เชื่อได้เลยว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเรา เรา สิ่งที่บริษัทมักจะเอามาเป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดให้คนเข้าไปทำงานในบริษัท คือ จะโฆษณาตัวเองว่าเรามีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้นะ บริษัทจ่ายเพิ่มให้ในสัดส่วนที่สูงกว่าที่อื่นนะ อะไร ทำนองนี้เป็นต้น แล้วเราล่ะเคยสนใจ หรือลองทำความเข้าใจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทที่เราอยู่กันหรือยัง ถ้ายัง …. ต่อไปนี้เราจะได้รู้จัก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กันว่า มันคืออะไร มีการบริหารงานโดยใคร แล้วเงินที่ถูกหักไปทุกเดือนมันจะยังอยู่ดีหรือเปล่า …
มารู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันก่อนดีกว่า ว่าคืออะไร
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่ตั้งขึ้นโดยความสมัครใจของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อเป็นหลักประกันให้กับลูกจ้างได้เมื่อลาออกจากงาน เงินของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็จะมาจากการหักเงินของลูกจ้างในแต่ละเดือน บวกกับเงินที่นายจ้างจ่ายเพิ่มให้อีกตาม % ที่กำหนดกันไว้อย่างชัดเจน
ซึ่งเงินที่นายจ้างจ่ายเพิ่มให้นั้นถือว่าเป็นสวัสดิการตัวหนึ่งที่ให้กับพนักงานในบริษัท เพราะบางบริษัทหากพนักงานทำงานอยู่กับบริษัทยิ่งนาน บริษัทยิ่งจ่ายเงินสมทบให้สูงขึ้น หรือบางบริษัทหากพนักงานอยู่มานานก็จ่ายเงินสมทบให้เพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้หักเงินจากลูกจ้างอีก
แล้วเงินของเราที่หัก หักไปนั้น ไปอยู่ที่ไหน และใครเป็นคนดูแลล่ะ คำตอบก็คือ บริษัทของเราจะจ้างให้บริษัทจัดการกองทุนทำหน้าที่บริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเรา โดยผ่านตัวแทนของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะเป็นตัวแทนของบริษัทในการกำหนดแนวทางการจัดการเงินของเราร่วมกับบริษัทจัดการกองทุน รวมทั้งจะเป็นตัวแทนที่คอยควบคุมให้บริษัทจัดการกองทุนบริหารเงินของเราให้ได้ตามผลตอบแทนที่ต้องการ และที่สำคัญกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้จะต้องถูกจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ซึ่งทำให้เราอุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าจะมีการควบคุมดูแลเงินของเราเป็นอย่างดี
เราสามารถเลือกนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเราได้หรือเปล่า หรือเราจะต้องลงทุนตามที่คณะกรรมการกองทุนเลือกเท่านั้น คำตอบก็คือ ปัจจุบันคณะกรรมการกองทุนจะเป็นคนเลือกนโยบายการลงทุนแบบกว้างไว้ โดยให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้ แต่สำหรับการกำหนดสัดส่วนการลงทุนนั้นจะให้เราเป็นคนเลือกเอง ว่าต้องการลงทุนในหุ้นกี่ % ลงทุนในหนี้กี่ % ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า Employee Choice ซึ่งเดิมมักจะเป็นแต่บริษัทใหญ่ ใหญ่ ที่มี แต่ปัจจุบันนี้บริษัทเล็กๆ ก็เริ่มให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตัวเองเป็นแบบ Employee Choice แล้วเหมือนกัน
ซึ่ง หลักการทำงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะประกอบด้วย จำนวนเงินออม ระยะเวลาในการออม และอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน โดย 3 สิ่งนี้แทบจะเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการลงทุนหรือการออมโดยทั่วไป เหมือนกัน เพราะจำนวนเงินที่มาก ระยะเวลานาน แถมยังไปลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูง สูง เราก็มั่นใจได้เลยว่าเงินของเราจะงอกเงยขึ้นมาอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย คือ ระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่เราสามารถยอมรับได้ เพราะฉะนั้นหากเราต้องการให้เรามีเงินออมในตอนที่เราลาออกจากงานที่มากพอ สิ่งที่ควรทำ คือ กำหนดให้บริษัทหักเงินของเราในแต่ละเดือนด้วยอัตราสูงสุดที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนด และเลือกลงทุนในนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง เช่น หากเราเป็นคนกล้าเสี่ยง หรือยอมรับความเสี่ยงสูง สูงได้ ก็อาจจะเลือกลงทุนในหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ เพราะการลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ แต่ถ้าหากเราเป็นคนที่ไม่ชอบเสี่ยง ชอบความมั่นคง และยอมรับได้กับผลตอบแทนที่ไม่หวือ หวามากนัก ก็เลือกนโยบายการลงทุนที่เป็นตราสารหนี้มากหน่อย เท่านั้นเอง
แล้วเราสามารถลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยที่ยังทำงานอยู่ได้หรือเปล่า คำตอบก็คือว่า ได้ เพราะตามกฎหมายที่กำหนดไว้ เรามีสิทธิที่จะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ได้ นายจ้างไม่สามารถบังคับเราได้ แต่ส่วนใหญ่เราก็เลือกที่จะเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกัน เพราะว่าอย่างน้อยก็ทำให้เรามีเงินก้อนไว้ใช้เวลาที่เราลาออกจากงาน แล้วทำไมเราถึงจะไม่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพล่ะ แถมบางบริษัทมีนโยบายให้ลูกจ้างสามารถใช้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตัวเองเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินออกมาใช้ได้อีกทาง ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน
และเมื่อเราลาออกจากกองทุนไม่ว่าจะด้วยเปลี่ยนบริษัท หรือออกมาทำงานส่วนตัว เราสามารถเก็บเงินกองทุนไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อีก 1-2 ปี ตามแต่นโยบายของบริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นเหตุผลทางภาษี เพราะเมื่อไรที่เราเอาเงินออกจากกองทุนก่อนอายุ 55 ปี เราจะต้องเสียภาษีในส่วนของเงินสมทบของนายจ้างและผลตอบแทนที่ได้รับจากกองทุน ดังนั้นเวลาเราลาออกจากบริษัทเดิมสิ่งที่นิยมทำกัน คือ เราโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเดิมไปที่บริษัทใหม่แทน ส่วนคนที่ออกมาทำส่วนตัว หากไม่ได้ต้องการเงินไปลงทุน ก็มักจะยังไม่เอาเงินออกจากกองทุน แต่จะเก็บเงินไว้ที่กองทุนก่อน แล้วปีถัดไปค่อยนำเงินออกมาจากกองทุน เพื่อให้มีการเสียภาษีน้อยที่สุดนั่นเอง
แต่ที่สำคัญ คือ เมื่อเราเป็นพนักงานของบริษัทแล้ว เราอย่าลืมที่จะศึกษาข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและคู่มือการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทที่เราอยู่ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองด้วยนะ