ต่อเนื่องจากบทความก่อนหน้า >> ถึงเวลา ให้เงินทำงานแทนเรา ซักที ! << ในครั้งนี้เราจะมาพูดถึงขั้นตอนการ วางแผนการเงิน อย่างง่าย ๆ กันต่อเลยนะคะ
ทำไมการ วางแผนการเงิน จึงสำคัญ
จากการ การประชุมวิชาการแห่งชาติด้านสูงวัยและผู้สูงอายุ ครั้งที่ 3 จัดโดย สภากาชาดไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ได้พบข้อสรุปทางสถิติที่สำคัญอยู่หลายประเด็นดังนี้
- สิงคโปร์และไทย เป็นเพียง 2 ประเทศในอาเซียนที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และจากการคาดการณ์ในปี 2030 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
- ความเร็วของการเพิ่มประชากรวัยสูงอายุทำให้ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุก่อนที่จะมีระดับรายได้สูง
- รายได้จากวัยแรงงานไม่สามารถชดเชยการบริโภคของวัยเด็กและวัยสูงอายุได้
- การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันส่งผลให้คู่สมรสตัดสินใจมีบุตรน้อยลง รวมทั้งการครองโสดเพิ่มมากขึ้น ผู้สูงอายุที่โดดเดี่ยวจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
- การเพิ่มขึ้นของประชากรวัยสูงอายุจะก่อให้เกิดความต้องการสวัสดิการสังคมมากขึ้น เช่น การรักษาพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุ ระบบบำนาญ เป็นต้น ในขณะที่ระดับรายได้ต่อหัว/การออม ของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อภาระด้านงบประมาณของภาครัฐเพื่อใช้จัดสวัสดิการสังคมโดยตรง
- งบประมาณในการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงานและวัยสูงอายุยังออมเงินไม่เพียงพอ
- หลักประกันรายได้หลังเกษียณอายุยังไม่ครอบคลุมวัยแรงงานและผู้สูงอายุทั้งหมด
- คนไทยขาดการเตรียมความพร้อมทางการเงินสำหรับวัยเกษียณ
จากข้อมูลดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของวัยผู้สูงอายุ และการลดลงของประชากรวัยทำงานอย่างมีนัยสำคัญ ผลกระทบที่จะตามมาคือ ประชากรวัยทำงานต้องแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุของประเทศที่มากขึ้น
ใครที่ไม่มีลูกหลานอาจจะต้องคิดหนัก ส่วนใครที่มีลูกหลาน ลูกหลานของท่านก็อาจจะถูกเรียกเก็บภาษีมากขึ้น มีความสามารถที่จะดูแลท่านน้อยลง หากจะหวังพึ่งรัฐบาลก็คงลำบากเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลก็ต้องจัดสรรเงินให้กับประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก ยิ่งหากรายได้จากการเก็บภาษีมีไม่เพียงพอ อาจจะต้องมีการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อมาจุนเจือ เมื่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น อาจจะเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เกิดเป็นวัฏจักรวิกฤติการเงินที่ท่านไม่สามารถควบคุมได้ในที่สุด
ดังนี้แล้วคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การวางแผนการเงินถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากท่านยังอยากที่จะมีชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต..
วิธีจัดการเงินอย่างง่าย
ปลดหนี้สั้น
ก่อนจะคิดทำการอื่นใด อันดับแรก ต้องหาทางปลดหนี้สั้นให้ได้ก่อนค่ะ หนี้สั้นคือหนี้ที่ต้องรีบใช้คืนภายในระยะเวลาเท่ากับหรือน้อยกว่า 1 ปี เช่น หนี้จากบัตรเครดิต บัตรเงินสด ซึ่งต้องมีการชำระหนี้ทุกเดือน การปลดหนี้ในที่นี้คือการชำระเงินให้เต็มจำนวนค่ะ ทำไมต้องต้องเต็มจำนวน โดยปกติแล้วหนี้สั้น จะเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงมาก เช่นบัตรเครดิต ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 19%* (ที่มา : ค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ณ วันที่ 21/07/2015 https://www.bot.or.th ) และในทางปฏิบัติจำนวนเงินที่จ่ายชำระหนี้จริง ๆ จะสูงกว่าจำนวนเงินที่คำนวณจากดอกเบี้ยที่ได้รับแจ้งจากธนาคารเสมอ ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตในทางปฏิบัติจะถูกคิดจากผลรวมของ 2 ข้อ ดังนี้
- จากยอดคงค้าง : คิดตั้งแต่วันที่ชำระขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดค่าใช้จ่ายเดือนถัดไป
- จากยอดทั้งหมด : คิดตั้งแต่วันที่เริ่มใช้จ่ายจนถึงวันสรุปยอดค่าใช้จ่าย
บ่อยครั้งที่เข้าใจกันว่าการคำนวนจำนวนเงินจ่ายชำระหนี้ เกิดจากส่วนที่ 1 เพียงส่วนเดียว
(วิธีการคิดโดยละเอียดสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/loans/Pages/feescredit.aspx)
หลายท่านทราบดีอยู่แล้วว่าการชำระขั้นต่ำทำให้ถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูง แต่ก็ยังเพิกเฉยอาจด้วยเพราะยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน หากคุณเป็นคนนึงที่สนใจเรื่องของการลงทุน คงจะรู้จักชื่อวอเร็นต์ บัฟเฟต นักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จระดับโลกเป็นอย่างดี
เขาได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นโดยเฉลี่ยต่อปีประมาณ 15% นั่นหมายความว่า สมมติทันทีที่คุณเป็นหนี้บัตรเครดิต ในแต่ละเดือนคุณพอมีเงินเหลือที่จะทยอยปิดหนี้ได้ แต่คุณเลือกที่จะเอาเงินก้อนนั้นไปลงทุนมากกว่า ด้วยคิดแค่ว่าอยากจะได้ผลตอบแทนที่ดี คุณมุ่งมั่นในการลงทุนเป็นอย่างมาก ศึกษาค้นคว้าทุกวันทุกคืนจนฝีมือแก่กล้าและได้ผลตอบแทนเทียบเท่าปรมาจารย์บัฟเฟต..
แต่ทว่าคุณก็ยังไม่สามารถเอาชนะดอกเบี้ยบัตรเครดิต (19%) ได้อยู่ดี เห็นมั้ยคะ นี่คือเหตุผลที่เราต้องรีบเคลียร์หนี้ประเภทนี้ให้หมดก่อนการลงทุน ทั้งนี้ในส่วนของวิธีจัดการหนี้บัตรเครดิต ขออนุญาตไม่ลงในรายละเอียด เนื่องจากมีบทความดี ๆ เกี่ยวกับการจัดการหนี้ประเภทนี้อยู่แล้วบนเวบของเรา ท่านสามารถเลือกอ่านได้ตามสะดวกค่ะ
** การใช้บัตรเครดิตที่ถูกต้อง ช่วยให้ผู้ถือบัตรได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย ทั้งในรูปแบบของส่วนลด และกิจกรรมต่าง ๆ แต่ ส่วนใหญ่ ผู้ที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มักจะใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือตั้งใจใช้จ่ายเงินเกินตัว ดังนั้นทุกครั้งก่อนจะใช้บัตรใช้จ่ายสินค้าควรคิดก่อนเสมอว่า ในเดือนถัดไปมีเงินเพียงพอที่จะชำระเต็มจำนวนหรือไม่ หากคำตอบคือไม่ ก็ต้องยืดเวลาการซื้อนั้น ๆ ออกไปก่อนค่ะ **
ปั้นเงินเก็บ
หลังจากผ่านพ้นด่านอรหันต์ด้านบนมาได้แล้ว ขั้นต่อไป คือการปั้นเงินเก็บค่ะ (หลังจากนี้เนื้อหาจะอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าทุกท่านปลอดหนี้สั้นแล้วนะคะ)
เป็นธรรมดาของมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ ที่ยังไม่มีแผนจะลาออกจากงาน เมื่อมีรายได้ที่แน่นอนเข้าบัญชีมาทุกเดือน หลังจากหักค่าใช้จ่าย รวมทั้งหนี้สั้นต่าง ๆ ก็ยังอยู่ได้สบาย ลึก ๆ จึงเกิดความรู้สึกว่า “เอาอยู่” ไม่มีอะไรต้องกังวล คนเหล่านี้จึงใช้ชีวิตแบบเลื่อนลอย เดือนไหนค่าใช้จ่ายน้อย เหลือเงินเยอะ ก็เอาเงินไปใช้จ่ายกับของฟุ่มเฟือย จึงเป็นที่มาว่า ทำไมบางคนเงินเดือนเยอะ แต่ไม่มีเงินเก็บสักที
ในเมื่อตอนนี้เรารู้แล้วว่าการจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ สำคัญอย่างไร เริ่มตอนนี้ยังไม่สายค่ะ สำหรับมือใหม่หัดเก็บเงิน อาจจะยังเก้ ๆ กัง ๆ อยากจะเริ่มออมแต่ก็ไม่รู้ว่าควรออมเท่าไหร่ อย่างไร ดังนั้นในขั้นแรกหากยังนึกไม่ออกให้เริ่มจากสมการแบบโบราณก่อน นั่นก็คือ
วิธีการก็คือ ท่านต้องเริ่มทำบัญชีรายรับ- รายจ่าย โดยปั้นแต่งให้เหมาะสมกับ life style ของตัวท่านก่อนเป็นอันดับแรก แน่นอนเงินเก็บยิ่งเยอะ ยิ่งดีกับตัวท่าน แต่การประหยัดอดออมมากจนเกินไปจนถึงขั้นตระหนี่ถี่เหนียว อาจทำให้ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต เพื่อนฝูงหนีหน้า ส่งผลให้ท้อและล้มเลิกความตั้งใจไปได้ในที่สุด
ในเดือนแรกของการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ให้บันทึกการใช้จ่ายแบบปกติ เมื่อผ่านไป 1 เดือน ท่านจะเห็น list รายการการใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หลังจากนั้นให้ปรับแต่งรายการในอีกสองเดือนที่เหลือ โดยทำอย่างไรก็ได้ให้เงินออมเพิ่มมากขึ้น เช่น ตัดหรือลดค่าใช้จ่ายบางรายการที่อาจจะลดความสะดวกสะบายในชีวิตไปบ้าง แต่ก็ไม่ทำให้ถึงกับทุกข์ทรมาน เป็นปัญหาต่อคนรอบข้าง หรืออาจจะรับ job เพื่อหารายได้เพิ่มเติม นอกจากงานประจำควบคู่ไปด้วยก็ได้
สามเดือนผ่านไป เมื่อท่านได้ตัวเลขของเงินเก็บออมที่ได้มาแบบไม่ทรมานเกินไปแล้ว ขั้นต่อไป ให้ท่านเปลี่ยนสมการใหม่เป็น
เมื่อเปลี่ยนเป็นสมการนี้แล้ว ขอให้มีวินัย โดยทุกเดือนหลังจากนี้ ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ทุกครั้งที่ได้รับเงินเดือน หรือรายได้อื่น จะต้องหักเก็บเป็นเงินออมทันที เหลือเท่าไหร่ค่อยนำไปใช้จ่ายนะคะ
** เงินออมที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 10-20% ของรายได้ แต่ทั้งนี้ หากมีไม่ถึงไม่เป็นไรค่ะ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ในอนาคตเราค่อยทยอยเพิ่มก็ยังได้ค่ะ
** การทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอีกต่อไป เนื่องจากมี Application บน smart phone มากมาย ที่สามารถ download มาใช้ได้ฟรี ๆ เช่น
Money control (for Android) :
Ahorro – relax spend (for iphone) :
ผู้ช่วยที่จะทำให้คุณบันทึกรายรับรายจ่ายได้ง่าย ๆ ทุกวัน สามารถดู Report ได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี ด้วย design เรียบง่าย สะดวกต่อการวิเคราะห์ข้อมูล (ไม่ได้รับค่า sponsor ใด ๆ นะคะ ^^)