‘เงิน’ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องอยู่กับการดำเนินชีวิตของคนเราในทุกๆด้าน เพราะเงินเป็นปัจจัยที่มีค่าสามารถใช้แลกเปลี่ยนสิ่งที่สามารถอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับคนเราได้ และเงินก็ยังเป็นปัญหาสำหรับคนเราทั้งการหาได้ไม่พอใช้ หรือแม้แต่การหาเงินมาได้มากๆในบางครั้งก็สร้างปัญหาใน การวางแผนการเงิน ให้กับทุกคนได้เช่นกัน
คำที่กล่าวไว้ว่า ‘คนที่หาเงินเก่ง ไม่สำคัญเท่ากับคนที่เก็บเงินเก่ง’ เพราะคนที่หาเงินเก่งหาเงินมาได้มากๆหากใช้เกินตัวหรือไม่รู้จักการเก็บออม ก็ทำให้เงินที่หามาได้นั้นหมดไปโดยไม่รู้ตัวได้ ตรงกันข้ามคนที่หาเงินได้ไม่มากแต่หาได้อย่างสม่ำเสมอ หากมีการเก็บออมและรู้จักวิธีการบริหารการเงินที่ถูกต้อง ย่อมทำให้ประสบความสำเร็จมีความมั่นคงทางการเงินได้เช่นเดียวกัน
การแยกประเภทบัญชี เพื่อวางแผนการเงิน
การวางแผนการเงิน โดยจัดแยกบัญชีการเงินแต่ละประเภทไว้เป็นหมวดหมู่ เป็นการสร้างวินัยทำให้การใช้จ่ายเงิน หรือการเก็บออมเงินเป็นไปอย่างมีระบบและมีระเบียบแบบแผนมากขึ้น แถมยังลดการเกิดปัญหาทางการเงินได้อีกด้วย ซึ่งเราสามารถแยกประเภทบัญชีเพื่อ วางแผนการเงิน ได้ดังนี้
1. แยกบัญชีสำหรับเก็บออม
การแยกบัญชีสำหรับก็บออมเป็นการหักเงินจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ จากเงินเดือนประจำหรือจากรายได้ประจำ ก่อนหักค่าใช้จ่ายอื่นๆแยกเป็นบัญชีสำหรับการเก็บออม เพื่อความมั่นและป้องกันปัญหาความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเงินส่วนนี้หากไม่จำเป็นจริงๆ ห้ามนำออกมาใช้เป็นอันขาด เพราะเป็นบัญชีที่สำคัญที่สุดสำหรับเราเลยล่ะ
2. แยกบัญชีเพื่อการศึกษาของลูก
สำหรับคนที่มีลูกควรแยกบัญชีส่วนนี้ไว้โดยแบ่งจากรายได้ตามความเหมาะสม เช่น หักฝากประจำทุกเดือนในปริมาณที่เท่าๆกัน สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายค่าการศึกษาของลูกในระดับมัธยมศึกษาหรือระดับมหาวิทยาลัย หากภาระทางการเงินไม่มีปัญหา จำนวนเงินที่แยกบัญชีไว้ยังสามารถเก็บไว้เป็นทุนอื่นๆสำหรับลูกเช่น บวช แต่งงาน หรือเป็นเงินลงทุนประกอบธุรกิจได้อีกด้วย อย่าลืมนะคะว่าต่อไปข้างหน้าค่าครองชีพยังคงจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และถ้าลูกเรียนสูงขึ้นด้วยแล้วก็จะมีค่าใช้จ่ายที่มากพอสมควรเลยทีเดียว หากไม่แยกบัญชีไว้ตั้งแต่วันนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้นะคะ
3. แยกบัญชีสำหรับเป็นรางวัลของชีวิต
คนเราเมื่อรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน จากการประกอบอาชีพ การให้รางวัลกับชีวิตเป็นการให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเองและครอบครัวได้ เช่น ซื้อรถยนต์ ซื้อบ้าน เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ ท่องเที่ยวหรือพักผ่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเงินส่วนนี้ให้แยกมาจากเงินที่หักค่าใช้จ่ายและหักเงินออมไว้แล้ว หรือกล่าวคือเป็นเงินเหลือใช้ที่ไม่ทำให้เดือดร้อนนั่นเอง ซึ่งเราสามารถแยกออกมาเพื่อให้รางวัลกับตัวเองได้คะ
4. แยกบัญชีค่าใช้จ่ายประจำ
ทุกครอบครัวย่อมมีค่าใช้จ่ายประจำที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันรถ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าขนมไปโรงเรียนของลูก ค่ารถโรงเรียน การแยกบัญชีสิ่งที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำออกมา ทำให้การวางแผนบริการการเงินทำได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อแยกเงินส่วนนี้ออกไปแล้ว เราก็จะรู้ว่าในเดือนนั้นๆ เรายังพอมีเงินเหลือใช้สำหรับค่าอะไรได้อีกบ้างและมีเงินเหลือพอให้เก็บออมสักเท่าไหร่นั่นเอง
5. แยกบัญชีสำรองฉุกเฉิน
การแยกบัญชีสำรองฉุกเฉินเป็นการแยกจำนวนเงินไว้ส่วนหนึ่งซึ่งอาจเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าส่วนอื่นๆ ยกเว้นค่าใช้จ่ายประจำ เนื่องจากส่วนนี้เป็นการแยกเก็บไว้ใช้เป็นเงินฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น ค่าซ่อมรถ ซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้าน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ในส่วนที่ไม่สามารถเบิกได้ ซึ่ลเงินส่วนนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ควรนำออกมาใช้เด็ดขาดหากไม่จำเป็นเหมือนกันค่ะ
6. บัญชีสำหรับใช้จ่ายส่วนตัว
ส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญที่สุดของครอบครัว ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เงินติดลบและสะสมไปเรื่อยๆจนทำให้มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น การวางแผนใช้เงินส่วนตัวอย่างมีวินัย จะช่วยให้การแยกประเภทบัญชีส่วนอื่นๆประสบความสำเร็จในการบริหารเงินอย่างเป็นระบบอีกด้วย นอกจากนี้การแยกบัญชีส่วนตัวออกมายังทำให้ไม่เกิดปัญหาใช้เงินเกินตัวอีกด้วยนะคะ
เคล็ดลับการบริหารเงิน โดยการแยกประเภทบัญชีออกเป็นส่วนๆเป็นการจัดระเบียบหรือวางแผนการเงินอย่างมีระบบ นอกจากเหมาะสำหรับคนที่มีรายได้หลายทางหรือมีรายได้มากๆแล้ว คนที่มีรายได้ไม่มากหรือมีรายได้ไม่สม่ำเสมอก็สามารถนำมาปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน การแยกประเภทบัญชีและจำนวนเงินแต่ละประเภท ควรพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งหากมีรายได้น้อยก็อาจจะเลือกเฉพาะบัญชีจำเป็นหลักๆ ส่วนที่ไม่จำเป็นเท่าไหร่ก็ตัดออกไป เช่นบัญชีสำหรับเป็นรางวัล เป็นต้น แค่นี้เราก็จะบริหารเงินได้ดีขึ้นแล้วล่ะ
การแยกประเภทบัญชี เพื่อ วางแผนการเงิน ไม่ใช่กฎหรือหลักปฏิบัติตายตัว แต่เป็นเพียงแนวทางหรือเทคนิคในการวางแผนการเงิน เพื่อให้ทุกคนได้เลือกนำไปปฏิบัติหรือนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตอาจไม่ครบทั้ง 6 ข้อ เพียงเลือกข้อที่เหมาะสมแล้วลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังอย่างมีระเบียบวินัย เรื่องของเงินก็ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอีกต่อไป