เชื่อว่าหลายๆ คนตอนซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้น ณ วันแรกที่ซื้อก็ยังมีความสามารถในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยกัน เพราะคิดว่าแบ่งเงินมาเก็บไว้ใช้ แต่ถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นหรือเรามีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ค่าเบี้ยประกันชีวิตที่เคยจ่ายไหว แต่มาวันนี้กลับต้องแบ่งเงินที่จะจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตไปใช้จ่ายอย่างอื่นขึ้นมา จ่ายเบี้ยประกันชีวิตไม่ไหวแล้ว เราจะทำยังไงกันดี บทความนี้มีคำตอบ
ก่อนที่จะไปถึงเรื่องการจ่ายค่าเบี้ยประกัน เรามาทำความรู้จักกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์กันสักหน่อย หรือมาบางคนที่พอรู้แล้ว ก็ถือซะว่าเป็นการรื้อฟื้นความเข้าใจเกี่ยวกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ล่ะกันนะ
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คือ การทำประกันชีวิตที่บริษัทประกันตกลงจะจ่ายเงินผลประโยชน์คืนให้กับเรา ตามที่ระบุในกรมธรรม์ เมื่อครบกำหนดอายุของกรมธรรม์หรือเมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น โดยตามการขายในแบบอดีตที่ยังมีการแข่งขันของการขายประกันชีวิตไม่สูงมากนัก เงื่อนไขกรมธรรม์มักจะเป็นแบบระยะยาว คือ จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตเท่ากันทุกปีเป็นเวลา 20 ปี และมีผลคุ้มครอง 20 ปี แต่ปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจประกันชีวิตมีสูง บริษัทประกันชีวิตจึงออกกรมธรรม์ในแบบที่จูงใจมากขึ้น โดยให้มีการจ่ายเบี้ยประกันระยะสั้นกว่าแต่คุ้มครองนานกว่า เช่น จ่ายเบี้ยประกันชีวิต 5 ปี แต่คุ้มครอง 15 ปี เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม >> ความหมายของเบี้ยประกัน <<
โดยการประกันชีวิตแบบเดิมนั้น จะเป็นการจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตที่เท่ากันทุกปีเป็นเวลา 20 ปี อาจจะนานเกินไป และมีความคิดอยากจะหยุดจ่ายค่าเบี้ยประกันแล้ว บริษัทประกันชีวิตจะมีทางเลือกให้เรา 3 แบบ คือ
- แบบที่ 1 เวนคืนกรมธรรม์เพื่อรับเงินมูลค่าเวนคืน ซึ่งหมายความว่า ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยจะสิ้นสุดลงทันที จำนวนเงินที่จะได้รับคืนก็จะเป็นไปตามจำนวนเงินที่ระบุในตารางเวนคืนท้ายกรมธรรม์ของเรา ซึ่งเชื่อได้ว่าหลายคนไม่เคยสนใจกันเท่าไร แต่ขอบอกไว้เลยว่าวันนี้เมื่อได้กรมธรรม์มาแล้วต้องเปิดอ่านและทำความเข้าใจกันบ้างแล้วล่ะ…..
- แบบที่ 2 หากเราไม่อยากส่งค่าเบี้ยประกันชีวิตแล้ว ทางเลือกที่สองก็คือ เปลี่ยนเป็นมูลค่าใช้เงินสำเร็จ นั่นหมายถึง ระยะเวลาความคุ้มครองของกรมธรรม์จะเท่าเดิมตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ แต่จำนวนเงินประกันภัยจะลดลง ซึ่งเราก็สามารถอ่านได้จากตารางเวนคืนกรมธรรม์อีกเหมือนกัน
- ส่วนทางเลือกสุดท้าย คือ การเปลี่ยนมูลค่าขยายเวลา หมายความว่า จำนวนเงินประกันภัยของเราจะเท่าเดิมตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ แต่ระยะเวลาความคุ้มครองใหม่จะขยายนานขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจำนวนปีที่ขยายไปนั้นก็จะระบุไว้ในตารางมูลค่าขยายเวลาที่แนบอยู่ท้ายกรมธรรม์อีกเหมือนกัน
และก็แน่นอนว่าถ้าเราจะไม่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยต่อ สิ่งที่เราจะได้ตามทางเลือกทั้ง 3 แบบนั้น ย่อมจะได้เงินคืนน้อยกว่าค่าเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปแน่นอน ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่าการซื้อประกันชีวิตเป็นการเฉลี่ยภัยในหมู่ผู้เอาประกันภัยด้วยกัน ถ้าหากมีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต บริษัทก็จะนำเงินเบี้ยประกันชีวิตของผู้เอาประกันทุกคนไปจ่ายให้กับผู้รับผลประโยชน์ของผู้เสียชีวิตนั่นเอง นี้ก็คือเหตุผลที่ว่าเมื่อเรายกเลิกกรมธรรม์ก่อนกำหนดแล้วทำไมถึงได้เงินไม่เท่ากับค่าเบี้ยประกันที่ได้จ่ายไป ซึ่งสามารถยกตัวอย่างได้ง่ายเช่น ถ้าเราส่งเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 5,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 3 ปี นั่นก็คือเราได้จ่ายค่าเบี้ยประกันไปทั้งหมด 15,000 บาท สำหรับกรมธรรม์ที่มีทุนประกันภัย 100,000 บาท ความคุ้มครอง 20 ปี และต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยทั้งหมด 20 ปี แต่ด้วยภาะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทำให้เราไม่สามารถส่งค่าเบี้ยประกันภัยได้ต่อไป เราอยากยกเลิกกรมธรรม์ นี้ก็จะเป็นสิ่งที่เราจะได้รับในแต่ละทางเลือก
แบบที่ 1 ถ้าเราเวนคืนกรมธรรม์เราจะได้เงินเพียง 5,000 บาท ณ วันที่แจ้งยกเลิกกรมธรรม์และกรมธรรม์ก็จะสิ้นสุดลงทันที
ถ้าเลือกแบบที่ 2 คือ การใช้มูลค่าสำเร็จ ทุนประกันภัยของเราจะลดลงจาก 100,000 บาท เป็นแค่ 13,000 บาท แต่จะได้รับเงินเมื่อครบอายุกรมธรรม์ 20 ปี
ส่วนทางเลือกสุดท้าย คือ การขยายระยะเวลา หมายความว่า กรมธรรม์ของเรายังมีทุนประกันภัย 100,000 บาทเหมือนเดิม และขยายความคุ้มครองของเราออกไปอีก 10 ปี ซึ่งก็คือถ้ามีการเสียชีวิตเกิดขึ้นภายใน 10 ปี นี้ก็จะได้รับเงิน 100,000 บาท แต่ถ้ามีชีวิตอยู่ถึงวันครบกำหนดก็อาจจะไม่ได้รับเงินคืนเมื่อครบกำหนดตามสัญญา ซึ่งอันนี้ก็แล้วเงื่อนไขในกรมธรรม์แต่แบบ
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก่อนที่จะหยุดชำระค่าเบี้ยประกันภัย คือ หยิบกรมธรรม์ที่เรามีอยู่มาเปิดอ่านตารางมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัยดูว่า เงื่อนไขแต่ละแบบของกรมธรรม์ของเราเป็นอย่างไร แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะกัดฟันส่งต่อ หรือหยุดส่งเลย