ครอบครัวใหม่หลายๆครอบครัวเพิ่งเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว เพิ่งแต่งงาน และ กำลังจะมีลูก หรือ กำลังตั้งครรภ์ วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆมาบอกสำหรับการเตรียมพร้อมกับการมีสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น
เริ่มจาก การวางแผนการเงิน การเก็บเงินสำหรับไว้เป็นค่าใช้จ่ายให้ลูกน้อยนั้น เรายังอาจจะประมาณไม่ได้ว่าจะใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เราทราบได้ล่วงหน้าคือ ค่าตรวจครรภ์ ค่าคลอด ซึ่งขอแนะนำเลยว่าหากเป็นมนุษย์เงินเดือน การใช้บริการฝากครรภ์ และ คลอดที่ รพ.รัฐบาลจะดีที่สุด เพราะ แม้ว่าเราจะมีประกันสังคมซึ่งจ่ายค่าคลอดให้แต่รับรองว่าไม่พอแน่นอนหากเลือก รพ.เอกชน เพราะปัจจุบัน รพ.เอกชนจะมีโปรโมชั่นคลอดเหมาจ่ายราคาก็ประมาณ 30,000 อัพแต่ไม่รวมค่าตรวจครรภ์ที่เราต้องไปในแต่ละเดือนซึ่งไม่ต่ำกว่าครั้งละ 1,500 – 3,000 บาทแล้วแต่กรณี
ดังนั้นการเลือกฝากครรภ์ รพ.รัฐบาลใหญ่ๆ ที่มีเครื่องมีครบ อย่าง รพ.ตำรวจ รพ.จุฬา รพ.ราชวิถี รพ.พระมงกุฎ หรือ อื่นๆที่เราเดินทางได้สะดวกจะประหยัดเงิน แต่รับรองว่าบริการดีไม่แพ้ รพ.เอกชน แต่ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่ามาก ยาฉีด หรือ ยาบำรุงก็ชนิดเดียวกัน ตรวจก็เหมือนกัน และ ค่าคลอดถูกกว่าหลายเท่า เงินที่เบิกได้จากประกันสังคมยังเหลือให้เราได้ซื้อของใช้สำหรับลูกน้อยด้วย ซึ่งมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ไม่สูงส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีการแบบนี้ทั้งนั้นเพราะค่าใช้จ่ายหลังคลอดมันเยอะกว่ามากต้องเตรียมให้พร้อม
ต่อมาเมื่อคลอดแล้วเงินที่เราได้จากประกันสังคมสำหรับลูกคือเดือนละ 400 บาท สำหรับคนที่ จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือน ซึ่งอันนี้จะเลือกใช้สิทธิ์ได้ทั้งพ่อและแม่ แล้วแต่ว่าใครเขาเกณฑ์ก็นำไปยื่น ซึ่งเงินส่วนนี้จะได้จนลูกอายุ 6 ปี ได้มาแล้วก็ขอให้เก็บไว้ โดยสามารถเปิดบัญชีใหม่แยกต่างหากตามชื่อคนใช้สิทธิ์และเก็บไว้ให้ลูกเพื่อเป็นทุนการศึกษาในอนาคต หลายๆคนได้แล้วมาใช้จ่ายไม่เก็บถึงเวลาต้องการใช้เงินค่าเล่าเรียนก็ไม่มี 400 ต่อเดือนอาจดูไม่เยอะ แต่คูณด้วย 6 ปีไม่น้อยเลยทีเดียว คิดง่ายๆ 400 x 12 เดือน = 4,800 x 6 ปี = 28,800 สามารถใช้เป็นเงินเริ่มต้นการศึกษาได้อย่างสบายๆ ยิ่งใครที่ส่งลูกเรียน รร.รัฐบาล ยิ่งสบายเพราะ รร.รัฐบาลค่าใช้จ่ายน้อย เสียค่าชุด ค่าอุปกรณ์หรือค่าบำรุงต่างๆไม่เกินเทอมละ 3000 เงินก้อนนี้จะเป็นทุนได้อย่างสบายๆ และ พ่อแม่ควรต้องมีการเก็บเงินในแต่ละเดือนไว้ให้เป็นค่าใช้จ่ายของลูก เช่นค่ารักษาพยาบาล ค่านม ค่าของใช้ต่างๆ อย่างน้อยตอนตั้งครรภ์เริ่มกันไปเรื่อย พ่อกับแม่ รวมกันเดือนละ 2000 ก็ยังดีเก็บไปเรื่อยๆ ไม่ต้องหยุดเราจะมีเงินก้อนเป็นทุนในการใช้จ่ายส่วนของลูกโดยที่จะไม่กระทบการใช้จ่ายแต่ละเดือนมากนัก
ของใช้สำหรับเด็กบางอย่างเราประหยัดได้ เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ใครที่ลางานเลี้ยงลูกเอง 3 เดือนแรกไม่จำเป็นต้องใช้เลย นอกจากพาลูกน้อยออกไปนอกบ้านจะประหยัดไปได้มาก เช่นหาหมอตามนัด นมผงทารก 3 เดือนแรกควรทานนมแม่ให้ได้มากที่สุด และ แม่สามารถปั๊มน้ำใส่ถุงเก็บนมแช่ตู้เย็นไว้ได้ ทำให้มีนมแม่สำรองไว้สำหรับให้ลูกน้อยทานตอนที่เราไปทำงานโดให้คนเลี้ยงลูกที่เราหามานำใส่ขวดให้ทาน หรือ บางคนใช้นมผงสลับกับนมแม่เพื่อความสะดวกในเวลาเดินทางออกนอกบ้าน หรือ มีน้ำนมลูกทานไม่อิ่ม เรื่องของนมผงนั้นไม่ต้องประหยัดเลือกยี่ห้อที่ราคาถูก เลือกที่ลูกทานได้และเหมาะสม ราคาให้เป็นเรื่องรองและไม่ควรซื้อครั้งแรกเยอะๆ เลือกกล่องเล็กๆ ก่อนเพราะยังไม่รู้ว่าลูกจะทานได้ไหม ท้องเสียท้องอืดหรือเปล่าด้วย
ของใช้อื่นๆเช่น เสื้อผ้า ต่างๆหากเรามีรายได้ไม่มากอย่าไปตามอย่างใครเขาเพราะเด็กช่วงนี้จะโตไว ใช้ของราคาธรรมดาๆ เวลาเขาใส่ไม่ได้แล้วเราจะได้ไม่เสียดายเงิน ซื้อแค่เท่าที่พอใช้ และ จำเป็น เพราะยังมีเรื่องให้จ่ายอีกเยอะ เปล รถเข็น เลือกที่ราคาไม่สูง เพราะของพวกนี้เหมือนซื้อมาทิ้ง เมื่อไม่ได้ใช้ก็ต้องเก็บ หรือ บริจาค ขายเป็นมือสองไม่ได้ สำหรับเด็กวัยแรกเกิด – 1 ปีสิ่งสำคัญคือ เรื่องของการดูแลการให้นม การฉีดยาวัคซีน การรักษาโรคหากไม่สบาย สิ่งอื่นๆไม่จำเป็นต้องหรูต้องแพง ไม่ต้องตามแบบคนมีรายได้สูง เลือกใช้สิ่งที่เหมาะกับฐานะ เก็บเงินไว้ให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาตอนวัยเรียนจะดีกว่า