ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน และค่าครองชีพที่มีแต่จะสูงขึ้น ถ้าใครไม่สามารถปรับลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว หนทางแก้ไขช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายก็คงจะเป็นเรื่องของการเพิ่มรายรับให้สูงขึ้น แต่การได้มาซึ่งรายรับก็ย่อมต้องอาศัยการลงทุน ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่และมือสมัครเล่นหลาย ๆ ท่านพากันไม่มั่นใจกับการลงทุนทำการค้าใหม่ ๆ ท่ามกลางความซบเซาของภาคธุรกิจขณะนี้ จนกระทั่งกระแสภาพยนตร์สุดฮอตอย่าง ฟรีแลนซ์ ได้เข้าฉายและติดอันดับหนังทำเงินที่มีคนพูดถึงมากที่สุด ทำให้บางคนเริ่มสนใจสร้างรายได้จากการทำอาชีพฟรีแลนซ์ดูบ้าง
นอกจากจะได้อิสระในการเลือกสถานที่และเวลาทำงานแล้ว ชีวิตฟรีแลนซ์ ยังฟังดูทันสมัย ไร้กฎเกณฑ์ เป็นเจ้านายตัวเอง ไม่ต้องไปเร่งรีบเบียดเสียดกับเส้นทางการจราจรเหมือนคนทำงานออฟฟิศทั่ว ๆ ไป ชีวิตน่าภิรมย์โดนใจคนที่ชอบจังหวะสโลว์ไลฟ์ไปเต็ม ๆ แต่ภาพลักษณ์ที่หลายคนเชื่อว่าอาชีพฟรีแลนซ์ควรจะเป็นอย่างนั้น แท้จริงแล้ว ฟรีแลนซ์เขาทำงานกันอย่างไรกันแน่ บทความนี้มีคำตอบให้ลองคิดตามกันสักนิดก่อนจะหันมาทำอาชีพฟรีแลนซ์กันแบบจริงจัง
ก่อนอื่นสิ่งที่คนทำอาชีพฟรีแลนซ์หลาย ๆ คนต้องทำใจยอมรับสภาพก็คือ งานฟรีแลนซ์คืองาน All in one ทำทุกอย่างในหนึ่งคน
ซึ่งหมายความว่า การติดต่อพูดคุยกับลูกค้า, การไปเสนองาน, ต่อรองราคา และผลิตผลงานออกมา อยู่ในความดูแลของคนเพียงคนเดียว จะเห็นได้ว่าแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการทำงานในบริษัท หรือ สำนักงาน เพราะรูปแบบการทำงานในออฟฟิศนั้น โดยส่วนใหญ่ทีมงานจะได้รับการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบไปตามแผนก มีหัวหน้างานคอยดูแลกำกับเนื้องาน มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายช่วยเจรจาต่อรองกับลูกค้า และมีฝ่ายบริการลูกค้าทำหน้าที่ประสานงานต่าง ๆ ให้
กฎข้อหนึ่งของงานฟรีแลนซ์ก็คือ ความพร้อมที่จะรับมือกับลูกค้าแต่ละประเภทนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นขอส่วนลดจากงานชิ้นแรก, ขอให้ช่วยในฐานะลูกค้าประจำ, ขอให้แก้งานแบบไม่มีคิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม หรือ ขอเพิ่มลูกเล่น หรือ ขอเพิ่มเนื้องานแบบฟรี ๆ นี่คือบทเรียนหน้าแรก ๆ สำหรับการใช้ชีวิตแบบฟรีแลนซ์บนโลกกลม ๆ ใบนี้
จากประสบการณ์ของคนทำงานฟรีแลนซ์หลาย ๆ คนในวงการธุรกิจที่ต่างสาขากัน ส่วนใหญ่บอกเล่าและเปิดเผยประสบการณ์ทำงานฟรีแลนซ์ออกมาได้อย่างชัดเจนไปในทิศทางเดียวกันว่า การตามทวงงานโดยตรงจากลูกค้านั้นแซ๊บแซ่บกว่าการถามหางานของบรรดาบอสในบริษัทอยู่หลายเท่าตัว หากใครคิดทึกทักเอาว่า อยากหนีจากบอสจอมบงการที่เจอกันเป็นประจำที่ทำงานเพื่อมาเป็นเจ้านายตัวเองก็เห็นควรให้ทบทวนดูสักก่อน แต่สำหรับผู้ที่เผลอหลวมตัวเข้ามาในแวดวงฟรีแลนซ์เรียบร้อยแล้ว คำแนะนำในการทำงานที่ดีคือการตกลงขอบเขตการแก้ไขเนื้องานและจำนวนครั้งที่จะอนุโลมให้แก้งานได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจตรงกันก่อนที่จะเริ่มทำงาน
นอกจากนี้ อาชีพฟรีแลนซ์ยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโกง โดนเอาเปรียบได้ง่ายมากอีกด้วย วิธีป้องกันและสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับฟรีแลนซ์ทั้งหลายก็คือ การทำใบสัญญาขึ้นมารับงาน โดยใบสัญญาดังกล่าวจะระบุการจ้างงานระหว่างผู้ว่าจ้างกับฟรีแลนซ์ ภายใต้กรอบระยะเวลางาน, จำนวนเงินที่ตกลงว่าจ้าง, ขั้นตอนการชำระเงิน, จำนวนงวดและกำหนดวันชำระเงิน หรือในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบงานได้ทันตามกำหนดเวลา จะยินยอมให้หักค่าจ้างกี่เปอร์เซ็นต์ต่อวัน เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากเป็นการทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ โดยมากก็จะมีสัญญาของทางบริษัทที่ก็เกรงว่าฟรีแลนซ์จะละทิ้งงานของบริษัทไปเหมือนกัน แต่กลุ่มงานที่ฟรีแลนซ์พึงระวังมากเป็นพิเศษคือการติดต่องานกับลูกค้ารายย่อยนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม >> บริหารเงินแบบสู้ชีวิตฉบับ ฟรีแลนซ์ <<
เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันและสร้างความสบายใจระหว่างผู้ว่าจ้างและฟรีแลนซ์ ทั้งสองฝ่ายจึงควรตกลงกันในใบสัญญาว่ายินยอมให้แก้ไขงานได้กี่ครั้ง หรือ กี่แบบ มิเช่นนั้นอาจจะเป็นประเด็นโต้แย้งกันในภายหลังได้ว่า ต้องทำการแก้งานไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ว่าจ้างจะพึงพอใจ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการทำงานที่ไม่มีเงื่อนเวลาชัดเจนหรือเปล่า ตัวอย่างของข้อตกลงที่พึงจะระบุให้ชัดเจนในใบสัญญา เช่น ภายใต้ค่าตอบแทนจำนวนเงินกี่บาท จะนำเสนองานพร้อมทางเลือกจำนวนกี่แบบ และยินดีปรับแก้ให้ไม่เกินกี่ครั้ง หรือในบางกรณี ฟรีแลนซ์ก็อาจจะระบุเพิ่มเติมเป็นข้อเสนอพิเศษว่า สามารถขอปรับรูปแบบงานเพิ่มเติมได้โดยคิดค่าบริการเพิ่มในอัตราละกี่บาทต่อครั้ง เป็นต้น ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การรับงานแต่ละครั้งของคนทำงานฟรีแลนซ์ ควรจะกำหนดเงินค่ามัดจำล่วงหน้าขั้นต่ำอย่างน้อยประมาณ 30 – 50% ของค่าบริการทั้งหมด
การวางเงินมัดจำนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยพิจารณาและคัดกรองประเภทลูกค้าว่าจริงจังต่อการว่าจ้างงานมากแค่ไหนแล้ว ยังเป็นเหมือนเบาะกันกระแทกในกรณีที่โครงงานนั้น ๆ ถูกระงับกลางอากาศอีกด้วย เพราะในโลกธุรกิจนั้น บางครั้งก็แฝงไว้ด้วยชั้นเชิงกลโกงและอุบายหลายรูปแบบที่คนทำงานจำเป็นต้องรู้จักไว้จะได้ไม่เสียทีพลาดท่าถูกเอารัดเอาเปรียบ เข้ากับสำนวนที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้”