เมื่อคุณต้องรับมือกับลูกน้อยในวัยที่มีความก้าวร้าว ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในวัยใกล้พูด หรือ เข้าใกล้ 2 ขวบเพราะเขายังมีคำศัพท์ไม่เพียงพอกับสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อสาร ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดขึ้นกับผู้เขียนเช่นกัน
สาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าว เกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ
(ที่มาจาก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ คุณพรทิพย์ วชิรดิลก)
คือ ปัจจัยทางร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางร่างกาย ได้แก่ โครงสร้างทางสมองและระดับของสารสื่อประสาทในสมองที่ไม่สมดุล ส่งผลให้เด็กเป็นคนอารมณ์หงุดหงิดใจร้อน วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือภาวะการป่วยด้วยโรคสมาธิสั้นจะทำให้เด็กมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ ส่วนปัจจัยทางด้านจิตใจ ได้แก่ ลักษณะพื้นฐานด้านอารมณ์ที่มีความอดทนและรอคอยได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่บุคลิกภาพดังกล่าวพัฒนามาจากการถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ สำหรับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เด็กเติบโตในครอบครัวที่นิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา รวมทั้งการดูสื่อ ทีวี วิดีโอเกมส์ ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหารุนแรง
เป็นความจำเป็นที่พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักควบคุมความโกรธ
ความโกรธและความก้าวร้าวเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในทุกคน คนเราอาจจะรู้สึกโกรธเมื่อถูกขัดใจหรือเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ และเด็กจะแสดงความโกรธอย่างตรงไปตรงมา แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ประสบการณ์และวุฒิภาวะตามวัย จะช่วยให้บุคคลรู้จักควบคุมความโกรธและแสดงออกในเกณฑ์ที่สังคมยอมรับได้ ดังนั้น การเรียนรู้วิธีการควบคุมและจัดการกับอารมณ์โกรธให้มีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ คุณพ่อคุณแม่เป็นแม่พิมพ์และผู้ฝึกสอนที่ดีเยี่ยมสำหรับลูก
เมื่อลูกมีอาการ “เบรกแตก” เอะอะโวยวาย ทำลายข้าวของ ใช้กำลังทำร้ายคนอื่น สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำ คือ ควรระงับอารมณ์โกรธของตัวเอง ไม่โต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง และแก้ปัญหาอย่างใจเย็น เปิดโอกาสให้ลูกได้บอกว่าอะไรทำให้เขาโกรธ พ่อแม่ควรมีท่าทีรับฟังอย่างใส่ใจ ไม่ด่วนสรุป และบอกสอนลูกอย่างใจเย็น ซึ่งท่าทีนี้จะเป็นแบบอย่างในการควบคุมอารมณ์โกรธแก่ลูกได้เป็นอย่างดี
การสร้างบรรยากาศที่ดีในบ้าน เช่น การยิ้ม การพูดจาหยอกล้อกัน การชื่นชมซึ่งกันและกัน จะช่วยให้ลูกมีอารมณ์ดี ไม่ตึงเครียดและลดอารมณ์ก้าวร้าวของลูกได้ ในทางตรงข้าม การพูดจาเหน็บแนม เปรียบเทียบ เสียดสี รวมทั้งสีหน้าที่บึ้งตึง บ่มเพาะอารมณ์ด้านลบและทำให้สถานการณ์ในครอบครัวยิ่งตึงเครียดมากขึ้น
การโอบกอดและการให้ความรักความเข้าใจแก่ลูก ทำให้เขารับรู้ว่าคุณยังรักเขาอยู่เสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาจทำให้เรื่องต่างๆ คลี่คลายได้ง่าย โดยธรรมชาติแล้วเด็กมักจะต้องการความสนใจจากผู้ใหญ่และอยากให้ผู้ใหญ่เล่นด้วย เด็กที่กำลังจะทำลายของเล่นชิ้นโปรดของเขาเพราะถูกขัดใจ อาจจะหยุดการกระทำนั้น เมื่อเห็นว่าคุณให้ความสนใจในของเล่นของเขา หรือเด็กโตที่กำลังหงุดหงิด ไม่อยากทำการบ้าน และพร้อมที่จะอาละวาด จะสงบลงถ้าคุณให้ความสนใจที่จะช่วยเหลือเขาบ้างในการทำการบ้าน
คุณควรจะบอกให้ลูกรู้ว่าคุณยอมรับได้ ถ้าเขามีอารมณ์โกรธ หรือต้องการแสดงความรู้สึกโกรธในตัวเขาออกมา แต่ควรจะเป็นในรูปแบบที่สังคมยอมรับและไม่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น อาจจะจัดตั้งกฎเกณฑ์ที่ยอมรับได้ทั้งคุณและลูกให้เข้าใจและรับรู้อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร พยายามรักษากฎเกณฑ์นั้นทั้งสองฝ่าย และพยายามสื่อกับลูกเสมอถึงการกระทำและพฤติกรรมบางอย่างที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสม ที่เขาได้ทำลงไป คุณเองก็ต้องเคารพในกฎเกณฑ์นั้นเช่นกันเพื่อให้ลูกเข้าใจและปฏิบัติตาม ควรชมลูก ถ้าคุณเห็นว่าเขารู้จักที่จะควบคุมอารมณ์โกรธของตนเองได้ และไม่ใช้วิธีแสดงความก้าวร้าว แต่ใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช้ความรุนแรงแทนการแก้ปัญหา ควรหาโอกาสชี้ให้ลูกเห็นหรือรับรู้ในกรณีที่มีความขัดแย้งกับผู้อื่นที่เกิดขึ้นในบ้านหรือนอกบ้าน เด็กรับรู้ได้และมีการใช้วิธีการพูดจาแก้ไขปัญหากันอย่างสันติ เพื่อให้เขาเห็นตัวอย่างของการควบคุมอารมณ์และการใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา