คุณเคยสังเกตตนเองบ้างหรือไม่ครับ ? สังเกตอะไร ? ในที่นี้คือ การสังเกตการณ์ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของตนเองยังไงล่ะครับ ว่าเราใช้จ่ายหมดไปกับอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพในการดำเนินชีวิต ค่าเดินทาง ค่าธรรมเนียมต่างๆ ค่าซ่อมบำรุงที่อยู่อาศัย, ยวนยานพาหนะต่างๆ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา หรือค่าอะไรก็ตามแต่ เคยสังเกตกันบ้างไหมครับว่า เงินแต่ละบาทที่รั่วไหลออกไปจากกระเป๋าคุณนั้น รู้หรือไม่ว่าเป็นการจ่ายเงินไปในรูปแบบไหน
วันนี้เราก็เลยจะพาทุกๆท่าน ไปทำความรู้จักกับ รายจ่าย 3 ประเภทด้วยกัน และมาดูกันครับว่า รายจ่าย ประเภทใดที่เมื่อเราจ่ายไปนั้น สามารถสร้างประโยชน์หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้เราได้บ้าง ไปดูกันเลยครับ
รายจ่ายประเภทแรก คือ รายจ่าย ที่เกิดขึ้นโดยทั่วๆไป เช่น คุณซื้อข้าว 1 จาน 35-40 บาท คุณกินอิ่ม ก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น หรือค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับการท่องเที่ยว คุณได้ความสนุกสนานและเป็นสีสันประสบการณ์ให้กับชีวิตแต่เงินที่เสียไปนั้นไม่ได้เพิ่มมูลค่าให้ตัวมันเอง แต่เป็นการจ่ายเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการและเป็นสิ่งที่จำเป็นของการใช้ชีวิตในทุกๆวัน
รายจ่ายประเภทที่สอง เป็น รายจ่าย ที่ใช้ในการดำรงชีวิตเหมือนกัน แต่จะเป็นรายจ่ายเพื่อความสะดวกสบายมากกว่าเช่น การซื้อบ้านซื้อรถแบบผ่อนชำระ หรือ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดรายจ่ายอื่นๆพ่วงท้ายตามมา อาจจะเป็นค่าซ่อมบำรุง ค่างวดผ่อนชำระ ค่าบริการ ค่าอุปกรณ์เสริมต่างๆ เป็นต้น
รายจ่ายประเภทที่สาม ส่วนนี้สำคัญมากครับเพราะรายจ่ายประเภทนี้นี่แหละครับที่เราจะสามารถเปลี่ยนเป็นรายได้งามๆได้ นั่นก็เพราะว่ารายจ่ายส่วนนี้ถูกนำไปใช้เพื่อการลงทุนนั่นเองครับ ไม่ว่าจะเป็น การนำไปลงทุนซื้อของมาขาย ลงทุนกับเงินออมหรือหุ้นก็ตามแต่ ล้วนจะทำให้เงินที่มีอยู่นั้นงอกเงยขึ้นมาและสามารถเปลี่ยนเป็นรายได้เพิ่มตังค์ในกระเป๋าให้กับคุณ แล้วก็มีคำถามว่า แล้วรายจ่ายประเภทนี้จะใช้จ่ายอย่างไรล่ะ เพื่อไม่ให้มันสูญเปล่า
เพราะเห็นมีบางคนเหมือนกันที่จ่ายไปแต่พวกเขาเหมือนไม่ได้อะไรกลับมา ยังเสียเงินไปฟรีๆอีก ผมจะขอเรียนก่อนเลยว่า บางครั้งการที่คนเรานั้นคาดหวังในตัวเงินมากเกินไปก็อาจจะลืมมองสิ่งดีดีที่เกิดขึ้นได้ อย่าลืมสิครับว่าอย่างน้อยเราก็ได้ลองลงมือทำ ได้มีประสบการณ์ใหม่ๆในการลงทุน และครั้งต่อไปๆก็สามารถนำเอาบทเรียนที่ได้นั้น ไปปรับใช้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีก
เมื่อเรารู้จักกับประเภทของรายจ่ายกันไปแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนที่จะจัดการรายจ่ายแต่ละประเภทกันครับ อันดับแรกให้สำรวจตนเองก่อนเลยว่า คุณเป็นบุคคลประเภทใด เช่น
นาย ก. เป็นพนักงานบริษัท เงินเดือน 15,000 มีรถยนต์คันแรกมีภาระที่ต้องผ่อนชำระ นาย ก. ทำบันทึกรายรับรายจ่ายในทุกๆเดือน จนวันหนึ่งเขาก็ได้สังเกตได้ว่า ตนเองนั้น มีรายจ่ายในประเภทแรกและประเภทที่สองมากเกินความจำเป็น แต่รายจ่ายประเภทจ่ายเพื่อการลงทุนและเก็บออมนั้นไม่มีเลย แถมยังเป็นหนี้อีกด้วย แล้วแบบนี้ นาย ก. จะทำอย่างไรล่ะ ? ไม่ยากเลยครับในกรณีสมมุตินี้ นาย ก. ควรแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรรายจ่ายออกเป็นส่วนๆก่อนเลย นาย ก. อาจจะวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือนเมื่อมีรายรับเข้ามา นาย ก. อาจจะแบ่งเงินไว้สำหรับใช้จ่ายในสัดส่วนดังนี้
รายจ่ายประเภทที่ 1 ค่าครองชีพ 35 %
รายจ่ายประเภทที่ 2 ผ่อนชำระค่างวด,จ่ายค่าบริการต่างๆและชำระหนี้ 50 %
รายจ่ายประเภทที่ 3 ออมหรือนำไปลงทุน 15 %
(***หมายเหตุ***สัดส่วนนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล)
หากลองทำแบบนี้ดูสักระยะ คุณจะพบว่า การจัดการกับรายได้และรายจ่ายนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากเลย เพียงแค่ต้องมีการวางแผนที่ดีและทำตามแผนนั้นอย่างสม่ำเสมอ รู้จักประมาณตนในการจับจ่ายใช้สอย ไม่ฟุ่มเฟือยหรูหราจนเกินฐานะและเกินลิมิตของตนเอง การเก็บออมเงินนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่มีเงินออมในอนาคตถ้าเราเกิดอยากทำธุรกิจขึ้นมา จะทำให้ประสบปัญหากับการไม่มีเงินทุนเลยก็ได้
แล้วใครที่คิดอยากจะลงทุนแล้วเปลี่ยนรายจ่ายให้เป็นรายได้นั้น ต้องทำอย่างไร ลงทุนในรูปแบบไหนถึงจะมีความเสี่ยงน้อย ต้องขอบอกเลยครับว่า ของแบบนี้ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง การลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยอย่างเช่นการออมเงินแบบฝากประจำในธนาคาร หรือการซื้อสลากออมสิน ก็มีข้อดีคือ ความเสี่ยงน้อยและได้เงินเพิ่มขึ้นเมื่อออมครบระยะเวลาตามข้อตกลง แต่นั่นการออมแบบนั้นมันอาจจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ อย่าง การซื้อหุ้น การทำธุรกิจ ที่สามารถทำกำไรได้มากกว่าและใช้ระยะเวลาไม่นานถ้าบริหารจัดการเป็น
แต่สิ่งเหล่านี้ก็มีข้อเสียคือ มีความเสี่ยงสูง หากไม่ควบคุมกำกับดูแลอย่างรอบคอบแล้ว เสี่ยงต่อการขาดทุนได้ เพราะฉะนั้นถ้าคิดจะลงทุนด้วยการซื้อหุ้นก็ต้องศึกษาองค์ประกอบต่างๆ เรียนรู้ให้ดีเสียก่อน ถ้ายังไม่เก่งมีความรู้ความชำนาญยังไม่พอ ก็ควรที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติม อาจจะลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อยๆแล้วค่อยๆศึกษาไปเรื่อยๆไม่รีบร้อน พอแน่ใจว่ามีความสามารถมากพอแล้วค่อยลงเล่นในจำนวนที่มากขึ้น แบบนี้เป็นต้นครับ
สำหรับใครที่สนใจอยากลงทุนนั้น ผมแนะนำเลยนะครับว่า ให้คุณเริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้เลย จัดสรร รายจ่าย เป็นส่วนๆ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ถ้ายังไม่มีเงินทุนก็เก็บออมให้ได้สักก้อนหนึ่งก่อนครับแล้วค่อยนำไปต่อยอด ขยายโอกาสกันต่อไปครับ.