หากติดตามข่าวคงได้ทราบกันว่าตอนนี้ กระทรวงการคลัง เตรียมทุ่มเงินลง กองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้คนรายได้น้อยได้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ
แต่ปัญหาของ กองทุนหมู่บ้าน ที่เราเคยทราบกันคือ เก็บเงินคืนไม่ได้ มีการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ ซึ่งบางหมู่บบ้านนั้นจัดการกองทุนแบบพวกใครพวกมัน แม้ว่ากฎใหม่ที่จะออกมาคือ ให้นำเงินไปใช้ในการลงทุนประกอบอาชีพเท่านั้น ห้ามนำไปชำระหนี้ค้างเก่าต่างๆ ซึ่งหากเป็นกองทุนหมู่บ้านจริงๆ คงตรวจสอบกันได้ยาก เพราะกองทุนหมู่บ้านนั้นมีมานานหลายปีแล้วตั้งแต่รัฐบาลสมัย ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการกระจายเงินกองทุนตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะต้องมีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายผ่านการเลือกตั้งจากคนในชุมชน มีสำนักงานเขต หรือ อำเภอรับรอง จึงจะได้เงินกองทุนหมู่บ้านให้นำไปบริหารจัดการ
โดยทั่วไปนั้นกองทุนหมู่บ้านจะให้ลูกบ้านเป็นสมาชิกต้องออมเงินขั้นต่ำเดือนละ 100 บาททุกๆเดือนตลอดอายุสมาชิก ซึ่งสมาชิกจะสามารถกู้เงินจากกองทุนได้ ก็คล้ายกับการเล่นแชร์ คือ มีเงินออมทุกเดือน กู้เงินไปเท่าไหร่ก็เสียดอกเบี้ยขั้นต่ำตาที่กำหนด และต้องส่งคืนภายในระยะเวลาที่กำหนดส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 1 ปีบ้างหมู่บ้านจะกำหนดให้ส่งทุกเดือนพร้อมกับการออมเงินของสมาชิก ซึ่งปัญหาที่พบได้บ่อยๆ คือ คณะกรรมการกองทุนแต่ละหมู่บ้านเล่นพรรคเล่นพวก ให้แต่เฉพาะพวกพ้องของตัวเองที่สามารถกู้เงินได้ บางหมู่บ้านกำหนดเป็นหุ้นคือ หุ้นละ 100 ใครอยากได้หลายหุ้นก็ต้องส่งเงินออมตามจำนวนหุ้น
มองกันตามความจริงแล้ว กองทุนหมู่บ้าน ถือเป็นกองทุนที่สามารถช่วยให้คนมีรายได้น้อยมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยถูก หากมีการบริหารจัดการที่ดี คนที่ไม่ได้กู้ก็จะมีเงินออมและมีดอกเบี้ยจากการให้สมาชิกกองทุนได้กู้ แต่อย่างที่กล่ามาบางหมู่บ้านมีการบริหารจัดการกองทุนที่ไม่ดี มีการยักยอกทำให้เงินกองทุนหมู่บ้านที่เคยได้กันนั้นไม่ทั่วถึง บางหมู่บ้านไม่มี บางหมู่บ้านก็สามารถนำเงินไปทำให้งอกเงยและเกิดดอกผลได้ ปัญหาต่างๆเหล่านี้หากไม่มีการแก้หรือกฎกติกาบังคับกับกลุ่มที่ได้สิทธิในการบริหารจัดการก็เหมือนกับเอาเงินภาษีไปโยนทิ้งเล่นๆ
หลายคนยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าหมู่บ้านตัวเองมีเงินกองทุน เพราะการบริหารจัดการภายในชุมชนหรือหมู่บ้านไม่มีการประชาสัมพันธ์ ไม่มีการชักชวนให้คนในหมู่บ้านได้เป็นสมาชิก เงินต้นทุนไปจำกัดอยู่แค่บางกลุ่ม เรื่องเหล่านี้ผู้มีอำนาจเบื้องบนอาจรู้แต่แก้ไขไม่ได้ หรือ อาจไม่รู้เลยก็ได้ และเชื่อว่าหลายๆคนคิดว่าในกรุงเทพคงไม่มีหมู่บ้านไหนมีกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งขอยืนยันเลยว่ามีจริง หมู่บ้านชุมชนที่กระจายในเขตกรุงเทพมีหลายๆหมู่บ้านที่ได้กองทุนหมู่บ้านตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดตั้ง แต่ก็อย่างที่กล่าวเพราะการบริหารจัดการกระจุกแค่อำนาจคนในกลุ่มมีการเลือกพวกพ้องทำให้เงินจำนวนนี้กระจายไม่ทั่วถึง
ดังนั้น หากจะมีการคัดค้านนโยบาย กองทุนหมู่บ้าน ก็คงไม่แปลกอะไร เพราะทำแล้วไม่เห็นผลและมันเสี่ยงกับการที่จะได้ผลตอบแทนที่งอกเงยเพื่อคนในชุมชนหรือหมู่บ้านจริงๆ หมู่บ้านไหนจัดการได้ดีเงินก็งอกเงยนำมาพัฒนาชุมชน เป็นกองทุนที่ช่วยเหลือคนในหมู่บ้าน แต่บางหมู่บ้านคนจัดการเอาเงินไปหมุนก็มี ซึ่งก็ไม่ทราบว่าทำไมไม่มีการตรวจสอบ แล้วแบบนี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ในเมื่อคนรากหญ้าเข้าไม่ถึงเงินจำนวนนี้ กฎเกณฑ์ต่างๆที่จะออกมาใหม่กับเงินก้อนใหม่คงต้องมีความรัดกุมให้มากกว่านี้ หากไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับการโยนเนื้อเข้าปากเสือ สูญเงินภาษีไปฟรีๆนับล้านบาท