สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่วัยทำงานนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะจัดสรร การใช้เงิน ให้พอต่อค่าใช้จ่าย และการออม เนื่องจากเพิ่งจะเริ่มก้าวผ่านจากการเป็นวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่นั่นเอง
ดังที่ทราบกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่าในช่วงที่ยังศึกษาอยู่ เรามีรายได้จากผู้ปกครองในรูปของค่าขนม ซึ่งอาจไม่ต้องจัดสรรเงินในแต่ละเดือนเท่าไหร่ เมื่อเงินหมด คุณก็สามารถขอผู้ปกครองเพิ่มได้ โดยไม่ต้องเหนื่อย หรือลำบากในการหามาแต่อย่างใด แต่เมื่อเรียนจบเข้าสู่วัยทำงานแล้ว เงินได้จะอยู่ในรูปของเงินเดือน ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเงินที่ได้รับเดือนละครั้ง หากไม่จัดสรรเงินให้ดี รับรองได้เลยว่าใช้ได้ไม่ชนเดือนอย่างแน่นอน วันนี้เรามีเทคนิคใน การใช้เงิน เก็บออม และการสร้างเนื้อสร้างตัวในวัยทำงานมาฝากกัน ดังนี้
1. รู้จักการวางแผนการเงินในการใช้จ่าย
เมื่อได้เงินมาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเงินเดือน หรือค่าจ้าง ให้แบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ ส่วนที่เอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และส่วนที่เก็บออมไว้สำหรับอนาคต
2. จัดทำบัญชี
จัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายส่วนตัว รวมตัวเลขรายได้ทั้งหมด แล้วจดบันทึกรายจ่ายในแต่ละเดือน ว่าจ่ายเงินไปกับเรื่องใดบ้าง คาดคะเนรายจ่ายในอนาคต ทำสรุปงบประมาณ เพื่อติดตามการใช้จ่าย ว่าส่วนใดสามารถลดได้ หรือตัดทิ้งได้
3. รู้จักการออมเพื่ออนาคตหรือวันข้างหน้า
เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเป็นอย่างมาก โดยการเก็บออมควรแยกบัญชีเงินฝากเป็น 3 บัญชี ได้แก่ บัญชีเผื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน บัญชีเงินออม และบัญชีเพื่อการลงทุน รับรองได้เลยว่าเมื่อคุณได้เห็นเงินในบัญชีที่คุณออมเป็นประจำทุกๆเดือนนั้น จะทำให้คุณมีกำลังใจและเพลิดเพลินไปกับการออมเลยทีเดียว
4. มาจัดการกับหนี้กันก่อนเถอะ
อย่างที่ราบกันดีว่าการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งหนี้นั้น มีทั้ง “หนี้ดี” และ “หนี้ฟุ่มเฟือย” ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ แต่สำหรับหนี้ภาคบังคับอย่างหนี้ กยศ.นั้นถือว่าเป็นเหตุจำเป็น แต่อย่าได้ตกอยู่ในวังวนกันเลย เรามีเทคนิคในการลดหนี้ คือ พยายามจ่ายหนี้เป็นจำนวนมากที่สุด โดยไม่กระทบกับ รายจ่ายประจำที่จำเป็น เพื่อชำระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยแพงที่สุดก่อน เพื่อที่จะได้สามารถปิดบัญชีได้เร็วที่สุดนั่นเอง ช่วงแรกๆอาจจะเหนื่อยหน่อย อย่าเพิ่งท้อ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เรายังมีกำลังอยู่ เมื่อยอดหนี้ลดลงจนหมดไป คุณจะมีเงินใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา เรียกว่ามีอิสระในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนั่นเอง
5.ภาษี
ภาระใหญ่ของคนทำงานอย่างหนึ่งก็คือ การเสียภาษี การประหยัดภาษีง่ายๆ ได้แก่ หาค่าลดหย่อนซึ่งประกอบด้วย ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน เงินบริจาค ทำประกันชีวิต ฯลฯ ที่สำคัญอย่าลืมลงทุนในกองทุนรวมระยะยาว เพราะนอกจากจะลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังมีโอกาสที่เงินลงทุนจะงอกเงยขึ้นอีกด้วย
6. ก่อนจะเข้าวิวาห์
คนทุกคนเมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีความพร้อมแล้ว คงจะคิดสร้างครอบครัวกันอย่างแน่นอน แต่ฟังทางนี้ก่อน ก่อนที่คุณจะแต่งงาน ควรวางแผนอนาคตทางการเงินระยะยาวถึง 10 ปี และให้จัดแยกเงินออกเป็นหลาย ๆ บัญชี ตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินแต่ละประเภท เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้ตัวเองและครอบครัวให้สามารถอยู่ได้อย่างสบาย และเพื่อสร้างความพร้อมในการรองรับเจ้าตัวน้อยนั่นเอง
7. วางแผนเรื่องยานพาหนะ
หากคุณมีแผนที่จะซื้อรถยนต์นั้น เรามีวิธีการวางแผนการเงินมาฝาก โดยคำนวณค่าใช้จ่ายในการซื้อรถ ไม่ควรเกิน 15% ของรายได้ครัวเรือน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่วนแผนการเงินเพื่อซื้อบ้าน คือ เลือกโครงการที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด กู้เงินให้น้อยที่สุด และผ่อนชำระให้เร็วที่สุด เนื่องจากดอกเบี้ยอสังหาริมทรัพย์จะคิดจากยอดเงินต้น ยิ่งเงินต้นลดเหลือน้อยเท่าไหร่ ดอกเบี้ยยิ่งลดลงไปด้วย
8. เพื่ออนาคตบุตรหลาน
เมื่อมีลูก เราต้องปรับเปลี่ยนแผนการเงินเพื่อเจ้าตัวน้อย จากการสำรวจค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการคลอดบุตร และค่าเลี้ยงดูบุตรต่อเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวสามารถจัดการได้โดยเริ่มเก็บเงินตั้งแต่ตั้งครรภ์ และบริหารเงินอย่างรัดกุม ส่วนการคำนวณหาค่าใช้จ่ายในการศึกษา ให้คำนวณจากค่าเงินในปัจจุบันและอนาคต โดยให้คิดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปี (ประมาณ 5%) เข้าไปด้วย
9. เตรียมตัวก่อนเกษียณ
แผนต่อไปนี้คงจะมองข้ามไม่ได้อีกต่อไปแล้ว สำหรับแผนการเงินยามเกษียณ ทั้งหมดนี้เป็นวิธีบริหารเงินที่จะทำให้ทุกคนมีกินมีใช้ในอนาคต ให้คุณคำนวณเงินที่ควรมีในยามเกษียณ โดยเอา 1 หาร 10 คูณอายุปัจจุบัน และคูณรายได้ทั้งปี หากคุณมีเงินออมน้อยกว่าที่คำนวณได้ คุณควรต้องเก็บเงินในสัดส่วนที่มากขึ้น จึงจะพอใช้จ่ายในอนาคต
อย่าลืมว่าคุณควรแบ่งเงินไว้สำหรับใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน และกันไว้สำหรับสร้างหลักประกัน เมื่อแบ่งเงินทั้งสองส่วนดังกล่าวแล้ว เงินที่เหลือจึงจะนำมาลงทุนได้ ซึ่งประเภทของการลงทุน มีตั้งแต่หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม และเงินฝาก เหล่านี้ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนการลงทุน เพื่อให้เงินลงทุนงอกเงย และลดความเสียหายในกรณีที่การลงทุนไม่เป็นไปในทิศทางที่คาดการณ์นั่นเอง