เราทำงานหาเงินกันมาก็ต้องอยากจะร่ำรวยขึ้น, มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น, มีหลักประกันต่าง ๆ ให้ชีวิตมากขึ้น และ ย่อมต้องการเติมความฝันของตนเองให้เป็นจริงขึ้นมากันทั้งนั้นค่ะ หากคุณ ๆ เพิ่งจะเริ่มต้นทำงานก็อย่าไปนึกคิดว่าเรื่องการออมเงินเป็นเรื่องของคนใกล้วัยเกษียณนะคะ เพราะถ้าคุณ ๆ เริ่มต้นออมเงินในช่วงอายุน้อย ๆ ยิ่งน้อยมาก ๆ ก็เท่ากับโอกาสที่จะสร้างฝันเติมความสุขและค้นพบช่วงเวลาเกษียณเร็วกว่าคนอื่น ๆ นั้นก็ยิ่งมีมากขึ้นด้วยค่ะ แต่ถ้าเรามัวแต่นั่งมองคนรวยแล้วก็บอกว่า เขาโชคดีที่เกิดมารวย คนรวยหยิบจับอะไรก็รวยขึ้นกันทั้งนั้น หรือ บ้างก็ปลอบตัวเองไปว่า เรามันคนมีภาระค่าใช้จ่ายมากกว่าคนอื่นเขา จะรวยได้อย่างไร แล้วถ้าคุณมัวแต่นั่งมองฟ้ายืนมองดาวนอนชมจันทร์ตลอด ๆ นะคะ คุณก็ไม่มีวันที่จะสร้างฐานะที่ดีขึ้นได้แน่ ๆ ค่ะ ในกลับกันถ้าคุณต้องการให้ชีวิตดี๊ ดี อย่างที่คุณฝันไว้จริง ๆ งั้นก็มาลงมือตอกเสาเข็มสร้างรากฐานการเงินกันไปพร้อม ๆ กันนะคะ
คุณสามารถกำหนดแผนการเงินสบาย ๆ ไม่กดดันตัวเองมากนักด้วยการประเมินตัวเองก่อนเลยค่ะ คล้าย ๆ กับเวลาที่คุณจะออกวิ่งไปบนลู่วิ่ง คุณก็ต้องรู้ก่อนว่าร่างกายของคุณแข็งแรงพอหรือเปล่า หรือว่า กล้ามเนื้อสมบูรณ์หรือมีอาการอักเสบที่แขนขาบ้างหรือเปล่า เพราะถ้าเราไม่รู้จักปัญหาของตัวเรา เราก็อาจจะออกวิ่งไปพร้อมกับบาดแผลและอาการบาดเจ็บเรื้อรังกว่าเดิมก็ได้ค่ะ ไม่อย่างนั้น วิ่งไปได้ไม่เท่าไรก็อาจจะล้มฟุบ หมดแรงวิ่งก็ไม่ถึงเส้นชัยกันพอดีค่ะ
ทีนี้ อันดับแรกเลยก็คือ ตอบคำถามตัวเองก่อนว่า ตอนนี้สภาพการเงินของคุณเองเป็นอย่างไร ติดขัด หรือ สบาย ๆ ใช้จ่ายได้ไม่ขาดมือ ถ้าคุณมองว่าสภาพการเงินของคุณก็ราบรื่นดี ใช้จ่ายซื้อของได้ไม่ต้องห่วงอะไร งั้นก็มาดูที่อันดับสองคือ วัดกันที่ฐานะการเงิน อย่างเช่น ตัวเลขเงินในบัญชีเงินฝาก, หนี้สินที่ต้องชำระต่อเดือน, จำนวนหนี้คงค้าง, รายได้ และ ค่าใช้จ่ายจิปาถะทั้งหลาย ที่คุณมี เราก็จะเห็นภาพกันชัดมากขึ้นว่าตอนนี้ ฐานะการเงินของคุณเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเราอยากรู้งบดุลของตัวเอง เราก็พิจารณาจาก จำนวนยอดสินทรัพย์ และนำมาหักจาก ยอดหนี้สินทั้งหมด เหลือเป็น รายได้สุทธิเท่าไรก็คือ ความสมบูรณ์ทางการเงินของคุณนั่นเองค่ะ หรือคุณอาจจะดูจากการนำรายได้ต่อเดือนมาหักส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อเดือน ดูก็ได้นะคะ แล้วเหลือเงินอยู่เท่าไรกันบ้าง ผลลัพธ์อาจจะออกมาเป็น “ส่วนของเงินที่เหลือ” หรือ “ส่วนของเงินที่ขาด” ก็ได้ค่ะ เราจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ถ้าเราดูจากผลลัพธ์ที่ได้แล้วพบว่า เงินไม่พอ หรือ มีหนีสิ้นที่ต้องชำระเพิ่มเติม ก็ควรหาทางเคลียร์หนี้ก้อนนั้นออกไปก่อน และในขณะเดียวกันก็แบ่งเงินออกมาเป็นเงินออมสำหรับอนาคตไปด้วย แน่นอนว่าใครที่มีหนี้ก็อาจจะวิ่งช้ากว่าคนปลอดหนี้ค่ะ แต่อย่างน้อย ๆ คุณก็ยังได้เริ่มเตรียมตัววิ่งไปข้างหน้า ไม่ได้ย่ำเท้าอยู่กับที่นะคะ ลุยค่ะ
กลเม็ดต่อมาก็คือ เล็งเป้าหมาย ค่ะ เราแต่ละคนก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน และเราคนเดิมก็จะมีความต้องการที่ไม่เหมือนเดิมในช่วงวัยที่เปลี่ยนไปค่ะ ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่คุณ ๆ ควรจะแบ่งเป้าหมายออกเป็นช่วง ๆ เช่น เป้าหมายระยะสั้นของคุณก็อาจจะเป็นเรื่องล้างหนี้บัตรเครดิต หรือ โอกาสไปท่องเที่ยวต่างประเทศกับพ่อแม่สักครั้ง เมื่อเล็งเป้าหมายได้แล้วก็ให้เราประเมินไปด้วยเลยว่า เป้าหมายนั้น ๆ อย่างปลดหนี้บัตรทั้งหมดจำเป็นต้องใช้เงินเท่าไร สมมุติว่า 36,000 บาท ต้องล้างหนี้ให้หมดภายใน 1 ปี ก็คือ คุณจะต้องออมเงินให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 3,000 บาทสำหรับเป้าหมายแรกนี้ แล้วก็ทำเช่นเดียวกันกับเป้าหมายระยะสั้นข้อที่สองค่ะ อย่างที่บอกค่ะ ในแต่ละช่วงอายุ เราจะมีความต้องการที่ต่างกันออกไป ดังนั้น เป้าหมายระยะกลางคือ การเตรียมความพร้อมสำหรับความฝันด้านอื่น ๆ ในระยะไม่กี่ปีข้างหน้า เช่น คุณอาจจะมีแผนจะแต่งงานสร้างครอบครัว หรือ ศึกษาต่อระดับปริญญาโท หรือ อาจจะซื้อบ้านให้พ่อแม่ หรือ เปิดกิจการส่วนตัว ดังนั้น แผนการเงินระยะกลางจึงเป็นตัวเชื่อมตัวช่วยให้คุณต่อร่างแบบฝันที่ต้องการในอนาคตได้ค่ะ โดยคุณต้องกำหนดตัวเงินสำหรับฝันแต่ละอย่าง, ระยะเวลาที่ต้องการว่าจะอีกกี่ปีข้างหน้า และก็หารเฉลี่ยออกมาเป็นยอดเงินออมของแต่ละความฝันนั้น ๆ ค่ะ เพียงเท่านี้คุณก็จะรู้แล้วว่า ทุก ๆ เดือนที่เงินเข้ามานั้น คุณเหลือเงินออมพอที่จะนำมาสร้างฝันหรือเปล่า จะได้วางแผนต่อไปว่าจะต้องเลือกจำกัดรายจ่าย หรือ หารายได้เสริมอย่างไรกันบ้าง
และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ เป้าหมายระยะยาวค่ะ เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก วันนี้คุณอาจจะเพิ่ง 20 กว่า ๆ ย่างเข้า 30 ปี แต่การชีวิตหลังเกษียณโดยเงินจำนวนน้อย ๆ ไม่พอใช้นั้น ไม่น่าจะสนุกนักหรอกนะคะ ดังนั้น จงวางแผนการออมสำหรับใช้จ่ายเมื่อวัยเข้าเลข 6 กันไว้ด้วยค่ะ ซึ่งเงินที่คุณจำเป็นจะต้องใช้ในเวลานั้นน่าจะเป็นเลข 7 หลักนะคะ ลองนึกย้อนดูว่าแต่ก่อนเรากินข้าวจานละเท่าไร แล้วตอนนี้ข้าวแกงจานละเท่าไรแล้วคะ ทีนี้ อีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า ข้าวของจะราคาเท่าไร รู้อย่างนี้แล้ว คุณเองก็ รวยได้ด้วยเงินออม ค่ะ