การ ทำสัญญากู้ยืม นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควรโดยเนื้อหาสัญญามักจะระบุเนื้อความเอนเอียงไปทางผลประโยชน์ของเจ้าหนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ และมีรายละเอียดที่ยาวมาก จนบางครั้งอักษรเบียดกันจนไม่น่าอ่านเลยก็มี ส่งผลให้ผู้กู้ที่ต้องการเงินอยู่แล้ว ตัดสินใจรีบเซ็นต์ให้จบๆไป จนมีปัญหาต่างๆตามมามากมายในภายหลัง
สัญญากู้ยืมส่วนใหญ่ จะมีบุคคลร่วมเซ็นต์มากกว่า 2 คนขึ้นไป โดยมีคำเรียกที่ต่างกันดังนี้
-
เจ้าหนี้ หรือ ผู้ให้กู้
หมายถึงเจ้าของสินทรัพย์หรืออื่นๆที่ยินยอมให้ลูกหนี้หยิบยืมไปก่อนนั่นเองค่ะ ในสัญญากู้ยืมนี้ เจ้าหนี้ถือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเลยทีเดียว เพราะเขาเป็นผู้กำหนดข้อสัญญาต่างๆให้ลูกหนี้รับทราบเงื่อนไขในการกู้ยืมครั้งนี้ แต่ไม่มีสิทธิ์บังคับหรือข่มขู่หากลูกหนี้ไม่พอใจในข้อสัญญาและไม่เซ็นต์ยินยอมในสัญญานั้นๆ
-
ลูกหนี้ หรือ ผู้กู้ยืม
หมายถึงผู้ทำสัญญายินยอมกับเจ้าหนี้ ว่าจะชำระเงินทดแทนการกู้ยืมนั้นๆตามเงื่อนไขที่เจ้าหนี้เป็นคนกำหนด และไม่มีสิทธิ์เรียกร้องใดๆหากเป็นฝ่ายทำผิดข้อสัญญาในอนาคต
-
ผู้ค้ำประกัน (ในกรณีไม่มีให้ใช้เป็นสินทรัพย์แทนได้)
หมายถึงผู้เซ็นต์รับทราบและยินยอมรับผิดชอบแทนลูกหนี้ มีสถานะเป็นลูกหนี้ลำดับที่ 2 ซึ่งผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นฝ่ายชำระยอดหนี้สินทั้งหมดในกรณีที่ลูกหนี้ขาดการติดต่อ หรือหายตัวไปจากราชอาณาจักร บางสัญญาต้องใช้ผู้ค้ำประกันมากกว่า 1ท่าน ดังนั้น หากใครมาขอให้คุณเซ็นต์ค้ำประกัน ต้องคิดไตร่ตรองดีๆก่อนจะทำการตกลงหรือปฏิเสธไปนะคะ
-
พยาน
หมายถึงผู้ร่วมเหตุการณ์ รับรู้เรื่องราวทั้งหมดระหว่างการ ทำสัญญากู้ยืม แต่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆกับข้อสัญญาเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะถูกเรียกตัวเวลาเกิดคดีความ ในสัญญากู้ยืมบางฉบับ มีพยานมากกว่า 1 ท่านขึ้นไปค่ะ
ข้อควรรู้ก่อนเซ็นต์สัญญากู้ยืมเงิน
1. อ่านและทำความเข้าใจโดยละเอียด
ก่อนเซ็นต์สัญญาทุกครั้ง คุณต้องอ่านทำความเข้าใจในข้อสัญญาโดยละเอียดถี่ถ้วน วิเคราะห์หาข้อเอาเปรียบทางกฏหมายที่เจ้าหนี้อาจแฝงไว้ในเนื้อความ และพยายามพิมพ์ด้วยภาษาทางกฎหมายที่คุณอาจจะทำความเข้าใจได้ยาก เช่น เจ้าหนี้บางคนคิดอัตราค่าธรรมเนียมเกินกว่าดอกเบี้ยที่ตกลงกันด้วยวาจา ทำให้คุณตกเป็นลูกหนี้ระยะยาว ยืม 100 คืน 1000 ก็เคยมีมาแล้ว หรือ เจ้าหนี้บางคน อาจนำข้อมูลของเราไปขายให้บริษัทต่างๆ หรือเอาเอกสารส่วนตัวของคุณไปใช้ในเรื่องอื่นๆที่ทำให้คุณเสียผลประโยชน์ เช่นขายให้บริษัทประกันชีวิต แล้วทำกรมธรรม์โดยพละการ หักวงเงินผ่านยอดเงินที่คุณชำระคืนเจ้าหนี้ แล้วเจ้าหนี้ค่อยมาเรียกเก็บจากคุณคืนอีกต่อหนึ่ง เป็นต้น
2. อย่าเซ็นต์กระดาษเปล่า หรือหนังสือสัญญาที่มีบรรทัดว่างเว้นไว้ตามจุดต่างๆ
เพราะเจ้าหนี้สามารถแอบเติมข้อความอะไรลงไปก็ได้ในเวลาที่คุณไม่อยู่ มีหลายคนที่เสียเงินและสินทรัพย์โดยใช่เหตุจากการเซ็นต์สัญญาทำนองนี้ เพราะเมื่อตกเป็นคดีความ หากคุณไม่มีพยานรู้เห็นพร้อมหลักฐานว่าเจ้าหนี้เป็นฝ่ายแอบเติมข้อความเหล่านั้นลงไปโดยที่คุณไม่มีส่วนรู้เห็น คุณก็ต้องตกเป็นจำเลยทางกฎหมาย ไม่มีสิทธิ์หลีกเลี่ยงได้
ซึ่งถ้ามี คุณต้องให้พยานฝั่งคุณเอง เป็นฝ่ายถ่ายวีดีโอบันทึกการทำสัญญาในครั้งนี้เอาไว้ด้วย วีดีโอสามารถใช้เป็นหลักฐานในคดีได้ แต่การบันทึกเสียงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ค่ะ
3. ระยะเวลาในการชำระคืน
ตรวจให้ครบ อ่านให้ละเอียด ไม่เว้นแม้กระทั่งปี พ.ศ.ที่ระบุไว้ในทุกๆจุด ย้ำว่าทุกๆจุดเลยนะคะ เพราะเท่าที่สังเกตจากฎีกา มีหลายๆเคส ที่ตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน นั่นก็คือ เรื่องของระยะเวลาในการผ่อนชำระคืนของลูกหนี้นั่นเองค่ะ เพราะวันเดือนปีในจุดนี้ ส่วนใหญ่จะระบุไว้เป็นตัวอักษรเล็กๆที่ลูกหนี้มักมองผ่าน
ยกตัวอย่างเช่น คุณทำสัญญากู้ยืมเงินกับเจ้าหนี้เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ตกลงด้วยวาจาว่าจะผ่อนชำระคืนภายในระยะเวลา 10 เดือน เดือนละ 1,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามแต่จะตกลงกัน
แต่ในข้อสัญญาจริง ปี พ.ศ.ที่ระบุไว้ในสัญญากลับยาวนานเลย 10 เดือน บางเคสใส่เลข พ.ศ.ล่วงหน้าไว้ประมาณ 1-2 ปี ทำให้เจ้าหนี้เป็นฝ่ายได้กำไรไป 2-3 เท่าตัว
ซึ่งเมื่อลูกหนี้ชำระเงินคืนตามกำหนดเวลา ก็เกิดความสบายใจ เพราะคิดว่าหมดภาระแล้ว จึงขาดส่งยอดชำระหนี้ตามสัญญาล่วงหน้านั้นไป ส่งผลให้เจ้าหนี้ ได้กำไรจากค่าปรับ,ค่าติดตามทวงถามไปอีกจำนวนหนึ่ง จนลูกหนี้บางท่านต้องเสียสินทรัพย์ต่างๆเพื่อเป็นการทดแทนกันให้จบตามข้อสัญญา
เพราะฉะนั้นต้องอ่านให้ครบ และละเอียดจนกว่าคุณจะเข้าใจ แล้วค่อยยินยอมเซ็นต์รับทราบ ก่อนทำการกู้ยืมทุกครั้งนะคะ
4. ลายนิ้วมือ หลักฐานสำคัญที่ช่วยคุณได้
ลายนิ้วมือ ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่สามารถทำเทียม หรือลอกเลียนแบบกันได้ การพิมพ์ลายนิ้วมือลงบนข้อสัญญา ควรพิมพ์ร่วมกันทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสารในอนาคต
อย่าลืมเซ็นต์ชื่อกำกับข้างๆลายนิ้วมือไว้ด้วยว่า “ พิมพ์ลายนิ้วมือด้วยหมึกสี…” เพื่อป้องกันการถ่ายเอกสาร ลอกเลียนด้วยวิธีการต่างๆอีกคำรบหนึ่ง
เพราะปัจจุบันการปลอมแปลงลายเซ็นต์นั้นทำได้ง่ายจนพิสูจน์กันยากมาก แม้กระทั่งน้ำหนักมือก็ยังเลียนแบบกันได้ ที่สำคัญ วิวัฒนาการในการปลอมแปลงเอกสารนั้นล้ำหน้าไปมากจนตามแทบไม่ทัน
นอกเหนือจากเรื่องการ ทำสัญญากู้ยืม แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมที่ลูกหนี้ควรรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมค่าใช้จ่าย การวางแผนทางการเงิน และอื่นๆอีกมากมายที่ควรศึกษาไว้ เพื่อเปลี่ยนตัวคุณเองให้กลายเป็นคนใหม่ที่มีวินัยทางการเงิน และพัฒนาไปสู่ความเป็นอิสระทางการเงินในอนาคต เพราะชีวิตคนเราไม่มีความแน่นอน การเตรียมตัวไว้ก่อน จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดเสมอ