การเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เต็มไปด้วยความท้าทาย และอุปสรรคนานับประการ ที่จะประดังกันเข้ามาสร้างความปวดหัวให้กับเราได้เรื่อยๆ และปัญหาหรืออุปสรรคในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง
หากคิดจะลงมาทำธุรกิจอย่างจริงจัง นักธุรกิจหลายรายที่ล้มเหลวในธุรกิจ SME ทั้ง ๆ ที่เริ่มต้นทำธุรกิจด้วยไอเดียบรรเจิด นำเสนอสินค้าหรือบริการที่น่าสนใจมาก แต่กลับไม่สามารถนำพาธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอดได้ เพียงเพราะขาดประสบการณ์ และความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการทางด้านการเงิน
จำให้ขึ้นใจไว้อย่างหนึ่งว่า คุณจะต้องได้ประสบพบเจอกับปัญหาเหล่านี้แน่ ๆ หากคิดอยากจะสานความฝันในการเป็นเจ้าของธุรกิจให้สำเร็จ เพราะฉะนั้น เรียนรู้ที่จะจัดการปัญหาให้ได้ การบริหารจัดการด้านการเงินเป็นรากฐานสำคัญของการประกอบธุรกิจ ถ้าหากรากฐานแข็งแรง มั่นคง งานอย่างอื่นก็สามารถดำเนินต่อไปได้ เราจะมาเรียนรู้ข้อบกพร่อง หรือจุดอ่อนสำคัญ ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นกับนักลงทุนรายย่อย 5 เรื่อง เอาไว้เป็นแนวทางนำไปปรับใช้กับธุรกิจของคุณเอง
- กระแสเงินสดไม่เพียงพอ
หลายคนเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการวางโครงการ เหมือนวาดวิมานในอากาศ และมักจะมีความคาดหวังในผลกำไรและความก้าวหน้าของธุรกิจไว้มากเกินจริง ในขณะที่ประเมินค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงมักจะเกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการกระแสเงินสด ระหว่างรายได้จากการขาย กับค่าใช้จ่าย ยอดขายของคุณอาจจะดี ในบัญชีมีตัวเลขเป็นบวก แต่ในทางปฏิบัติอาจขาดสภาพคล่อง หรือกระแสเงินสดไม่เพียงพอ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากมาย ที่เราจะต้องสำรองจ่ายไปก่อน ในขณะที่ต้องคอยเวลาจัดเก็บรายได้จากลูกค้าในภายหลัง ยิ่งถ้าลูกค้าผิดนัดชำระค่าสินค้าและบริการ ปัญหากระแสเงินสดหมุนเวียนก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตแน่ๆ
เมื่อประสบ ความสำเร็จในธุรกิจ ต้องการขยายกิจการ ก็จะประสบปัญหาไม่แพ้กัน ต้องเตรียมเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับต่อกิจการที่ขยายใหญ่ขึ้น แน่นอนว่ารายได้และผลกำไรจะต้องเพิ่มมากขึ้นครับ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น จะต้องมีการจัดเตรียมเรื่องเงินลงทุน และกระแสเงินสด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาติดขัด คล้ายกับช่วงเริ่มต้นธุรกิจเลยทีเดียว
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่อยากจะแนะนำให้ทำ ก็คือการประมาณการรายรับรายจ่าย การประมาณการนั้นไม่ใช่การทำบัญชี แต่เป็นการประเมินสถานะทางการเงินไว้ล่วงหน้า การคาดการไว้ล่วงหน้า จะช่วยให้คุณสามารถจัดเตรียมเงินทุนสำรองได้เพียงพอ ในกรณีที่รายรับจากยอดขายตกลง หรือมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อีกอย่างที่ควรทำคือ เก็บรวบรวมเอกสาร ใบแจ้งหนี้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นำมาประเมิน และวิเคราะห์การใช้จ่าย อย่างน้อย ทุก 3 เดือน เพื่อคาดการว่าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงในระยะเวลาอันใกล้
- มีปัญหาในการหาสินเชื่อเงิน ลงทุน
การขอสินเชื่อเพื่อการลงทุน หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ เป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการ SME มักจะมีปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งกลับกลายเป็นเรื่องตลกร้าย ที่เมื่อเวลาที่ธุรกิจของเรากำลังไปได้สวย ผลประกอบการดีเยี่ยม ไม่มีปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ กลายเป็นช่วงเวลาที่แหล่งเงินกู้และสถาบันการเงินต่าง ๆ พร้อมที่จะอนุมัติวงเงินกู้สำหรับลงทุน ซึ่งในช่วงเวลานั้น อาจไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้บริการสักเท่าไหร่ ต่างจากช่วงเวลาที่ธุรกิจเริ่มมีปัญหาขาดสภาพคล่อง ณ เวลานั้น การจะหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์กลับกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก หรือบางครั้งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้นทางที่ดี การทำธุรกิจขนาดเล็กที่เราไม่ได้มีเงินทุนสำรองมากมายเหลือเฟือ เราควรวางแผนและมองดูลู่ทางเกี่ยวกับแหล่งเงินกู้ เพื่อใช้เป็นทุนสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน เตรียมไว้ให้พร้อม ถึงตอนนี้ยังไม่ได้ใช้ก็ให้เตรียมใจไว้ว่า ซักวันหนึ่งอาจมีความจำเป็นจะต้องใช้ก็เป็นได้ ศึกษารายละเอียดของแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งแต่ละที่จะมีวัตถุประสงค์ และรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป เลือกเอาที่ๆเหมาะสมกับธุรกิจของเราครับ จัดการให้เรียบร้อยซะตั้งแต่ช่วงที่ธุรกิจของเรายังไปได้สวย ถึงเวลาที่ต้องการใช้ขึ้นมาธุรกิจจะได้ไม่สะดุด
- ไม่แยกบัญชีใช้จ่ายระหว่างบัญชีส่วนตัวและบัญชีธุรกิจ
การแยกบัญชีรายรับรายจ่ายของธุรกิจออกจากบัญชีค่าใช้จ่ายส่วนตัว เป็นเรื่องจำเป็นและสมควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่มักจะถูกละเลย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก และเจ้าของกิจการเป็นผู้ทำบัญชีเอง นานๆเข้ากลายเป็นเรื่องจุกจิก ไม่มีเวลามานั่งแยกบัญชี คิดเอาง่ายๆว่ายังไงเสียก็กระเป๋าเดียวกัน เลยกลายเป็นดูไม่ออกว่าใช้จ่ายส่วนไหน เท่าไหร่ ทางที่ดีควรแยกออกจากกันให้ชัดเจน ทั้งบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต หรือเช็ค ทำให้เกิดความเคยชิน แม้จะเป็นการใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยก็ตาม ความชัดเจนทางบัญชีจะยิ่งมีความจำเป็นมาก เมื่อธุรกิจของคุณอยู่ในรูปของการลงทุนร่วม หรือมีหุ้นส่วน บัญชีที่ไม่ชัดเจน เป็นชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งของหุ้นส่วนทางธุรกิจมานักต่อนักแล้ว
- ความบกพร่องในการจัดเก็บ บันทึกค่าใช้จ่าย
การบันทึกรายรับรายจ่ายแบบผิดที่ผิดเวลา หรือไม่ละเอียดพอ จะทำให้คุณสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ หรือทำให้เกิดความเสียหายได้ การลงบันทึกรายการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น หรือค่าจ้างคนงานที่เพิ่มขึ้น ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ควรจะจัดทำให้สอดคล้องกับบัญชีการรับรู้รายได้ เนื่องจากทุกต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ควรจะมีผลต่อการตัดสินใจ ในการกำหนดราคาของสินค้าและบริการของเราเสมอ
ในกรณีที่เราไม่ได้เป็นผู้จัดทำบัญชีเอง ควรหาเวลาตรวจสอบบัญชีด้วยตนเอง อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ตรวจเช็คให้แน่ใจว่ารายละเอียดรายรับรายจ่ายถูกต้อง และไม่มีสิ่งผิดปกติ เน้นย้ำว่าให้ตรวจสอบด้วยตนเอง การจัดทำบัญชีที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเกิดจากความจงใจหรือไม่ก็ตาม เป็นสาเหตุทำให้ธุรกิจรายเล็ก ๆ อย่าง SME ถึงกับล้มทั้งยืนได้เลยทีเดียว
5.การกำหนดราคาที่ไม่เหมาะสม
การกำหนดราคาสินค้าหรือบริการ บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควร คิดราคาแพงเกินไปก็ขายสู้คู่แข่งไม่ได้ คิดถูกเกินไปก็มีกำไรไม่มากพอหรือขาดทุน
ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น มักจะคิดราคาสินค้าและบริการที่ถูกกว่าราคาตลาด เพราะคิดว่าการคิดราคาถูก จะสามารถนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดการแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งนักธุรกิจหน้าใหม่ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือละเอียดพอในการทำบัญชี ลืมบันทึกค่าใช้จ่ายบางอย่าง ทำให้การคำนวณค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนผิดพลาด ส่งผลให้การคิดราคา หรือค่าบริการ ถูกกว่าที่ควรจะเป็น
ค่าแรงพนักงาน ค่าเช่าออฟฟิศหรือสถานที่ ค่าซ่อมบำรุงยานพาหนะ ค่าการตลาด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้บันทึกทุกรายจ่ายก่อนที่จะสรุปต้นทุนที่แท้จริงกำหนดราคาอ้างอิงจากต้นทุนของการดำเนินธุรกิจของคุณ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับราคาของคู่แข่ง วิเคราะห์โครงสร้างและกลไกของราคาจากแหล่งที่มา หาจุดที่เหมาะสมด้านราคาสำหรับสินค้าและบริการของคุณ ไม่จำเป็นอย่าตัดราคาเพื่อเอาชนะคู่แข่ง
จำเอาไว้ว่าการทำสงครามทางด้านราคากับคู่แข่ง ในธุรกิจ SME ด้วยกัน จะส่งผลทางด้านลบกับทั้งธุรกิจของคุณ และโครงสร้างโดยรวมของตลาดมากกว่าผลดี