ในที่สุดก็มี พรบ.ทวงหนี้ ออกมาคุ้มครองลูกหนี้แล้ว กรณีการทวงหนี้โหดที่หลายๆคนเห็นตามข่าว ซึ่งใจความสำคัญในเนื้อหาของ พรบ.ทวงหนี้ ที่ลูกหนี้ทั้งหลายควรทราบและเป็นหัวใจหลักของการออก พรบ.ทวงหนี้ คือ
ในมาตรา 11 ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจาดูหมิ่น แจ้ง หรือเปิดเผยตัวลูกหนี้ ใช้ข้อความสื่อความหมายในการทวงถามไม่เหมาะสม มาตรา 12 ห้ามทวงถามหนี้ที่เป็นเท็จ อ้างว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ ทนายความ สำนักงานกฎหมาย อ้างว่าถ้าไม่จ่ายจะถูกดำเนินคดี หรือถูก อายัดเงินเดือน มาตรา 13 ห้ามทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินกำหนด มาตรา 14 ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ไปทวงถามหนี้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง มาตรา 23 ให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อนจากพฤติกรรมดังกล่าวไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการติดตามการทวงถามหนี้ หากถูกละเมิดสิทธิ์ และหากผู้ทวงหนี้ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ต้องระวางโทษจำคุก 3-5 ปี หรือปรับ 300,000-500,000 บาท นอกจากนี้ยังมีบทห้ามทวงหนี้นอกเวลาทำการเป็นต้น
และยังรวมถึง ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ บนซองจดหมาย ในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดในการติดต่อสอบถามกับบุคคลอื่น (มาตรา 8 อนุมาตรา 3 ) หรือในการติดต่อกับลูกหนี้ (ม.11 อนุมาตรา 5 ) หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 39 ทั้งนี้เนื่องจากแต่เดิมบริษัทรับทวงหนี้หลายแห่งมักจะใช้สัญลักษณ์หรือถ้อยคำต่างๆในซองจดหมาย หัวหนังสือ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเนื้อหาของหนังสือเป็นหนังสือทวงหนี้ เช่นใช้คำว่า “อนุมัติฟ้อง” “ชำระหนี้ด่วน” หรือใช้ชื่อทำนอง “บริษัทเร่งรัดติดตามหนี้สิน” บนหัวหนังสือหรือซองจดหมาย ซึ่งเมื่อผู้อื่นเห็นหนังสือหรือเอกสารก็ทราบได้ทันทีว่าหนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือทวงหนี้ ซึ่งเป็นการการประจานและข่มขู่ลูกหนี้ไปในตัว
นอกจากนี้ยังมีที่เกี่ยวเนื่องกับข้อกฎหมายคือ กฎหมายเก่าที่แก้ไขใหม่ คือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 686 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด เจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันไม่ได้ หมายความว่าถ้าทนายความหรือเจ้าหนี้ทำหนังสือทวงหนี้ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ต้องตรวจสอบให้ดีว่าฝ่ายผู้ค้ำประกันได้รับหนังสือทวงหนี้หรือยัง ถ้ายังไม่ได้รับแล้วเกิดไปทวงก่อนกำหนดก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะมีผลกระทบตามมา ต่อไปนี้ไฟแนนซ์จะทวงหนี้นอกเวลา กระโดดเกาะรถ ดึงกุญแจ ทำไม่ได้ บางทีผู้ใหญ่บ้านตามต่างจังหวัดปรารถนาดีออกเสียงตามสายว่า ให้นาย ก ลูกหนี้ ซึ่งเป็นหนี้ธนาคารหรือไฟแนนซ์อยู่ให้รีบไปเคลียร์เสีย อย่างนี้ก็ไม่ได้ ส่วนทหาร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รับจ๊อบติดตามทวงหนี้ ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไปเพราะเป็นการขัดต่อกฎหมายฉบับนี้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกถึง 5 ปี ปรับถึง 5 แสนบาท”
จากใจความสำคัญของทั้งสองข้อที่เรายกมาจาก พรบ.ทวงหนี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้หลายๆคนได้อ่านและทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ถือว่า พรบ.ทวงหนี้นั้นมีผลให้ลูกหนี้ไม่ต้องเจอกับเหตุการณ์เลวร้าย หรือ เรื่องอับอายจากการโดนทวงหนี้ ซึ่งไม่ว่าจะหนี้ในระบบ หรือ นอกระบบ วิธีการนั้นนิยมใช้วาจารุนแรง ประจาน หรือ ทวงไม่เป็นเวลาทำให้หลายๆคนเดือดร้อนกันมาแล้ว หรือ แม้แต่จะไปทวงถามกับคนใกล้ชิด
ซึ่งนับจากวันนี้ 2 กันยายน 2558 ที่มีการเริ่มใช้จะมีผลให้ลูกหนี้ได้รับการคุ้มครองทันที นอกจากนี้ข้อบังคับต่างๆใน พรบ.ทวงหนี้ เป็นเรื่องที่ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ควรรู้ ซึ่งสามารถค้นหาอย่างละเอียดได้ตามเวปไซค์ต่างๆ โดยแนะนำเลยว่าควรอ่านและทำความเข้าใจให้ดี มีหลายคนคิดว่าต่อไปนี้ไม่ต้องจ่ายหนี้แล้ว ซึ่งมันไม่ใช่เพราะ พรบ.ทวงหนี้ นั้นไม่ได้ออกมาให้หนีหนี้ แต่ออกมาคุ้มครองในกรณีที่ ไม่เป็นธรรม เช่น โดนทำร้ายจากคนทวงหนี้ หรือ โดนการทวงหนี้จากสถาบันการเงิน สำนักงานกฎหมาย ไฟแนนซ์ แบบผิดวิธี ไม่เป็นธรรม และ ทำให้อับอาย ซึ่งลูกหนี้รายคนโดนกันมาแล้ว
ดังนั้น การศึกษาข้อมูลต่างๆของ พรบ.ทวงหนี้ สำคัญมากเพราะลูกหนี้จะได้รู้ถึงสิทธิที่พึงมี และ สามารถปกป้องชื่อเสียงของตนเองได้ แต่ก็ต้องชำระหนี้ตามกฎหมาย ในกรณีที่มีการทำสัญญากู้ยืม หรือ เป็นหนี้ในระบบ ส่วนหนี้นอกระบบนั้น แน่นอนว่า หลายคนคิดว่าต่อไปนี้ทวงไม่ได้ ไม่จ่าย ตบตีพังของ แจ้งตำรวจ เจ้าหนี้ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ซึ่งในทางกฎหมายนั้นอาจจะไม่เอื้อให้กับเจ้าหนี้กลุ่มนี้ที่เก็บดอกเบี้ยโหด และ แพงเกินจริง แต่ ในทางสังคมการเป็นหนี้ใครเราก็ต้องใช้ และ ลูกหนี้อาจโดนทีเด็ดของเจ้าหนี้ในการปลอมแปลงเอกสารสัญญาเงินกู้ขึ้นมาใหม่ด้วย
ดังนั้น เมื่อมี พรบ.ทวงหนี้ ออกมาคุ้มครองลูกหนี้เราก็ต้องใช้ให้เป็น แต่ไม่ใช่ไปเบี้ยวหนี้ ที่ต้องย้ำเพราะมีคนคิดแบบนี้จริงๆ อย่าทำให้ข้อกฎหมายกลายเป็นดาบสองคม เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะไม่มีการออกกฎหมายใดๆมาคุ้มครองลูกหนี้อีกเลย