สำหรับผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่านเมื่อนึกถึงการทำการตลาดก็อาจจะนึกถึงเรื่องของการสร้างสรรกลยุทธ์ทางธุรกิจให้กับสินค้าและบริการของร้านเท่านั้น ซึ่งในมุมมองของ Philip Kotler กูรูด้านการตลาด ที่ได้รับการยอมรับในเวทีธุรกิจระดับโลก เจ้าของผลงานหนังสือด้านการตลาดกว่า 15 เล่ม อย่างเช่น หนังสือที่ชื่อ Marketing Management ที่ได้รับการโหวตให้เป็น 1 ใน 50 สุดยอดหนังสือดีแห่งประวัติศาสตร์จากหนังสือพิมพ์ Financial Time
นอกจากนี้ เขายังได้รับคะแนนนิยมโหวตให้เป็นผู้นำทางแนวคิดการตลาดจากสมาคมการตลาดอเมริกัน และเป็นเจ้าของรางวัลเกียรติยศมากมาย ทั้งรางวัล Distinguished Marketing Educator, รางวัล Charles Coolidge Parlin Marketing, รางวัล Marketing Excellence และ รางวัล Paul D. Converse ผลงานที่ผ่านมาของ Philip Kotler นอกเหนือจากการเป็นอาจารย์ เขายังเป็นที่ปรึกษาและนักวางกลยุทธ์ให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น General Electric (GE), Honeywell, IBM, Merck และ Bank of American ค่ะ
ความน่าสนใจในหลักคิดด้านการตลาดของ Kotler นั้น ส่วนหนึ่งมาจากมุมมองที่แตกต่างของเขา โดยเขาให้หลักการใหม่สำหรับการทำการตลาดให้ประสบความสำเร็จว่าจะพึ่งพาแค่สินค้าหรือบริการเท่านั้นไม่ได้
แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องแบ่งการทำงานด้านการตลาดออกมาเป็น 10 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย สินค้า, บริการ, ประสบการณ์, การเข้าร่วมกิจกรรมทางการตลาด, บุคคล, สถานที่, อสังหาริมทรัพย์, ตัวองค์กร, ข้อมูล และ ความคิดสร้างสรร และอันที่จริงทุก ๆ บริษัทเองต่างก็มีครบทั้ง 10 ส่วนการตลาดนี้ ขาดแต่เพียงว่าใครจะสามารถรวมผนึกกำลังของนิ้วทั้ง 10 ให้กลายเป็นมือที่แข็งแกร่งขององค์กรได้มากกว่ากันค่ะ ผู้ประกอบการบางท่านอาจจะมีความสงสัยว่า “บุคคล” จะช่วยส่งเสริมการตลาดได้อย่างไร ก็ขอให้ดูตัวอย่าง คุณตัน เจ้าของแบรนด์น้ำชาเขียวที่มีภาพลักษณ์ชัดเจน เมื่อไรที่มีภาพคุณตันออกสื่อ เมื่อนั้นก็เป็นที่รู้กันว่าถึงเวลาที่ทุกคนรอคอยรับมอบโชคแล้วค่ะ
ส่วนในเรื่องของสถานที่นั้น ถ้าแบรนด์มีร้านอยู่หลายสาขา องค์กรก็อาจจะจัดโปรโมชั่นเฉพาะการใช้บริการที่สาขาเปิดใหม่เพื่อสร้าง Brand Awareness ขึ้น หรือในกรณีของการตลาดผ่านอสังหาริมทรัพย์ ก็อาจจะนำกลยุทธ์ Localization เข้ามาประยุกต์ลงไปด้วยที่เห็นได้ชัดเจนกว่าใครก็คือแบรนด์กาแฟระดับโลก Starbucks ที่มักจะออกแบบร้านของตนให้อิงตามสถาปัตยกรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ และดึงออกมาเป็นจุดขายที่สร้างความประทับใจให้ทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างแดน อย่างที่เพิ่งมีการเปิดตัวไปล่าสุดสำหรับร้านสตาร์บัคค์ที่จังหวัดเชียงใหม่ กับแคมเปญนุ่งผ้าซิ่นจิบกาแฟภายใต้บรรยากาศล้านนาแท้ ๆ ที่แน่นอนว่าลูกค้าคงฟินตาม ๆ กันได้ไม่ยากค่ะ ในมุมของการตลาดผ่านตัวองค์กรนั้น ผู้ประกอบการคงจะคุ้นหูคุ้นตากันดีกับการตลาดรูปแบบ CSR สำนึกต่อสังคม อย่างโครงการบริจาคผ้าห่มต้านภัยหนาว หรือ การตลาดรูปแบบ CRM สิทธิพิเศษแด่ลูกค้าคนสำคัญ ด้วยการมอบข้อเสนอสุดพิเศษให้ผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นดูหนังฟรี, ชมคอนเสิร์ตฟรี หรือจัดแพคเกจท่องเที่ยวสุดประหยัดให้
อ่านเพิ่มเติม >>> สร้างประสบการณ์ หมัดเด็ด กลยุทธ์การตลาด สมัยใหม่ <<<
นอกจากนี้ Philip Kotler ยังได้อธิบายถึงยุคการตลาดสำหรับสินค้าและบริการต่าง ๆ ว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุคด้วยกัน เริ่มจาก
ยุค 1.0 กับแนวคิดการตลาดมหาชน (Mass Market)
ซึ่งผู้ประกอบการจะเน้นเรื่องการขายสินค้าเป็นหลัก ทำให้ผลิตสินค้าออกมาคราวละมาก ๆ จนบางครั้งเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด เพราะมีจำนวนมากเกินความจำเป็น แล้วจากนั้นก็ค่อยหันมาใช้กลยุทธ์ทางการตลาดออกมากระตุ้นยอดซื้อ หรือ บางรายก็อาจจะเลือกเล่นสนุกกับกิเลสของลูกค้าภายใต้คำพูดทางการตลาดเก๋ ๆ ว่า การคืนกำไร เช่น โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม หรือ ลุ้นตั๋วเครื่องบิน เป็นต้นค่ะ ถัดมาคือ
ยุคการตลาด 2.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร หรือ The information Age
โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะหันมาดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคด้วยการหยิบยื่นข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีองค์ความรู้ผ่านตรรกะที่ว่า Consumer Centric อย่างเช่น การที่เครื่องดื่มบางยี่ห้อ บอกรายละเอียดของสารอาหารที่เป็นองค์ประกอบหลักพร้อมชี้แจงว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ หรือ การที่ผลิตภัณฑ์สี หรือ เครื่องปรับอากาศและสินค้าอีกหลาย ๆ ประเภท พากันเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่พร้อมด้วยเทคนิคพิเศษที่เน้นเรื่องข้อดีต่อสุขภาพของลูกค้ามากขึ้นอย่างชัดเจนค่ะ
ยุคการตลาด 3.0 คือการตลาดที่ธุรกิจจะเปลี่ยนมาก้าวเดินกันด้วยค่านิยม
ซึ่งนักการตลาดและผู้ประกอบการจำเป็นตัองงัดเอาทุกกลยุทธ์การตลาดที่มีออกมากระชากและตรึงความสนใจของผู้บริโภคเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลยุทธ์การตลาดเชิงอารมณ์ร่วม (Emotional Marketing) หรือ การตลาดเชิงสัญชาตญาณของคนเรา (Human Spirit Marketing) เพื่อให้ผู้บริโภคมีความใกล้ชิดกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น อย่างเช่นที่เรามักจะเห็นสื่อการตลาดของแบรนด์ค่ายใหญ่หลาย ๆ ราย เริ่มหันมาเน้นด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะจะกระตุ้นได้ทั้งความรู้สึกและความปรารถนาที่คนเราสมัยนี้ต่างก็โหยหาความอบอุ่นในครอบครัว แต่ก็ติดกับดักขีดจำกัดของเวลาที่เร่งรีบในแต่ละวัน ทำให้ละเลยหรือมองข้ามสิ่งสำคัญเหล่านี้ไปบ้างในบ้างเวลา
ถ้าแบรนด์ไหนสามารถสร้างค่านิยมที่ตอบโจทย์พฤติกรรมเหล่านี้ได้ แบรนด์นั้นก็มักจะได้ใจจากผู้บริโภคไปแบบเต็ม ๆ เหมือนอย่างเช่นที่แบรนด์แอพพลิเคชั่น LINE กำลังประสบความสำเร็จจากการชูค่านิยมสื่อสารผ่าน LINE อยู่ในขณะนี้ หรือ การที่แบรนด์ร้านอาหารบางแห่งเริ่มส่งสัญญาณความผูกพันในครอบครัวออกมาเป็นกระแสทั้ง BarBQ และ ซุปคนอร์ ค่ะ