กว่าจะมีวันนี้กันได้ เราแต่ละคนต่างก็ต้องผ่านช่วงเวลาและช่วงวัยต่าง ๆ มากันทั้งนั้น ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านไป คนแต่ละคนก็มีเรื่องราวประสบการณ์ที่เคยได้สัมผัสหรือชื่นชอบและยังนึกถึงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ขนาดที่ว่าอยากจะย้อนเวลากับไปในช่วงเวลานั้นอีกครั้ง เพราะอย่างนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่กลยุทธ์การตลาดรำลึกความหลัง หรือ Nostalgic Marketing ถูกออกแบบมาเพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภคที่ยังคงคิดถึงภาพในวันวานและอยากจะไปสัมผัสช่วงเวลานั้นอีกสักครั้ง
เราจึงได้พบเห็นกระแสตลาดโบราณ อย่าง เพลินวาน แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิดของอำเภอหัวหินที่ดีกรีความนิยมไม่เสื่อมคลายเลย หรือ การย้อนวันวานผ่านเสียงเพลงและคอนเสิร์ตต่าง ๆ ที่ขนทัพศิลปินนักร้องในตำนานให้กับมาสร้างสีสรรและสร้างเม็ดเงินทางการตลาดให้กลับมาคึกคักกันอีกครั้ง นี่ยังมีเรื่องของหนังและละครที่ก็มักจะดึงช่วงเวลาในอดีตกลับมาทวนความจำกัน และล่าสุดแบรนด์น้ำดำรายหนึ่งก็เปิดตัวสินค้าด้วยการตอกย้ำความทรงจำในวัยเด็กให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกร่วมอยากจะหาซื้อสินค้ามารำลึกอดีตกันบ้าง แม้ว่าการตลาดแนวย้อนยุคอาจจะสวนกระแสความทันสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบันไปบ้าง แต่ทั้งสองด้านก็สามารถไปด้วยกันได้อย่างดี ผู้ประกอบการจึงควรนำกลยุทธ์การตลาด Nostalgic Marketing การตลาดย้อนเวลา มาประยุกต์ใช้กันบ้างนะคะ
สิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขับเคลื่อนธุรกิจด้วย การตลาดย้อนเวลา ก็ต้องสามารถดึงเอกลักษณ์และความคลาสสิคในอดีตออกมาเป็นจุดขายในสายตาของผู้บริโภคให้ได้ อย่างเช่น กิจการโรงแรมบางแห่งก็จะมีการจัดแต่งสถานที่ของโรงแรมให้เป็นรูปแบบของไทยประยุกต์และนำเสนอคู่ไปกับการแต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุค หรือ การที่ร้านกาแฟโบราณหลาย ๆ ร้านเลือกใช้อุปกรณ์ชงกาแฟและแก้วกาแฟ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์โต๊ะเก้าอี้ต่าง ๆ ให้ออกมาแนวอดีต ก็เป็นการกระตุ้นการจดจำและการรับรู้ของผู้บริโภคได้ในทันทีค่ะ เนื่องจากรูปแบบของการตลาดเป็นการย้อนอดีต จุดขายคือความคลาสสิค ดังนั้นต้นทุนบางก้อนจึงค่อนข้างจะถูกกว่าการทำการตลาดแบบไฮเทค ไฮเทคโนโลยีที่ต้องวิ่งไล่กับความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมต่าง ๆ และต้นทุนธุรกิจก็จะสูงขึ้นไปด้วย
อ่านเพิ่มเติม >>> กลยุทธ์การตลาด ทำยังไงให้คนจดจำ ! <<<
นอกจากนี้จุดเด่นของการทำตลาดแนวย้อนอดีต ผู้ประกอบการสามารถกำหนดรูปแบบเละจำกัดลักษณะการทำธุรกิจได้เอง โดยสามารถเลือกนำของตกแต่งของตนเองออกมาใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ของทางร้านก็ไม่ต้องไปหาซื้อใหม่ ตัวอย่างของการนำกลยุทธ์ Nostalgic Marketing มาช่วยประหยัดต้นทุนได้ดีก็คือ ธุรกิจบ้านพักแบบโฮมสเตย์ที่ตลาดน้ำอัมพวา โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้บ้านพักที่อยู่กลางสวนผลไม้ และบ้านบางหลังก็ได้รับการใช้งานอยู่อาศัยจากเจ้าของบ้านจริง ๆ แต่นำมาปรับปรุงและจัดวางเตียงนอนเข้าไปก็สามารถนำมาใช้เป็นสถานที่พักผ่อนให้กับนักท่องเที่ยวได้แล้วค่ะ เพราะนักท่องเที่ยวที่เลือกมาพักผ่อนที่นี่ ส่วนมากก็คือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศมานอนเล่นในแบบวิถีชาวบ้านสวนเหมือนกับความเป็นอยู่ของคนไทยในอดีตที่ปัจจุบันหาได้ยากในใจกลางเมือง ลูกค้ากลุ่มนี้จึงไม่ใช่ผู้ที่ต้องการเน้นเรื่องความสะดวกสบายแบบบริการของโรงแรมห้าดาว ในทางตรงกันข้าม ลูกค้ากลุ่มนี้มองหาความสงบเรียบง่ายจากธรรมชาติ จึงไม่ต้องปรุงแต่งอะไรให้มาก ต้นทุนธุรกิจจากตลาดกลุ่มนี้จึงไม่สูงมากนักค่ะ
กิจการร้านค้าส่วนมากมักเลือกจับกลุ่มตลาดขนาดใหญ่ที่เน้นไปเพื่อตอบโจทย์ในอนาคตหรือไม่ก็ปัจจุบัน น้อยรายนักที่จะเลือกย้อนสู่ความประทับใจในอดีตมาเป็นจุดเปิดการขาย อาจเพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วคนไม่น่าจะให้ความสนใจกันแล้ว ทำให้การตลาดแนว Nostalgic Marketing หรือ การตลาดรำลึก นั้นค่อนข้างจะมคู่แข่งน้อย
ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการสามารถนำกลยุทธ์ย้อนอดีตมาใช้ได้อย่างเหมาะสมและสามารถสร้างความประทับใจหรือสื่อถึงคุณค่าในอดีตกับลูกค้าได้ทุกคน ให้เขาสามารถนำไปพูดต่อได้อย่างถูกใจ อิทธิพลของ Word of Mouth ก็จะพาฐานลูกค้ามาเพิ่มให้ธุรกิจมั่นคงขึ้นได้ไม่ยากค่ะ
ตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการย้อนวันวานก็คือ จักรยานยนต์แบรนด์ยามาฮ่า ฟีโน่ ที่มาพร้อมดีไซน์รถย้อนยุคแต่แฝงความคลาสสิคในอดีตเอาไว้ได้อย่างลงตัว ทำให้ยอดจำหน่ายจักรยายนต์ยามาฮ่า ฟีโน่ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์และช่วยพลิกแบรนด์ยามาฮ่าให้กลับมาติดตลาดได้อีกครั้งอย่างงดงามค่ะ หรือ ในกรณีธุรกิจตัวอย่างจากบริษัทรถยนต์บีเอ็มดับบิลยูแห่งประเทศเยอรมัน ที่ก็เลือกประยุกต์การตลาดแนวย้อนรำลึก Nostalgic Marketing มาใช้กับค่ายรถยนต์มินิคูเปอร์ที่บริษัท BMW เพิ่งซื้อกิจการมาครอง และบริษัทก็รู้ดีว่าความสำเร็จสูงสุดของรถมินิเมื่อ 40 ปีก่อนนั้นมาจากอะไร และเป็นเรื่องยากที่แบรนด์รถมินิจะทิ้งเงาความสำเร็จในอดีตไป ดังนั้น แบรนด์ BMW จึงเลือกนำรถยนต์มินิในช่วงยุคค.ศ.ที่ 20 มาจัดการปรับโฉมให้ดูโมเดิร์นขึ้นแต่ก็ยังคงเอกลักษณ์คลาสสิคของมินิในปีนั้นเอาไว้ โดยออกชื่อรุ่นว่า “มินิคูเปอร์” ซึ่งผลลัพธ์ก็คือยอดขายสูงถล่มทลายจนถึงปัจจุบัน จากผลการตอบรับของลูกค้าที่เกินคาดและหนึ่งในเหตุผลที่ลูกค้าเลือกซื้อก็คือความประทับใจและความนิยมสินค้าคลาสสิคเป็นสำคัญ ส่งผลให้รถยนต์มินิคูเปอร์สามารถทำยอดขายได้สูงอย่างรวดเร็วและยังใช้เวลาในการปิดการขายน้อยมาก ๆ อีกด้วยค่ะ ความประทับใจในวันวานทำให้คนยอมควักเงินกันได้จริง ๆ นะ พูดเลย