เพราะในยุคดิจิตอลแบบนี้ เชื่อว่าจะต้องมีอะไรที่ดึงดูดทั้งสายตาและเงินในกระเป๋าให้มีอันจะต้องควักให้หมดๆไป แล้วทำให้สาวๆ ต้องหันมานั่งกุมขมับกันภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ ซึ่งหากคุณไม่รู้จักบริหารการเงินให้อยู่ในสภาพที่พอจะเหลือเก็บได้แล้ว เชื่อแน่ว่าใกล้ๆ จะสิ้นเดือนนอกจากจะชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว อาจจะต้องกลายเป็นลูกหนี้ไปแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็มีให้เห็นมากมาย ซึ่งนั่นเพราะความไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจในการใช้เงิน ไม่รู้จัก บริหารเงิน ให้ดี ทำให้ต้องกลายเป็นลูกหนี้ที่จะต้องใช้กันอย่างไม่จบไม่สิ้น
ดังนั้นวันนี้เราจึงนำ 5 เคล็ดลับในการ บริหารเงิน อย่างไรให้ลงตัวมากที่สุด มาแนะนำกันค่ะ แต่จะมีวิธีใดบ้างนั้น ไปดูกันเลย
1. บริหารการเงินด้วยการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน
ก่อนที่จะใช้จ่ายอะไรนั้น คุณจะต้องรู้จักบริหารการเงินของคุณให้ชัดเจนเสียก่อน จะต้องมานั่งคำนวณว่า ในแต่ละเดือนจะต้องซื้ออะไรบ้าง จะต้องแบ่งจ่ายอะไรบ้าง เพราะหากคุณไม่รู้จักวางแผนให้ดี เวลาที่คุณไปเจออะไรที่ถูกใจ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็น แต่คุณกลับซื้อมาแบบไม่ต้องคิดอะไรมากมาย ขอให้ได้ซื้อเพราะมันสวย เพราะมันน่าใช้ แต่สุดท้ายต้องมานั่งน้ำตาตกใน ด้วยความเสียดายและมักจะได้ยินเสียงบ่นตามมาว่า ไม่น่าซื้อมาเลย.. เพราะฉะนั้นหลังเงินเดือนออก ลองเช็คสิ ว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรที่จำเป็นต้องจ่ายบ้าง เพื่อจะได้บริหารจัดสรรเงินได้อย่างถูกต้องมากขึ้นนั่นเอง และที่สำคัญก่อนจะออกไปซื้อของ อย่าลืมลิสรายการไปด้วยว่ามีอะไรที่ต้องซื้อบ้าง จากนั้นให้หยิบเงินไปเท่าที่ต้องจ่าย อาจจะมีเกินไปนิดหน่อยได้แต่ไม่ควรมากเกินไป เพื่อเป็นการบังคับตัวเองไม่ให้ใช้จ่ายซื้อของฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นนั่นเอง
2. บริหารการเงินด้วยการตัดใจจากของที่ไม่จำเป็น
การที่คุณต้องการจะมีเงินเก็บ หรืออยากจะมีเงินไว้สำหรับซื้อของที่จำเป็น หากคุณรู้จักแนวคิดในการบริหารการเงิน คุณก็จะสามารถแบ่งได้ว่า อะไรที่คุณควรจะซื้อ อะไรที่ไม่ควรซื้อ เพราะของบางอย่างที่ซื้อมาอาจจะไม่ใช่ของที่จำเป็นในขณะนั้น แต่หากคุณตัดใจแล้วคิดว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อมาเก็บไว้ ก็ให้ตัดใจเพียงแค่มองๆแล้วก็ผ่านเลยไป หรือไม่ก็ให้คิดบวกน้ำหนักชั่งกันในใจไปว่า หากซื้อของชิ้นนี้แล้วอาจจะไม่ได้ของชิ้นอื่น ซึ่งคุณก็ต้องเลือกซื้อของที่สำคัญกว่าเป็นดีที่สุด นอกจากนี้อาจจะหักห้ามใจตัวเองด้วยการบอกกับตัวเองว่ากลับไปคิดดูใหม่ที่บ้านก่อนดีกว่า แล้วค่อยกลับมาซื้อ ซึ่งเมื่อไปถึงบ้าน คุณก็คงจะไม่อยากได้ของสิ่งนั้นแล้วล่ะ หรือไม่ก็อาจจะคิดขึ้นมาได้ ว่าของสิ่งนั้นไม่ได้จำเป็นอะไรเลย แถมยังฟุ่มเฟือยอีกด้วย
3. บริหารการเงินให้ถูกจุด
การที่คุณมานั่งคำนวณเงินเดือนแต่ละเดือน มันก็เป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะว่าจะทำให้คุณรู้ว่าเดือนนี้ต้องจ่ายอะไร แล้วให้เลือกซื้อของที่จำเป็น แยกเงินเป็นส่วนๆ เพื่อให้มีการจ่ายเงินแบบเป็นระบบ ฝึกทุกอย่างให้เป็นนิสัย เพราะว่าหากจะต้องจ่ายที่มันเหมือนๆ กันทุกเดือน อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ก็ให้หักออกแบบประมาณจำนวนเงินไว้เลย ส่วนรายจ่ายย่อยอื่นๆ ก็อยู่ที่คุณแล้วล่ะว่าจะเลือกซื้อของที่จำเป็นอย่างไร แบบนี้จะสะดวกกว่าเยอะเลยล่ะค่ะ แถมยังทำให้คุณไม่พลาดรายจ่ายที่จำเป็นอีกด้วย
4. บริหารการเงินจากการปรับปรุงนิสัยการซื้อของ
การที่คุณเคยเป็นคนที่ชอบซื้อของฟุ่มเฟือย ซื้อของไร้สาระโดยของที่ซื้อส่วนใหญ่ บางอย่างแทบจะผุพังก่อนจะนำมาใช้เสียอีก บางอย่างก็ซื้อมานานแบบเก็บจนลืม ซึ่งเหล่านี้ต่างก็ถือว่าเป็นการใช้เงินแบบสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ นั่นเพราะว่าคุณไม่รู้จักค่าของการใช้เงิน ไม่รู้จักบริหารการเงิน เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ให้คุ้มจากการที่จะต้องสูญเสียรายจ่ายไป แต่กลับกลายเป็นว่า คุณซื้อของมาให้แมงมุมชักใยเล่นซะอย่างนั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ของในบ้านที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ก็จะกลายเป็นขยะที่รกบ้าน แถมยังหมดเงินไปอย่างไม่รู้ตัวอีกด้วย เพราะฉะนั้นต้องมาปรับปรุงนิสัยการซื้อของของคุณกันหน่อยแล้วล่ะ ถ้าทำได้คุณจะมีเงินเหลือใช้ในแต่ละเดือนอย่างเพียงพอและไม่เกิดปัญหาการเงินขึ้นมาอย่างแน่นอน
5. บริหารการเงินด้วยการแบ่งเป็นเงินเก็บ
ไม่ว่าคุณจะมีเงินมากหรือเงินน้อย หากได้เงินมาแล้วไม่รู้จักบริหารการเงิน ไม่รู้จักใช้เงินให้เป็น และไม่เห็นคุณค่าของเงิน เชื่อแน่ว่ามันก็ต้องหมดไป ไม่ว่าใครบางคนจะบอกว่าไม่เสียดายก็ตาม แต่ถ้าหากคุณรู้จักบริหารการเงินด้วยการแบ่งรายจ่ายของคุณส่วนหนึ่งมาเป็นเงินออม แม้จะไม่มากมายอะไร แต่เชื่อแน่ว่า หากคุณค่อยๆเก็บไปเรื่อยๆ แล้ว นอกจากจะได้เงินเก็บสะสมแล้ว ยังเป็นการช่วยทำให้คุณได้ฝึกนิสัยการออมที่ดีอีกด้วย เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เงินเดือนออก อย่าลืมแบ่งส่วนออกมาเป็นเงินเก็บด้วยนะ
การจะ บริหารเงิน ในแต่ละเดือนให้ลงตัวนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่รู้จักจัดสรรค่าใช้จ่ายออกเป็นส่วนๆ และจัดลำดับความสำคัญให้ดี รวมถึงพยายามตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยออกไป ก็จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนลงตัวมากขึ้นแล้วล่ะ แถมยังอาจจะมีเงินเหลือเก็บมากขึ้นอีกด้วยนะ