การ วางแผนการเงิน นั้นเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้คุณมีเงินพอใช้และเหลือเก็บไว้ใช้ในอนาคตแต่คงจะดีกว่านั้นหากคุณมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการนำเงินที่มีอยู่ไปทำอะไรบ้าง เช่น ฝากธนาคาร, ซื้อของที่อยากได้, ท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ เป็นต้น เพราฉะนั้นเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญเหมือนนักวิ่งที่ต้องการวิ่งเพื่อให้ไปถึงเส้นชัย หากคุณมีเส้นชัยของคุณแล้วคงไม่ยากที่คุณจะวิ่งไปให้ถึง บทความนี้จะแนะนำถึงการสร้างเป้าหมายที่คุณควรทำ ดังนี้
อันดับแรก การสำรวจตัวเองว่าคุณมีเป้าหมายอะไรบ้าง เช่น ซื้อบ้าน, ซื้อรถ, ท่องเที่ยวเป็นต้น อาจกำหนดมาประมาณสี่ถึงห้าข้อ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการแบบไหนให้คุณเขียนมันออกมา จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการวางแผนเพื่อทำเป้าหมายให้สำเร็จ
การเขียนเป้าหมายเป็นข้อ ๆ ทำให้เราเห็นภาพของเส้นชัยชัดเจนขึ้นมากกว่าการนึกขึ้นมาเฉย ๆ ว่า ฉันอยากได้สิ่งนั้น ฉันอยากไปที่นั่น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเราอาจหลงลืมเป้าหมายบางข้อไปก็เป็นได้ และการแบ่งเป้าหมายควรแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาว ดังนี้
- การวางแผนเป้าหมายระยะสั้น
คือการวางแผนไม่เกิน 1 ปี เพราะในบางครั้งการวางแผนระยะยาวที่กว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลานานอาจทำให้เราหมดกำลังใจก่อนได้ จึงควรมีแผนระยะสั้นเตรียมไว้เป็นเหมือนกับการให้กำลังใจตัวเองว่าเราก็สามารถทำได้ เช่น การเก็บเงินซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยากได้, เก็บเงินท่องเที่ยวทริปเล็ก ๆ กับเพื่อนเป็นต้น เมื่อทำสำเร็จนอกจากจะได้สิ่งของหรือได้ไปเที่ยวตามที่ต้องการแล้วยังเป็นการเอาชนะใจของตนเองและสร้างวินัยให้กับตนเองอีกด้วย
- การวางแผนเป้าหมายระยะยาว
คือการกำหนดความต้องการของเราที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งสิ่งที่เราอยากทำ อยากได้หรือการใช้ชีวิตเมื่อแก่ตัวลง อาจจะประมาณ 5 ปี 10 หรือ20 ปี ซึ่งเป้าหมายที่เราตั้งไว้คือเป้าหมายหลักที่อาจต้องใช้เงินจำนวนมากและความพยายามที่มากเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายและการที่จะไปถึงเป้าหมายต้องวางแผนอย่างละเอียดรัดกุมเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุดเพราะเป้าหมายเหล่านี้จะทำให้เรามีความสุขในอนาคตนั่นเอง เช่น การเก็บเงินเพื่อเรียนต่อ, แต่งงาน, สร้างบ้านใหม่, ส่งลูกเรียน เป็นต้น
หลังจากนั้นทั้งการวางแผนระยะสั้นและระยะยาวควรเรียงลำดับความสำคัญของเป้าหมายแต่ละข้อให้ดีว่าควรทำข้อไหนก่อนหลัง โดยขั้นตอนการวางแผนการเงินสรุปได้ดังนี้
- สำรวจสิ่งที่มี คือการสำรวจว่า ณ ปัจจุบันชีวิตเราเป็นอย่างไร มีรายได้เท่าไหร่ มีอะไรที่เรามีแล้วหรือยังไม่มีบ้าง เช่น บางคนมีรถแต่ยังไม่ได้บ้านเป็นของตัวเอง เป็นต้น รวมทั้งรายรับรายจ่ายที่ต้องใช้จ่ายเป็นประจำ การสำรวจตัวเองจะทำให้เรามองเห็นตัวแปรที่ส่งผลต่อแผนการเงินของเราเป็นเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่ควรรู้ เมื่อทราบข้อจำกัดดังกล่าวแล้วนำมาปรับใช้กับแผนของตนเอง เช่น หากคุณเป็นคนที่มีทุนน้อย คุณจึงไม่ควรเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพราะต้องการใช้ความรู้และประสบการณ์มาก
- กำหนดระยะเวลาของเป้าหมายที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ การกำหนดเป้าหมายควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงไม่เพ้อฝัน เช่น เป้าหมายคือการเป็นมหาเศรษฐีภายในสองปีในขณะที่คุณมีเงินเดือนไม่ถึงสองหมื่นบาท เพราะนอกจากจะเป็นไปได้ยากแล้วอาจทำให้คุณท้อและล้มเลิกไปเสียก่อน ต้องคำนึงว่าเป้าหมายที่เราต้องการต้องใช้เงินเท่าไหร่แล้วใช้ระยะเวลาในการเก็บเงินเท่าไหร่ถึงจะสำเร็จ เช่น คุณอยากไปเที่ยวโดยกำหนดงบประมาณ 50,000 บาท คุณอาจคำนวณจากรายได้ในแต่ละเดือนว่าต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่ถึงจะครบ 50,00 บาท ที่สำคัญคุณต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงไม่ท้อไปเสียก่อน
- แบ่งเงินเป็นสัดส่วน การแบ่งเงินให้เป็นสัดส่วนตามความเหมาะสมจะทำให้เราจัดการกับเงินของเราได้ง่ายถึง ทั้งรายรับ รายจ่ายที่เป็นพื้นฐานของการวางแผนทางการเงินโดยทั่วไป โดยค่าใช้จ่ายอาจแบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง, ค่าที่พัก, ค่าประกัน, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์ และอีกข้อหนึ่งคือค่าใช้จ่ายพิเศษที่อยู่นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว เช่น ค่าเสื้อผ้าเครื่องสำอาง, ท่องเที่ยวต่าง ๆ แน่นอนว่ารายจ่ายส่วนนี้ควรมีน้อยกว่าส่วนแรกและเราควรจัดการกับรายได้ประจำก่อน ส่วนรายจ่ายพิเศษนั้นควรพิจารณาเป็นกรณีไปว่าควรจ่ายหรือไม่
- ลงมือตามแผน เมื่อวางแผนเรียบร้อยแล้วขั้นตอนของการลงมือนั้นสำคัญมากเพราะการที่จะทำตามเป้าหมายให้ได้นั้นการวางแผนเพียงอย่างเดียวคงไม่อาจช่วยได้ ในช่วงของการดำเนินการอาจมีการปรับแผนสำหรับสถานการณ์ต่างๆ เช่น การลดค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่จำเป็น แต่ต้องไม่ทำให้ตัวเองลำบากมากเกินไปควรเดินทางสายกลางจะดีที่สุดอย่ามองเพียงเป้าหมายจนลืมความสุขระหว่างทาง
ในส่วนของประเด็นอื่น ๆ ที่ควรคำนึงหนึ่งคือการใช้จ่ายที่ควรรู้และพร้อมที่จะจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
- การลงทุน ควรศึกษาให้ละเอียดรอบคอบเพราะการลงทุนมีความเสี่ยงอยู่เสมอ
- การออม เป็นสิ่งง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ เพียงตั้งใจเรียนรู้
- การบริหารหนี้ การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่เราควรบริหารหนี้ให้ดีไม่ให้หนี้งอกเงยจนรับมือไม่ไหว
- บัตรเครดิต ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจให้มากขึ้นเพราะเมื่อเราเผลอจ่ายไปแล้วเราไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้
- การทำประกัน เป็นการป้องกันความเสี่ยงอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจแต่ควรศึกษาให้ดี
- ภาษี ภาษีที่เราต้องจ่ายควรมีการวางแผนการใช้จ่ายให้ดี เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาในภายหลัง
การ วางแผนการเงิน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนอาจทำให้เราไปถึงเส้นชัยได้เร็วขึ้น แต่คงไม่มีประโยชน์อะไรหากเราไม่ลงมือทำ เริ่มเสียแต่วันนี้เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า