอีกด้วยค่ะ คุณอาจจะเริ่มจากจัดทำงบดุลส่วนตัว หรือ ของครอบครัวก็ดีค่ะ
โดยดึงเอาส่วนของรายได้ออกมาเขียนก่อน เช่นว่า มีเงินเดือน, ค่าล่วงเวลา, ค่าคอมมิชชั่น หรือ รายได้เสริมด้านไหนบ้าง จดบันทึกไล่ลำดับออกมาเป็นรายเดือนค่ะ จากนั้นก็มีรวบรวมรายละเอียดค่าใช้จ่ายว่าแต่ละเดือนที่ผ่านไป เราใช้จ่ายอะไรบ้าง และเพื่อให้ง่ายในการจดบันทึก คุณ ๆ อาจจะแยกออกมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำ กับ ค่าใช้จ่ายผันแปร โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายประจำก็คือ ค่าใช้จ่ายที่คุณ ๆ จะต้องชำระกันเป็นประจำทุก ๆ เดือนค่ะ บางค่าใช้จ่ายก็อาจจะมียอดชำระเท่ากันทุก ๆ เดือน อย่างเช่น ค่าผ่อนบ้าน, ค่าผ่อนรถ, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์ หรือ ค่าน้ำมัน หรือในครอบครัวที่มีลูก ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายอย่างค่าเทอมที่ต้องจ่ายกันทุก 4 เดือน หรือ 6 เดือนครั้ง คุณก็นำมารวมลงไปด้วยได้เลยค่ะ ส่วนอีกก้อนก็คือ ค่าใช้จ่ายผันแปร คือ ค่าใช้จ่ายที่อาจจะมีบ้างในบางเดือน และมียอดที่ต้องชำระตามความจำเป็นในแต่ละเดือนที่จะต่างกันไปบ้าง เช่น ค่าอาหาร, ค่าอุปกรณ์การเรียน, ค่านม, ค่าเสื้อผ้า หรือ ค่ายา ค่ะ เมื่อได้รายละเอียดของทั้งส่วนรายได้ และ รายจ่ายมาแล้วก็ให้นำมารวมกันแล้ว หักลบดูว่า คุณ ๆ มีเงินเหลือ หรือ ว่า เงินไม่พอ ถ้าเงินเหลือ เราก็จะได้วางแผนเรื่องการออม หรือ การลงทุนกันต่อ แต่ถ้าผลออกมาว่าเงินไม่พอ หรือ ติดลบนั้น คุณ ๆ ก็ควรดูทันทีเลยว่า มีค่าใช้จ่ายไหนบ้างที่คุณสามารถตัดออกได้ แล้วก็ต้องช่วยกันดันตัวบนหรือส่วนของรายได้ด้วยการหางานเสริมค่ะ เพื่อลดและปลดล็อคตัวคุณออกจากการขาดสภาพคล่องทางการเงินกันค่ะ
ในกรณีที่คุณมีเงินเหลือออม ก็ให้คุณเริ่มวางแผนกับเงินที่มีอยู่นั้น โดยสามารถแยกออกเป็น 3 กองค่ะ กองที่ 1 ออมไว้เพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉิน, กองที่ 2 กันเอาไว้เป็น เงินออม และ กองที่ 3 ให้นำไปลงทุนต่อค่ะ ซึ่งหลักการออมง่าย ๆ ที่คุณ ๆ สามารถนำไปทดลองใช้ได้ตามสไตล์ของตัวคุณเองก็คือ ถ้าคุณ ๆ เป็นนักช้อปหล่ะก็ให้หักเงิน 10% ของราคาสิ่งของที่คุณซื้อไปมาเป็นเงินออมค่ะ แต่ถ้าคุณไม่ใช่ขาช้อป ในทางตรงกันข้ามคุณเป็นคนมีวินัยมากซะด้วยก็ให้เลือกหัก 10% ของรายได้มาฝากบัญชีธนาคารไปเป็น เงินออม ค่ะ ซึ่งในปัจจุบันคุณ ๆ สามารถแจ้งกับทางธนาคารให้หักเงินไปออมได้อัตโนมัติด้วย ไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคารด้วยตนเอง และก็มั่นใจได้มากขึ้นอีกด้วยว่าเงินจะถูกนำไปฝากทันที ไม่ทำให้คุณ ๆ เผลอกดออกมาใช้ซะก่อนด้วยค่ะ เริ่ดนะคะ
เพื่อให้สภาพทางการเงินราบรื่นเสมอ ๆ คุณจึงจำเป็นที่จะต้องเตือนตัวเองไม่ให้ไปพันผูกอยู่กับหนี้ แม้ว่า หนี้นั้นจะมีทั้งหนี้ดี และ หนี้ฟุ่มเฟือย คำว่า หนี้ดี ก็คือ หนี้ที่ใช้จ่ายเพื่อสร้างรากฐานครอบครัว หรือ พัฒนาตัวเอง อย่าง หนี้ผ่อนบ้าน หรือ หนี้เพื่อการศึกษา ค่ะ ส่วนคำว่า หนี้ฟุ่มเฟือย นั้นค่อนข้างชัดเจนว่ามาจากสิ่งของที่ไม่ได้จำเป็น หรือ Need แต่เกิดจากสิ่งของที่เป็นความต้องการ หรือ Want เท่านั้น เช่น รถยนต์หรู ๆ, โทรศัพท์รุ่นใหม่ หรือ บิ๊กไบท์สักคัน ค่ะ ซึ่งหนี้ฟุ่มเฟือยนั้นก็มักจะไปจบลงที่หนี้บัตรเครดิต หรือ หนี้นอกระบบกันอีกทอดหนึ่ง ทีนี้ คุณก็จะยิ่งลำบากที่จะสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้ทันคนอื่น ๆ เขาค่ะ และสำหรับผู้มีรายได้ทั้งหลาย ควรเตรียมการสำหรับการลดหย่อนภาษีกันไว้ด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์อย่างบ้านสักหลัง คุณก็สามารถนำดอกเบี้ยบ้านมาขอลดหย่อนได้ค่ะ หรือจะเป็นเงินบริจาคให้เด็กด้อยโอกาสก็ได้นะคะ
อีกส่วนหนึ่งที่คุณสามารถนำสิทธิมาลดได้ก็คือ ค่าเลี้ยงดูบุตร และ ค่าเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปค่ะ สิ่งที่น่าลงทุนอีกอย่างหากคุณ ๆ มี เงินออม ก็คือ การลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมของธนาคารต่าง ๆ เพราะไม่เพียงได้กำไรหรือผลตอบแทนมากกว่าการนำเงินไปฝากประจำแล้วคุณยังสามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย และถ้าจะซื้อกองทุนก็ให้ลองนำเงินได้ทั้งปีมาคำนวณประกอบดูด้วยนะคะ เพื่อจะได้รู้ว่าคุณสามารถซื้อได้มากสุดที่เท่าไร เราจะได้ใช้สิทธิของเราให้คุ้ม ๆ ไปเลยค่ะ