ตามหัวเรื่องเลย… ว่าเคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่า พันธบัตรรัฐบาล กับตั๋วเงินคลัง คือ เรื่องเดียวกันหรือเปล่า ได้ผลตอบแทนเหมือนกันหรือเปล่า แล้วประชาชนอย่างเราๆ จะหาซื้อสำหรับการลงทุนได้บ้างหรือเปล่า บทความนี้มีคำตอบ…. มาอ่านกันได้เลย
ก่อนที่เราจะไปถึงพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคลัง เรามาทำความรู้จักคำว่า “ตราสารหนี้ภาครัฐ” กันก่อนดีกว่าว่าคืออะไร
ตราสารหนี้ภาครัฐ คือ การออกตราสารหนี้มาเพื่อระดมทุนทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ โดยมีกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ เป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งตราสารหนี้ภาครัฐก็มีหลากหลายแบบเหมือนกัน โดยสามารถแบ่งได้ 4 กลุ่มใหญ่ คือ ตราสารหนี้รัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน
อ่านเพิ่มเติม >>> ลงทุนใน ตราสารหนี้ ไม่มีหนี้ แต่มีเงินเพิ่ม <<<
ทีนี้เราทำความรู้จักพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคลังกัน
ซึ่งทั้งสองประเภทนี้เป็นส่วนหนึ่งของตราสารหนี้ภาครัฐ แต่จริงๆ แล้วตราสารหนี้ภาครัฐยังมีอีก 2 ประเภท คือ
- ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้
- พันธบัตรออมทรัพย์
โดยแต่ประเภทก็มีวัตถุประสงค์ในการออกไม่เหมือนกัน เรามาเริ่มที่ตั๋วเงินคลังกันก่อนเลย ตั๋วเงินคลัง หรือ Treasury Bill เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ออกจำหน่ายในตลาดแรก ด้วยวิธีการประมูลในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ตราตามหน้าตั๋ว เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ถือก็จะเงินเต็มจำนวนตามมูลค่าหน้าตั๋ว ซึ่งผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในตั๋วเงินคลัง คือ ส่วนต่างของราคาตามหน้าตั๋วกับส่วนลดที่เราได้รับ ณ วันที่ซื้อตั๋วเงินคลัง
ตราสารหนี้ภาครัฐอีกประเภทหนึ่ง ก็คือ พันธบัตรรัฐบาล หรือ Government Bond เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป รัฐบาลออกมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อรายจ่ายมากกว่ารายรับ หรือออกมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรือออกมาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้สาธารณะของประเทศ ส่วนผลตอบแทนที่จะได้รับจากพันธบัตรรัฐบาล ได้แก่ ดอกเบี้ยรับที่จะจ่ายในอัตราคงที่ ณ วันที่ประกาศขาย และจะจ่ายปีละ 2 ครั้ง ตามที่แจ้งในหนังสือชี้ชวน
สำหรับการเสนอขายตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลนั้น กระทรวงการคลังจะเป็นผู้เสนอขายให้กับธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ กองทุนต่างๆ บริษัทประกัน หรือบริษัทที่มีเงินฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจะใช้วิธีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย หรือจะเสนอขายให้กับมูลนิธิ สหกรณ์ หรือนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งการขายตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลนั้นไม่ได้เสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไป
ตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลถือได้ว่าเป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในบรรดาตราสารหนี้ทั้งหมดก็ว่าได้ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคลังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกและค้ำประกันวงเงินทั้งหมด นั่นก็หมายความว่า เงินต้นที่เราใช้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือตั๋วเงินคลังนั้นจะไม่หายไปไหน และเราก็ยังได้ผลตอบแทนมาในรูปของดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาล หรือจะได้เป็นส่วนลดจากการซื้อตั๋วเงินคลังและเมื่อเงินครบกำหนดก็ได้เงินตามหน้าตั๋ว
แล้วถ้าเราต้องการที่จะลงทุนในตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลล่ะ เราจะสามารถหาซื้อหรือสั่งจองได้ที่ไหน…
คำตอบก็คือ โดยทั่วไปแล้วตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลนั้นไม่ได้เสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไปอย่างเราๆ ดังนั้นถ้าต้องการลงทุนในตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาลจริงๆ แล้วล่ะก็ เราสามารถลงทุนได้โดยผ่านกองทุนรวม ที่ บลจ.ต่างๆ จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งกองทุนรวมที่ลงทุนในตั๋วเงินคลังโดยเฉพาะนั้นจะเรียกว่า กองทุนรวมตลาดเงิน หรือ Money Market Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารระยะสั้นจำพวกตั๋วเงินคลัง เงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน
ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ก็เรียกว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละ บลจ.ว่าจะแบ่งเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นจำนวนเงินเท่าไร ถ้าเราถูกใจเราก็เลือกลงทุนเลย เพราะกองทุนรวมทั้งสองประเภทนี้มีระดับความเสี่ยงต่ำเช่นเดียวกับความเสี่ยงของตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาล แต่เราอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้กับ บลจ. ที่อาจทำให้เงินลงทุนในครั้งแรกอาจจะไม่เท่ากับวันแรกที่เราลงทุนไป