การทำประกันชีวิตนอกจากเพื่ออนาคตของตัวเองและครอบครัวแล้ว การทำประกันชีวิตยังมีความสำคัญในแง่ของการออมเงินอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันการทำประกันชีวิตยังสามารถนำไปใช้สำหรับลดหย่อนภาษีประจำปีได้อีกด้วย
เนื่องจาก ผู้ทำประกันสามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตในแต่ละปีนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้ตามที่จ่ายจริง ซึ่งสูงสุดไม่เกิน 100,000บาท ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบประกันของสถาบันที่เป็นผู้ขายกรมธรรม์ ซึ่งแบบประกันชีวิตที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้นั้น ต้องมีเงื่อนไขดังนี้
1. ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และที่สำคัญ คือ การประกันชีวิตนั้น ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น
2. ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตแบบสะสม (ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ หรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการชำระเบี้ยประกันชีวิต หรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์)
3. เบี้ยประกันชีวิตที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ ต้องเป็นเบี้ยประกันชีวิตของกรมธรรม์ประกันชีวิตหลักเท่านั้น
4. เบี้ยประกันชีวิตสำหรับสัญญาเพิ่มเติม เช่น ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ เป็นต้น ไม่สามารถนำไปใช้หักลดหย่อนภาษีได้ไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น
นอกจากเงื่อนไขข้างต้นที่ได้กล่าวไว้นั้น ประกันชีวิตแบบบำนาญ ยังเป็นประกันชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม โดยที่ผู้ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ นอกจากจะสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีในวงเงินเดียวที่เหมือนกับประกันชีวิตแบบทั่วไป เป็นจำนวน 100,000 บาทต่อปีแล้ว ยังมีสิทธิหักลดหย่อนได้เพิ่มเติมอีก 200,000 บาท ทั้งนี้วงเงินที่ได้รับลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นอีก 200,000 บาทนั้น จะต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ และเมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
จะเห็นว่า การทำประกันชีวิตนอกจากจะได้รับการคุ้มครองในยามเจ็บป่วยแล้วนั้น ยังช่วยส่งเสริมการออมให้กับผู้ทำประกันได้อีกด้วย และประโยชน์ที่ได้รับนอกจากคุ้มครองแล้วนั้น ผู้ทำประกันสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีประจำปีได้อีกด้วย