ปัญหาใหญ่ของมนุษย์เงินเดือน คงหนีไม่พ้นเรื่อง ภาระหนี้สิน ที่จ่อคิวรอยามปลายเดือน และสูบเงินเดือนหายไปกว่าครึ่ง ทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้เงินของคุณเองในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินที่เกินตัว การเข้าสังคมแบบไม่ประมาณตัวเอง การจ่ายอย่างฟุ่มเฟือย และสาเหตุอื่นๆอีกมากมาย
การปลดหนี้ ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของลูกหนี้ทุกคน ไม่มีใครที่อยากเป็นหนี้ไปนานๆ ทุกคนล้วนต้องการเป็นอิสระให้เร็วที่สุด กลยุทธ์ชนะ ภาระหนี้สิน ดังต่อไปนี้ อาจช่วยเป็นแนวทางให้พวกคุณได้ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น เรามาดูกัน
1. วางแผนการณ์ปลดหนี้ในระยะสั้น
ก่อนอื่น คุณต้องรวบรวมยอดหนี้สินทั้งหมดที่คุณมี มารวมเป็นยอดเดียวกัน แล้วดูความเป็นไปได้ ว่ามียอดไหนที่ใกล้จะหมดแล้วบ้าง แล้วพยายามโปะยอดเงินชำระรายเดือนของบริษัทนั้นๆให้มากกว่าเจ้าอื่น ยกตัวอย่างเช่น
- บริษัท A ยอดหนี้คงเหลือ 60,500 บาท ชำระขั้นต่ำรายเดือน 2,500 บาท
- บริษัท B ยอดหนี้คงเหลือ 39,000 บาท ชำระขั้นต่ำรายเดือน 1,850 บาท
- บริษัท C ยอดหนี้คงเหลือ 20,100 บาท ชำระขั้นต่ำรายเดือน 1,400 บาท
ดังนั้น ยอดชำระต่อเดือนของสองบริษัทแรก คุณก็ชำระตามปกติ แล้วมาเพิ่มยอดชำระให้กับบริษัท C มากขึ้นกว่าเดิม ตามกำลังที่พอจะทำได้ โดยดูยอดเงินเดือนของคุณเป็นหลัก (หลังจากหักลบค่าใช้จ่ายจำเป็นแล้ว) ตามตัวอย่างดังนี้
- เงินเดือนของคุณที่ได้รับประจำต่อเดือน (ไม่รวมรายได้อื่นๆ)คือ 18,000 บาท
- ยอดค่าใช้จ่ายประจำต่อเดือน ค่าที่พัก 3,500 ,ค่าชำระบัตรเครดิตสองใบแรก 4,350 รวมเป็นยอดเงินที่ต้องชำระ 7,850 บาท เงินเดือนคงเหลือ 10,150 บาท
- กำหนดเร่งรัดระยะเวลาในการปิดยอดหนี้สินของบริษัท C จากที่เหลือเวลาชำระ 10 เดือน ให้ร่นระยะเวลาเข้ามา 50% เป็นขั้นต่ำ (หรือภายใน 5 เดือน) แล้วนำยอดหนี้คงเหลือ มาหารกับจำนวนเดือนที่ตั้งไว้ (20,100/5=4,020) นำผลลัพท์ที่ได้ มาคำนวณความเป็นไปได้โดยลบกับยอดเงินเดือนคงเหลือ ถ้าคุณคิดว่าหนักเกินไป ให้เพิ่มจำนวนเดือนอีก ( 10,150-4,020=6,130 ) ซึ่งถ้าหนี้หมดเร็วขึ้น ภาระของคุณก็จะเบาลงตามไปด้วยนั่นเอง
2. แบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายให้ลงตัว
ทันทีที่มีรายได้เข้ามา คุณควรแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็นส่วนๆ โดยแยกค่าใช้จ่ายออกเป็น 3ประเภทหลักๆคือ ค่าใช้จ่ายประจำ,ค่าใช้จ่ายผันแปร,ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายประจำ คือค่าใช้จ่ายที่มียอดชำระตายตัวต่อเดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน ,ค่าผ่อนบ้าน,ค่าผ่อนรถ,ค่าบัตรเครดิต เป็นต้น ซึ่งยอดเหล่านี้ต้องเป็นยอดชำระที่คุณทราบอยู่แล้วว่าไม่มีวันปรับเปลี่ยน ควรเลือกชำระยอดเหล่านี้ในทันทีที่เงินเดือนออก เพื่อที่คุณจะได้จัดงบประมาณการเงินขั้นต่อไปได้ง่ายขึ้น
- ค่าใช้จ่ายผันแปร คือค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ทุกวัน แต่อาจปรับเปลี่ยนขึ้น-ลง ตามสภาพเศรษฐกิจ เช่น ค่าอาหาร ,ค่าเดินทาง,ค่าสื่อสาร,ค่าสัญญาณอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ทั้งหมดนี้คุณต้องพยายามควบคุมด้วยการคำนวณเฉลี่ยต่อวัน โดยวัดจากการใช้จ่ายจริงเป็นหลัก อะไรที่พอปรับลดได้ ก็ลดไป เช่น คุณชอบตื่นสาย และนั่งแท็กซี่มาทำงาน ก็เปลี่ยนเป็นตื่นเช้าสักหน่อย แล้วนั่งรถตู้แทนก็ได้
- ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต้องจ่าย เช่น ค่าเสื้อผ้าราคาแพง,ค่ากระเป๋าแบรนด์เนม,รองเท้า ,โทรศัพท์มือถือราคาสูงจนดาวน์รถได้ เป็นต้น ทั้งหมดนี้คุณควรตัด หรือระงับไปเสียชั่วคราว (ถาวรเลยก็ได้) อย่าลืมว่าเงินส่วนนี้สามารถช่วยคุณปิดยอดหนี้เครดิตได้มากเลยทีเดียว
คุณจะเลือกใช้จ่ายอย่างสุขสบาย ใช้ชีวิตเลิศหรู โปรไฟล์ดีๆในวันนี้ แล้วกลายเป็นบุคคลที่ประสบสภาวะล้มเหลวทางการเงินในอนาคตอันใกล้ หรือเป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตสุขสบาย บนพื้นฐานของความพอเพียง เพื่ออิสระทางการเงินในอนาคต ก็อยู่ที่คุณจะเลือกแล้วนะคะ
3. อย่ามุ่งมั่นชำระหนี้สินคืนอย่างบ้าคลั่ง (คืน 50%, ใช้ 40%, เก็บ 10%)
การชำระหนี้สินคืนให้หมดเร็วๆ ก็ถือเป็นข้อดี แต่ถ้าหมดเร็วแล้วคุณต้องแลกมาด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่แล้วล่ะก็ เห็นจะไม่คุ้มสักเท่าไหร่ อย่าลืมว่าสุขภาพร่างกายของคุณก็สำคัญ คุณรีบเร่งชำระหนี้ เพราะอยากใช้ชีวิตบั้นปลายที่สงบสุข ดังนั้น คุณก็ควรรักษาสุขภาพด้วย
สัดส่วนการแบ่งชำระหนี้สินที่ดี ควรเป็นดังนี้ (แบ่งจากเงินเดือน) ชำระหนี้ 50% ,ใช้จ่าย 40%,แบ่งเก็บออม 10% ถ้าคุณทำได้ตามนี้ คุณก็จะประสบผลสำเร็จทั้งสองอย่าง นั่นก็คือ อิสระทางการเงิน และสุขภาพที่แข็งแรงในวัยชรา
4. ใช้บริการรับโอนหนี้ตามสถาบันทางการเงิน
ถ้าวิธีต่างๆในขั้นต้น ยังช่วยเหลือคุณได้ไม่เต็มที่ ขอแนะนำ วิธีโอนหนี้ให้สถาบันทางการเงินต่างๆ หรือ รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินจะพิจารณารายได้หลักของคุณแล้วเพิ่มวงเงินให้หลายเท่า หลังจากนั้น ก็ทำการชำระหนี้แทนคุณทั้งหมด ให้คุณมาผ่อนกับทางธนาคารแทนในยอดชำระเดียว
ตัวอย่าง
- ยอดรวมหนี้สินของคุณทั้งสามสถาบันการเงิน คือ 119,600 บาท
- ธนาคารพิจารณาจากฐานเงินเดือนคุณแล้วเห็นว่าสามารถชำระหนี้ได้แน่นอน จึงทำการอนุมัติวงเงินกู้ให้ตามยอดนั้น
- หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีของธนาคารจะรับคำสั่ง โอนเงินเข้าปิดบัญชีหนี้สินต่างๆในบัตรของคุณจนหมด เมื่อถึงตอนนี้ วงเงินในบัตรของคุณก็จะรูดใช้จ่ายได้ตามปกติ ถ้าคุณไม่ยับยั้งชั่งใจ คุณก็จะวนเวียนเข้าสู่วัฏจักรเดิมอีกครั้ง แต่รอบนี้จะทวีคูณเป็นสองเท่า
- คุณจะมียอดหนี้คงค้างกับธนาคารแทน โดยมีระยะเวลาการชำระเงินที่ยาวนานราวกับผ่อนรถยนต์ เช่น 40 ,60 เดือนเป็นต้น ถ้าคุณพอจะปิดยอดหนี้ได้ในช่วงโบนัสออก ก็ควรทำเป็นอย่างยิ่งค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับวิธีการปลดหนี้ที่แนะนำไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิธีง่ายๆที่ทำตามได้ไม่ยาก ถ้าคุณไม่ท้อถอยหรือถอดใจไปเสียก่อน ขอให้ทุกท่านโชคดี ปลดหนี้ได้สำเร็จ และกุมชัยชนะได้ในอนาคตอันใกล้นี้นะคะ