ถ้าเอ่ยถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ พี่บิ๊กเบิ้มแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องไม่มีใครพลาดที่จะตอบคำว่า “ห้าง Walmart” ออกมาเป็นคำตอบแรก ๆ แน่ ๆ ค่ะ นั่นก็เป็นเพราะว่า ประชากรเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกาล้วนแล้วแต่เป็นลูกค้าประจำของห้าง Walmart กันทั้งนั้นค่ะ ไม่ผูกขาดแต่ก็เหมือนผูกค้าเสรีกันอยู่ในตัวซะงั้นค่ะ
เพราะเราสามารถพบเห็นห้าง Walmart ง่ายมาก ๆ ก็คงคล้ายกับ 7-11 ในประเทศเรานี่แหละค่ะ ด้วยความที่มีฐานลูกค้ามากมาย Walmart ก็เลยมีลูกจ้างหรือที่เรียกว่าพนักงานประจำมากถึง 2.2 ล้านคนรวมทุก ๆ สาขาทั่วโลกนะคะ หรือเท่ากับ 7 เท่าของจำนวนประชากรในประเทศไอซ์แลนด์ทั้งประเทศเลยหล่ะค่ะ ส่วนถ้าจะดูกันที่จำนวนพนักงานเฉพาะในอเมริกานั้น ก็ราว ๆ 1.4 ล้านคน หรือก็พอ ๆ กับจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชลบุรีบ้านเราทั้งจังหวัดนั่นเองค่ะ แล้วเพราะอะไร หรือ ใครกัน ที่ทำให้ห้าง Walmart ประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านความน่าเชื่อถือและความมั่งคั่งทางการเงินจนถึงปัจจุบันนี้คะ
ส่วนสำคัญหลัก ๆ ของความสำเร็จในการเป็นผู้นำธุรกิจด้านการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคตัวจริงเสียงจริงคงต้องยกให้ผู้ที่ตัดสายสะดือให้กับห้าง Walmart อย่าง Sam Walton ผู้บุกเบิกกิจการให้กับลูกหลานตระกูล Walton จนทุกวันนี้ในรายชื่อมหาเศรษฐีระดับโลกต้องมีชื่อของคนในตระกูลนี้ติดอันดับ 4 ใน 10 ตลอด ๆ ค่ะ หลักคิดเบื้องต้นที่ Walton สอนสมาชิกทุก ๆ คนในตระกูลก็คือการปลูกฝังจิตสำนึกของลูกหลานให้เห็นถึงคุณค่าของเงินแต่ละดอลลาร์ค่ะ ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติของ Sam Walton เป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งวันนี้ตอนที่เขาขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งที่รวยที่สุดในโลกแล้ว เขาก็ยังเลือกที่จะใช้จ่ายเงินให้สมเหตุสมผล ใช้เงินต่อเงิน โดยการซื้อเครื่องบินมือสองแทนที่จะซื้อเครื่องบินลำใหม่ หรือ รุ่นใหม่ล่าสุดแทนค่ะ เพราะสิ่งที่เขามองคือเรื่องของการใช้ประโยชน์และความคุ้มค่ามากกว่าค่ะ
เรื่องราวของ Sam Walton นับว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการค้าปลีกของอเมริกา โดยอาศัยแนวคิดที่ของประสิทธิภาพและวินัยในการบริหารจัดการงานจนสามารถเอาชนะคู่แข่งของเขาได้เสมอ ๆ หลักการอันทรงประสิทธิภาพของ Walmart ก็คือ กลยุทธ์ด้านราคาที่เน้นและสามารถรับประกันได้ว่า ราคาสินค้าของ Walmart นั้นถูกที่สุด และ ถูกกว่าคู่แข่งของเขาแน่นอน ซึ่งตัวช่วยที่ทำให้ราคาขายของ Walmart ถูกกว่าเจ้าอื่น ๆ ได้ นั่นก็เพราะว่า Walmart เลือกที่จะติดต่อเจรจากับผู้ผลิตโดยตรง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือไม่จำเป็นต้องมีหยี่ปั้ว ซาปั้ว มาเกี่ยวข้องตลอด supply chain นั่นเองค่ะ และอีกหนึ่งกลยุทธ์ของ Walmart ก็คือ การซื้อสินค้ามาคราวละมาก ๆ ซื้อมากอง ๆ ไว้เป็นตั้ง ๆ และก็วางขายปลีกในราคาที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ และมันก็ช่างเวิร์ค โดนใจผู้บริโภคทุกยุค ทุกสมัย และทุกประเทศทั่วโลกซะด้วยสิคะ
เมื่อรุ่นถัดมาของตระกูล Walton ขึ้นมารับช่วงกิจการต่อ David Glass ก็เลยเลือกที่จะดำเนินธุรกิจตามรอย Sam Walton ภายใต้คอนเซ็ปต์เดิม ๆ และเติมในเรื่องของการนำเทคโนโลยีดี ๆ อย่างซอฟท์แวร์ที่ช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้าของกลุ่มลูกค้าตัวเองมากขึ้น เช่นว่า ลูกค้ามักจะเลือกซื้อสินค้าประเภทไหน ลักษณะอย่างไรมากกว่า จากนั้นก็นำข้อมูลการซื้อหรือรูปแบบการเลือกสินค้าของผู้บริโภคไปบอกกับผู้ผลิตของ Walmart อีกทีหนึ่ง ซึ่งเท่ากับเป็นการยิงนก 2 ต่อ เพราะไม่เพียงแต่ Walmart จะรู้จักลูกค้าของตนเองมากขึ้นแล้ว เขายังได้สร้างเครดิตและความประทับใจแก่บรรดาผู้ผลิตสินค้าอีกด้วยที่ทำให้ผู้ผลิตรู้ว่าตัวเองต้องปรับปรุงสินค้าของตนอย่างไร หรือ สินค้าของตนแบบไหนที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากที่สุดค่ะ
นอกจากการเดินหมากทางธุรกิจด้วยวิธีการสร้างพันธมิตรทางการค้าภายใน Supply chain ได้อย่างเหนียวแน่นในประเทศสหรัฐอเมริกาจนสามารถเปิดสาขาทั่วประเทศได้มากถึง 4,953 สาขา การเดินหมากของเขาเริ่มจากร้านแรกในปี 1960 แล้วก็ค่อย ๆ ขยายสาขาของร้านออกไปในละแวกใกล้เคียงปีละ 3 – 5 ร้านในช่วงปีแรก ๆ จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเป็นหลักสิบหลักร้อยร้านค้าในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีก็ครอบคลุมทั้งประเทศไปเรียบร้อยค่ะ ไม่เพียงแต่การพัฒนาจำนวนสาขาภายในประเทศเท่านั้น แต่ Walmart ยังมีกลยุทธ์เข้าซื้อกิจการท้องถิ่นในต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งเป็นการทำให้กิจการของเขาเติบโตได้อย่างรวดเร็วจนสามารถขยายสาขาในต่างประเทศได้มากกว่าสาขาในประเทศบ้านเกิดซะอีกค่ะ เพราะถ้าจะนับอีก 26 ประเทศรวมเข้าไปด้วยก็เท่ากับว่า Walmart มีกิจการทั่วโลกทั้งหมดมากถึง 11,095 สาขาค่ะ
ที่น่าสนใจอีกประการก็คือกลยุทธ์ที่ทาง Walmart เลือกใช้ก็คือการเข้าไปรับช่วง หรือ ซื้อกิจการต่อจากบริษัทท้องถิ่นในประเทศนั้น ๆ มากกว่าที่จะระดมเงินมาลงทุนก่อสร้าง, จ้างงาน และจัดหาทุกอย่างเองขึ้นมาใหม่ทั้งหมดค่ะ เพราะการลงทุนจากศูนย์แบบนั้นย่อมจะเป็นการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากกว่าค่ะ และการเข้าซื้อกิจการก็เลยทำให้ชื่อของซุปเปอร์มาร์เกตในสไตล์ Walmart นั้นอาจจะมีชื่อที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศค่ะ อย่างเช่น ในประเทศอังกฤษก็จะใช้ชื่อว่า Asda, ส่วนในประเทศญี่ปุ่นก็จะใช้ชื่อว่า Seiyu, ในประเทศอินเดียก็คือ Best Price และส่วนในประเทศแถบแอฟริกาก็จะคุ้นหน้าคุ้นตากันมากกว่าในชื่อ Massmart ค่ะ นี่แหละค่ะ แบบอย่างของการ ใช้เงินต่อเงิน ตัวจริงค่ะ
ที่มารูป : www.arkansasbusiness.com
สนใจสมัครบัตรเครดิต สิทธิประโยชน์ดีๆ โปรโดนๆ >> คลิกที่นี่ << เลย!