เคยงง งง กันบ้างหรือเปล่าที่เวลาที่เราต้องจ่ายเงินค่าประกันภัยรถยนต์แล้วมันจะมีค่าประกันภัยอีกอย่างหนึ่งที่จะเรียกกันย่อๆ ว่า ค่า พ.ร.บ. บุคคลที่ 3 ซึ่งจำนวนมักจะไม่เกินหนึ่งพันบาท และก็เออ เออ จ่ายไป จ่ายไป แต่เราเคยรู้ หรือเคยอ่านกรมธรรม์ส่วนที่เป็น พ.ร.บ. กันบ้างหรือเปล่าว่ามันคุ้มครองอะไรบ้าง แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรจากการทำ ประกันภัย พ.ร.บ. กันบ้าง…. เรามาดูกันเลย
ประกันภัย พ.ร.บ. ที่เรียกกันแบบย่อๆ นั้น แท้จริงแล้วมันคือ การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับที่กำหนดให้ทั้งเจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์จะต้องทำประกันภัยประเภทนี้ ซึ่งถ้าเจ้าของรถคนไหนไม่ยอมทำเวลาไปต่อทะเบียนรถยนต์ประจำปีก็จะไม่สามารถต่อทะเบียนได้ ยกเว้นแต่ว่าบางคนที่เป็นรถป้ายแดงแล้วไม่ยอมไปเปลี่ยนเป็นป้ายขาวสักที ต้นกำหนดของประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับนี้ จริง จริงแล้วมีการคิดริเริ่มกันตั้งแต่ปี 2506 แต่กว่าจะผ่านขั้นตอนทางกฎหมายออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้กับเจ้าของรถได้ก็เป็นปี พ.ศ. 2535 ได้ ใช้เวลาเกือบ 30 ปี หรือเท่ากับการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนจนโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานได้ แค่เห็นระยะเวลาในการออกกฎหมายแล้วรู้สึกปาดเหงื่อเลย ดังนั้นเมื่อมีแล้วก็น่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายให้คุ้มค่ากันดีกว่า
สาเหตุหลักหรือวัตถุประสงค์หลักที่บังคับให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกคันต้องทำประกันภัยภาคบังคับ หรือชื่อเต็มๆ ว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือขอเรียกย่อๆ ว่า ประกันภัย พ.ร.บ. นั้นมีออกมานั้น เพราะว่ามีผู้ประสบภัยจากรถยนต์จำนวนมากที่ไม่ใช่ผู้ขับขี่ ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เงินชดเชยต่างๆ ที่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และภาระต่างๆจึงตกอยู่กับผู้ประสบภัยและครอบครัว ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้มีกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น โดยรถยนต์ที่จะต้องทำประกันภัย พ.ร.บ.นี้ได้แก่ รถยนต์นั่งธรรมดา รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถบรรทุก รถตัก รถบดถนน หรือรถอีแต๋นก็ต้องทำด้วยเช่นกัน ส่วนรถที่ได้รับการยกเว้น ก็คือ รถยนต์ของส่วนพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และผู้แทนพระองค์ รถที่จดทะเบียนของสำนักพระราชวัง ตลอดจนรถของส่วนราชการต่างๆ
แล้ว ประกันภัย พ.ร.บ. นี้คุ้มครองใคร และแบบไหนบ้าง…
คำตอบก็คือ เป็นประกันภัยที่คุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถ ซึ่งจะเป็นผู้โดยสารบนรถ คนเดินข้ามถนน คนยืนรอรถบนทางเท้า หรืออื่นๆ อีกมากมาย ให้สามารถได้รับการรักษาพยาบาลได้อย่างทันท่วงที เพราะจะเป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาลว่าสามารถเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลได้จากบริษัทประกันภัย ตลอดจนเป็นค่าปลงศพกรณีที่เสียชีวิตได้ โดยกรณีที่รักษาพยาบาลจะได้รับไม่เกินคนละ 50,000 บาท และกรณีที่เสียชีวิตจะได้เงินช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท และถ้าหากเราต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแบบคนไข้ในด้วยแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังบังคับให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าชดใช้วันละ 200 บาทให้กับผู้ที่บาดเจ็บอีกด้วย แต่ให้ได้ไม่เกิน 20 วัน
แล้วถ้ารถที่เกิดอุบัติเหตุไม่ได้ทำ ประกันภัย พ.ร.บ. ไว้จะเป็นอะไรมั้ย …
คำตอบคือ เป็นแน่นอน เพราะตามชื่อของกฎหมายก็คือ ประกันภัยภาคบังคับ ดังนั้นรถทุกคันต้องทำ แต่ถ้าใครไม่ทำแล้วดันมีอุบัติเหตุเข้า เจ้าของรถก็จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ไม่เกิน 30,000 บาท และกรณีที่เสียชีวิตจะต้องให้ค่าปลงศพไม่เกิน 35,000 บาท หรือถ้าหากเจ้าของรถไม่ยอมจ่ายเงินในตอนแรก ก็จะถูกเรียกเก็บค่าความเสียหายพร้อมกับค่าปรับในอัตราร้อยละ 20 อีกต่างหากจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย
เมื่อเกิดเหตุแล้วเราจะต้องทำเรื่องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยกับบริษัทประกันภัยภายใน 180 วันนะ เพราะถ้าเกินจากนี้กฎหมายไม่คุ้มครองแล้ว และเราก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลยจากบริษัทประกันภัย เพราะฉะนั้นเรารู้เรื่องแบบนี้แล้วอย่าปล่อยให้สิทธิของเราสูญหายไปเด็ดขาด แต่ที่ดีที่สุดก็คือ ต้องไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วก็อย่าลืมรักษาสิทธิของเราจากบริษัทประกันภัยด้วยนะ