จากกลยุทธ์ของท่านซุนวู ได้กล่าวไว้ว่าหากต้องการความได้เปรียบในการสู้รบต้องรู้เขารู้เราก่อนลงสู่สนามรบ ในสนามการลงทุนก็เช่นกัน
บทความก่อนทุกท่านก็ได้รู้จัก”
บทความก่อน >> ถึงเวลา…ใช้เงินทำงาน : วางแผนการเงิน (3)
1. สำรวจตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน
ก่อนจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ต้องดูก่อนว่า ท่านมีความสามารถ และความเต็มใจในการรับความเสี่ยงได้ระดับไหน จากนั้นถึงค่อยเลือกลงทุนในสินทรัพย์การเงินที่สอดคล้องกับความสามารถและความเต็มใจดังกล่าว
ความสามารถในการรับความเสี่ยง : โดยปกติจะแบ่งตามช่วงอายุ
ความเต็มใจในการรับความเสี่ยง : พิจารณาจากอุปนิสัยส่วนตัว
แม้ว่าท่านจะมีแนวทางในการเลือกสินทรัพย์การลงทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยงแล้ว แต่ความเต็มใจในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน เช่น สมมุติว่าท่านอยู่ในช่วงวัยทำงานตอนต้น มีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มาก แต่โดยอุปนิสัยส่วนตัว ท่านเป็นคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงเลย คือรับไม่ได้หากจะขาดทุนมาก ๆ ในระยะเวลาหนึ่งๆ ดังนั้นท่านก็อาจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยลง เช่นเลือกลงทุนในหุ้นกู้ แทนที่จะเลือกลงทุนในหุ้นสามัญหรือจัดพอร์ทการลงทุนแบบผสมโดยจัดให้มีทั้งหุ้นสามัญและหุ้นกู้อยู่ในพอร์ท แต่เทน้ำหนักไปทางหุ้นกู้มากกว่าหุ้นสามัญ เป็นต้น
2. สำรวจเป้าหมาย หรือจุดประสงค์ของการลงทุน
นาย A กับนาย B เป็นเพื่อนรักกัน ทั้งคู่ต่างก็มีฐานะดี แต่มีแนวคิดในเรื่องของการลงทุนต่างกัน ดังนี้
นาย A ทราบว่ายิ่งลงทุนเป็นเวลานานโดยไม่ถอนเอากำไรหรือผลตอบแทนออกมาใช้เลย จะทำให้ผลตอบแทนยิ่งเพิ่มมากขึ้นแบบทวีคูณ (รู้จักหลักการลงทุนแบบดอกเบี้ยทบต้น) ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะลงทุนกับกองทุน RMF ซึ่งเป็นกองทุนที่ต้องลงทุนระยะยาว ซึ่งกองทุนประเภทนี้มีกฎเกณฑ์คือนักลงทุนจะไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ก่อนอายุ 55 ปี … แต่หลังจากนั้นสามปีถัดมา นาย A ต้องการแต่งงาน และมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อสร้างเรือนหอ แต่เนื่องจากเขานำเงินออมไปลงทุนกับกองทุน RMF ทั้งหมด แม้ว่าผลตอบแทน ณ เวลานั้นของกองทุนจะมากจนสามารถสร้างเรือนหอได้อย่างหรูหรา แต่ด้วยเงื่อนไขของกองทุน RMF ที่ห้ามถอนออกมาใช้จนกว่าจะอายุครบ 55 ปี จึงทำให้เขาต้องกลายเป็นเศรษฐีที่แม้จะรวยแต่ก็ไม่สามารถใช้เงินของตัวเองซื้อสิ่งที่ต้องการได้ ทางตำราจะเรียกคนประเภทนี้ว่า Poor Millionaire
ทางด้านนาย B มีความคิดอีกแบบหนึ่งคือ คิดว่าเงินที่หามาได้ช่างยากลำบาก ก็ควรจะเก็บเงินทั้งหมดไว้ในที่ที่ปลอดภัยที่สุด จึงเลือกที่จะนำเงินทั้งหมดไปฝากธนาคาร ด้วยคิดว่านอกจากจะปลอดภัยที่สุดแล้ว หากอยากจะใช้เงินเมื่อไหร่ ก็สามารถถอนออกมาใช้ได้ตลอดเวลา แต่ในโลกของความเป็นจริง นาย B ไม่ได้ถอนเงินออกมาใช้ทั้งหมด ในแต่ละครั้งเขาทยอยถอนเงินออกมาใช้ด้วยสัดส่วนที่น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับเงินทั้งหมดที่ฝากธนาคาร
ในกรณีนี้ทางตำราจะถือว่าเงินก้อนนี้เป็นเงินประเภท Lazy Money หรือเงินขี้เกียจ เหตุเพราะเป็นเงินที่ไม่ยอมทำงานออกดอกออกผลให้กับเราเลย เนื่องการฝากเงินกับธนาคารมักจะได้รับดอกเบี้ยที่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ ยิ่งไปกว่านั้น เงินก้อนนี้ นอกจากจะไม่ช่วยออกดอกออกผลให้เราแล้ว ค่าของมันยังลดน้อยลงเรื่อย ๆ จากผลของเงินเฟ้อที่มากขึ้นเรื่อยๆ
จากกรณีของนาย A และนาย B จะเห็นได้ว่า แม้ว่าทั้งคู่จะรวยมาก แต่ด้วยพฤติกรรมการเก็บเงินหรือการลงทุนที่ไม่ถูกที่ถูกทาง ทำให้เงินที่มีแม้จะมากแต่ก็ไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ดังนั้น ที่ถูกต้องแล้ว นาย A และ นาย B ควรกำหนดวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายของชีวิตก่อน โดยจำแนกออกมาให้ชัดเจนว่าเป้าหมายนั้น ๆ ควรเกิดในช่วงเวลาใด จัดได้ว่าเป็นระยะสั้น กลาง หรือยาว และคิดว่าต้องใช้เงินสำหรับเป้าหมายนั้นเป็นจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นจึงจัดสรรเงินที่มีอยู่เพื่อซื้อสินทรัพย์ทางการเงินให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน
ยกตัวอย่างเช่น
3. จัดลำดับการลงทุนอย่างเข้าใจ
อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่บทความแรก ๆ ทันทีที่มีเงินเหลือควรต้องจัดสรรเงินตามลำดับในภาพใหญ่ก่อน คือการ ปลดหนี้สั้น, ปั้นเงินเก็บ, เย็บรอยรั่ว ดังรายละเอียดในบทความก่อนๆ และเมื่อผ่านขั้นตอนดังกล่าวมาจนถึงตอนนี้ บางท่านอาจจะยังเหลือเงินอีกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่บางท่านก็อาจเหลืออยู่ไม่มากแล้ว ดังนั้น ในขั้นตอนของการลงทุน ก็ควรจัดลำดับของการลงทุนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้เงินสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดภายใด้งบประมาณที่จำกัด
ลำดับของการลงทุน
ลงทุนเพื่อเป้าหมายที่สำคัญ :
โดยทั่วไปแล้วเป้าหมายที่สำคัญในชีวิต จะมีทั้งระยะยาว กลาง และสั้น ซึ่งควรให้ความสำคัญ จากระยะยาว ไปสู่ระยะสั้นตามลำดับ เช่น ควรวางแผนเตรียมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณ (ระยะยาว) ก่อนการวางแผนเพื่อซื้อรถ(ระยะกลาง) หรือเพื่อการท่องเที่ยว(ระยะสั้น) ทั้งนี้เนื่องจากเงินเพื่อใช้หลังเกษียณเป็นเงินที่จะไม่มีไม่ได้ เพราะในช่วงหลังเกษียณ คนส่วนใหญ่จะไม่มีรายรับแล้ว หรืออาจจะมีแต่มีในสัดส่วนที่น้อย ในขณะที่รายจ่ายยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้เมื่ออายุมากแล้ว การกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายจะทำได้ยากขึ้น และการหารายได้เพิ่มเติมอื่น ๆ ก็ยิ่งลำบากเนื่องจากเรี่ยวแรงมีน้อย ไม่อาจแข่งขันกับคนวัยหนุ่มสาวได้ ดังนั้นหากขาดการเตรียมความพร้อมที่ดี ชีวิตหลังเกษียณจะกลายเป็นฝันร้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม หากท่านไม่มีเงินซื้อรถ หรือท่องเที่ยว ท่านก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ แม้จะต้องลำบากบ้าง แต่เทียบกันไม่ได้เลยกับความลำบากจากการไม่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในช่วงชีวิตที่ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไรแล้ว
เห็นได้ว่าเงินสำหรับการเกษียณมีความสำคัญมาก โดยตำราได้ขนานนามเงินประเภทนี้ไว้ว่า Serious Money ดังนั้นจึงต้องรีบวางแผนให้ดีตั้งแต่ตอนนี้ ในช่วงชีวิตที่ยังมีรายได้และร่างกายยังมีความพร้อมที่จะทำงานได้อยู่
ลงทุนเพื่อยกระดับผลตอบแทนโดยรวมให้สูงขึ้น :
การลงทุนในขั้นนี้ควรใช้เงินหลังจากเตรียมไว้สำหรับลงทุนเพื่อเป้าหมายสำคัญข้างต้นเรียบร้อยแล้ว โดยในขั้นนี้ จะเป็นการลงทุนเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดผลตอบแทนที่มากยิ่งขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้ เช่น หากรับความเสี่ยงได้น้อย ก็อาจจะลงทุนกับหุ้นกู้ที่มีผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ หรือ หากรับความเสี่ยงได้มาก ก็อาจจะลงทุนในหุ้น หรืออนุพันธ์ เป็นต้น