มีการทำสถิติ จาก ศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่าในปีนี้ ( 2558) สถิติหนี้สินครัวเรือน ของประชากรไทยเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้วถึง 13.16% โดยมีสาเหตุจาก ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ภาระหนี้สินที่สูงขึ้น ซึ่งในการสำรวจข้อมูลนั้นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ระบุว่า รายรับน้อยกว่ารายจ่าย โดยมีปัจจัยหลัก ที่ทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น คือ รายได้ลดลง ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากภัยธรรมชาติ มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก และค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน
จากข้อมูลนี้ ทำให้เราสามารถสรุปได้คร่าวๆว่า ปัจจัยที่ทำให้คนมีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายนั้น บางครอบครัวไม่ได้ฟุ่มเฟือยจนเกินเหตุ แต่ด้วยปัจจัยหลักคือ ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น ทำให้เงินรายได้ที่มีเข้ามานั้นมีมูลค่าลดลง ไม่พอต่อการใช้จ่าย ซึ่งเราคงทราบกันดีว่าปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายต่อวันนั้นสูงขนาดไหน ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร บางครอบครัวมีรายได้น้อย ก็ทำให้ต้องกลายเป็นหนี้ทั้งในระบบ และ นอกระบบ เพื่อหาเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายในครอบครัว และ หากครอบครัวไหนมีบุตรหลายคน จะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย เพราะ ต้องเสียค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายสำหรับบุตรหลายเดินทางไปเรียน หรือ บางคนอยู่หอพัก ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ซึ่งสภาพเศรษฐกิจของสังคมไทยตอนนี้ มันเหมือน พายเรืออยู่ในอ่าง เพราะ วนไปวนมาหาทางออกไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามกันกี่ยุค กี่สมัย ภาครัฐก็ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ แม้ว่าแต่ละครอบครัวจะพยายามประหยัด ลดภาระต่างๆให้มีเงินพอใช้โดยไม่ต้องเป็นหนี้ แต่มันก็ยังแก้ปัญหากันไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้นั้นบอกเลยว่ายาก หากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังมีภาวะฝืดเคืองอยู่แบบนี้ รายจ่ายสูงเกินจริง รายรับต่ำ ทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่หมดไป ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างราคาสินค้า ซึ่งความจริงแล้ว สินค้าบางชนิดราคาต้นทุนไม่สูงมากนัก ในขั้นตอนการผลิต แต่ ที่ราคาแพง เพราะมีปัจจัยอื่นๆมาประกอบเช่น ค่าโฆษณา ค่าภาษี และ อื่นๆ ทำให้สินค้านั้นมีราคาแพงขึ้น และ เมื่อส่งออกมายังตลาด ก็จะมีการผ่านพ่อค้าคนกลาง ราคาก็จะถูกบวกเพิ่มขึ้นไปอีก สุดท้ายปลายทางคือ คนซื้อที่ต้องแบกรับภาระ ซื้อสินค้าราคาแพง ไม่เว้นแม่กระทั่งไข่ไก่
ซึ่งปัจจุบันราคาตามตลาด หรือ ตามร้านของชำ ไข่ไก่จะตกอยู่ใบละ 4 บาท ซึ่งถือว่าแพงพอสมควร คงต้องบอกเลยว่า นี่เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่ไข่ไก่ใบละ 4 บาท และอนาคตมันอาจจะแพงมากขึ้นกว่านี้ แต่ ราคาขายจากหน้าฟาร์มนั้นบอกเลยว่า เกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่ นั้นแทบไม่ได้อะไรเลย หรือ ราคาอาหารตามร้านอาหารตามสั่งธรรมดาๆ ข้างทาง คิดง่ายๆผัดกระเพราไข่ดาว จานละ 45 บาท ต้นทุนจริงๆ เคยมีการวิเคราะห์มาแล้วว่าอยู่ที่จานละไม่เกิน 25 บาท ส่วนที่ราคาที่เราจ่ายแพงๆ กันนั้น คือ ส่วนที่บวกกำไรกันขึ้นมาตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยเช่น ค่าแก๊สขึ้น ค่าวัตถุดิบขึ้น แต่พอทุกอย่างลงราคา ราคาอาหารก็ไม่ลดลงไปด้วย คนที่แบกภาระก็คือประชาชนอีกตามเคย
นี่เป็นราคาคร่าวๆจากร้านธรรมดาๆ ข้างทาง แต่หากเป็นร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้า ราคาก็จะทวีคูณไปอีกเป็น สอง หรือ สามเท่า เพราะมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงาน ทำให้ปัจจุบันราคาอาหารในห้างสรรพสินค้า แพงขึ้นจนบางคนไม่กล้าทานแม้ในกระทั่งฟู้ดส์คอร์ส เพราะราคาสูงกว่าร้านธรรมดาเกือบสองเท่า ในเมนูอาหารบางชนิด และ เราที่เป็นประชาชนที่อยู่ในสังคมนี้จะทำอย่างๆไร หลายๆคนเลือกทางออกโดยการประหยัด ลดสิ่งฟุ่มเฟือย ซื้ออาหารสดมาทำเอง บางอย่างซื้อยกโหล ยกแพค เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกกว่า หรือ หารายได้เสริม เพื่อให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเพียงพอกับการใช้จ่าย ปัญหาเศรษฐกิจแบบนี้เราจะต้องเผชิญกันอีกหลายปี หรือ อาจจะตลอดทั้งชีวิตเลยก็ได้
สิ่งที่อยากจะบอกคือ ต้องมีสติรอบคอบกับการใช้เงิน เพราะเงินหายาก กว่าจะได้มาแต่ละบาทหลายคนเหนื่อยแทบขาดใจ กระแสสังคมบางอย่าง เราไม่จำเป็นต้องทำตาม อยู่อย่างพอเพียงในแบบของเรา รับรองว่าจะอยู่รอดในยุคที่เศรษฐกิจตกสะเก็ดแน่นอน
ที่มาของข่าว : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/663950