เรื่องราวของ ธุรกิจครอบครัว Gucci แบรนด์ดังแบรนด์อมตะ เริ่มต้นขึ้นจากความมุ่งมั่นของ Guccio Gucci ผู้ก่อตั้งร้าน Gucci ขึ้นมาในปี 1921 ตอนนั้นกุชชี่ทำงานอยู่ในโรงแรมซาวอยที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วงที่ทำงานนั้น เขาได้เห็นกระเป๋าเดินทางเกือบทุกวันและก็ยิ่งรู้สึกหลงใหลในความสวยงามของงานดีไซน์กระเป๋าเหล่านั้น และเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากจะมีกิจการร้านเครื่องหนังเป็นของตนเอง
ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งผลงานการออกแบบและฝีมือการเย็บกระเป๋าเครื่องหนังของเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ต่อมาในยุครุ่นลูก อัลโด กุชชี่ ได้เข้ามารับช่วงกิจการต่อจากพ่อ เขาได้ทำให้สินค้าภายใต้แบรนด์ Gucci สามารถดึงดูดความสนใจจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศที่บอกเล่ากันปากต่อปาก ยิ่งกลุ่มลูกค้าที่ชอบค้นหาอะไรใหม่ ๆ ไม่จำเจ ยิ่งโดนใจ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น สินค้าของ Gucci ก็มีจำหน่ายไปทั่วโลก อัลโดจึงตัดสินใจเปิดร้าน Gucci สาขาที่ 2 ขึ้นที่กรุงโรมในช่วงปี 1950
แต่เมื่อกิจการผ่านมาถึงรุ่นที่ 3 เปาโล กุชชี่ มีความคิดด้านธุรกิจที่แหวกแนวออกไป เขาต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง วัยหนุ่มสาวที่ไม่ได้ต้องการสินค้าราคาแพง ๆ เขาจึงคิดที่จะเปิดร้านเพิ่มอีกสาขา แต่แผนธุรกิจของเขาถูกระงับเพราะไม่มีใครในครอบครัวเห็นดีด้วย แต่เปาโลก็ยืนกรานจะทำตลาดอย่างที่เขาสนใจ เขาจึงออกสินค้าไลน์ใหม่ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า PG ซึ่งก็คือชื่อย่อของเขานั่นเอง และการตัดสินใจครั้งนั้นกลายเป็นฉนวนแตกหักระหว่างพ่อลูก ถึงขั้นที่อัลโดสั่งห้ามซัพพลายเออร์ของ Gucci ทุกรายผลิตสินค้าให้กับเปาโล และให้เปาโลสิ้นสุดอำนาจบริหารงานที่บริษัท Gucci อีกด้วย
จากธุรกิจครอบครัวที่มีแต่ปัญหาความขัดแย้ง ทำให้ลูกพี่ลูกน้องของเปาโลที่ชื่อ “มาอุริซิโอ” ที่ได้รับมรดกกิจการ Gucci มาครึ่งหนึ่ง ตัดสินใจไล่ซื้อหุ้นจากสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเปาโลคือคนแรกที่ยอมขายหุ้นให้ จากนั้นมาอุริซิโอก็ยึดกิจการกุชชี่ไว้บริหารเอง ด้วยการจ้างบริษัท อินเวสต์คอร์ป เข้ามาช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ของบริษัทที่กำลังดิ่งลงเหวให้กลับคืนมาอีกครั้ง และภารกิจครั้งนี้ของเขาได้ผู้ช่วยคนสำคัญชื่อ โดเมนิโก เดอ โซเล ทนายความเป็นผู้ดูแลกิจการ Gucci America และให้ ดอน เมลโล (Dawn Mello) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานบริหารของ Bergdorf Goodman มารับผิดชอบงานส่วน Creative Director และก็ได้ชักชวนทอม ฟอร์ด (Tom Ford) มาเป็น Junior Designer อีกด้วย
ในปี 1970 กุชชี่ยังเป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงรายแรกที่ริเริ่มฉีกแนวเพิ่มการผลิตนาฬิกาข้อมือเข้าไปในไลน์สินค้าเดิมของตนเองอีกด้วย ซึ่งในตอนแรก ๆ นั้น นาฬิกากุชชี่จะผลิตออกมาภายใต้ลิขสิทธิ์แบรนด์ของกุชชี่เอง นาฬิกากุชชี่ยังคงได้รับความนิยมและถูกผลิตออกมาเรื่อย ๆ กว่า 23 ปีด้วยสัญลักษณ์เด่น ๆ อย่างรูปเกือกม้า หรือ แถบสีเขียว-แดง-เขียว แบบนาฬิกาที่สร้างชื่อให้กุชชี่มากที่สุดก็น่าจะเป็นรุ่น 1500 ที่มียอดจำหน่ายมากกว่า 1 ล้านเรือนทั่วโลก แต่ที่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือในช่วงปี 1991 – 1993 นั้นการบริหารงานของ มาอุริซิโอ ทำให้กิจการย่ำแย่ลง ส่งผลให้อินเวสต์คอร์ปกดดันให้เขาขายหุ้นและให้โซเลเข้ามาบริหารงานแทน และกลายเป็นจุดสิ้นสุดของกิจการครอบครัวที่ตกทอดมาถึง 4 รุ่นของแบรนด์ดัง Gucci
อย่างไรก็ดี แม้ว่าแบรนด์ Gucci จะถูกเปลี่ยนมือไปจนตกมาถึงยุคการบริหารงานของ Pinaut-Printemps-Redoute หรือ PPR กิจการของ Gucci ก็รอดพ้นวิกฤตมาได้ด้วยการเข้าซื้อกิจการแฟชั่นหรูอื่น ๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น Yves Saint Laurant (YSL) แล้วขายต่อให้ Gucci ทำให้บริษัท Gucci กลายเป็นบริษัทที่มียี่ห้อสินค้าแฟชั่นสุดหรูหลากหลายมากแบรนด์หนึ่งค่ะ เมื่อแบรนด์เติบโตขึ้นสู่ปี 1990 – 2000 ทอม ฟอร์ด ผู้นำด้านวงการแฟชั่นสุดหรูก็ได้เข้ามาบริหารงานออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยเขาสามารถผสมผสานความหรูหราให้มีเสน่ห์และสามารถสวมใส่ได้จริง ๆ ทำให้ช่วงสมัยนั้นเป็นอีกหนึ่งยุคทองของแบรนด์กุชชี่ที่ผลิตภัณฑ์มีภาพลักษณ์ชัดเจนและความโดดเด่นเรื่องคุณภาพนั้นไม่เป็นรองใครอีกด้วยค่ะ โดยเฉพาะนาฬิการุ่น 3900, รุ่น Bamboo และรุ่น Horsebit (2004) ที่ยังคงความฮิตอมตะจนถึงปัจจุบัน
กลยุทธ์การตลาดที่สำคัญในตอนนั้นของกุชชี่ก็คือการออกแคมเปญโฆษณาแบบเต็มสูบเป็นรายแรก จึงสร้างแรงดึงดูดจากกลุ่มลูกค้าได้มากกว่าแบรนด์อื่น ๆ ในแวดวงแฟชั่นตอนนั้นค่ะ
ความสำเร็จจากการฝ่าฟันมรสุมต่าง ๆ กว่า 80 ปี การดำเนินกิจการภายใต้การบริหารงานของ PPR ส่งผลให้ธุรกิจมีสภาวะคล่องตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดก็สามารถปลดหนี้และกลับมาเป็นแบรนด์หรูที่มีลูกค้าหมายจะหามาครอบครองอีกครั้ง นอกจากนั้น ปัจจุบัน Gucci ยังเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการชั้นนำหลาย ๆ แบรนด์ อย่างเช่น ธุรกิจเครื่องเพชร Boucheron, กิจการนาฬิกา Bdat & Co. และ Bottega Veneta ค่ะ Gucci คือบทเรียนจากความล้มเหลวในการบริหารกิจการครอบครัวที่ขาดแนวทางที่ชัดเจน เหมือนคำโบราณจีนที่ว่า กิ่งไม้อันเดียวหักง่าย แต่ถ้านำกิ่งไม้มามัดรวมกันก็คงจะแตกหักยาก การขาดความสามัคคีในทีมเป็นจุดอ่อนที่เปิดประตูเชิญผู้อื่นเข้ามาในบ้านได้ง่าย ๆ ค่ะ